Main navigation

เสนาสนะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเสนาสนะ ๕ ชนิด คือ วิหาร ๑ เรือนมุงแถบเดียว ๑ เรือนชั้น ๑ เรือนโล้น ๑ ถ้ำ ๑ (๗/๒๐๐/๕๕)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตที่จงกรม และเรือนไฟ (ซาวน่า) (๗/๗๙/๒๑)

เราอนุญาตให้อบกลิ่น (๗/๘๕/๒๒)

เราอนุญาตให้ก่อมูลดิน ๓ อย่าง คือ ก่อด้วยอิฐ ๑ ก่อด้วยหิน ๑ ก่อด้วยไม้ ๑ (๗/๙๔/๒๔)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการก่อสร้าง และซ่อมสิ่งที่หักพัง ให้ภิกษุผู้อำนวยการก่อสร้างต้องขวนขวายว่า ทำไฉนหนอ วิหารจึงจะสำเร็จได้เร็ว (๗/๒๕๙/๗๒)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเตียงถักหรือสาน (๗/๒๐๘/๕๗)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตตั่งมีแม่แคร่สอดเข้าในเท้า (๗/๒๐๙/๕๘)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนอนที่นอนอันเกลื่อนด้วยดอกไม้ รูปใดนอน ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๑๐๔/๒๕)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันอาหารบนเตียง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๑๐๗/๒๖)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตม้าสี่เหลี่ยมมีพนักสามด้านชนิดสูง (เก้าอี้) (๗/๒๑๓/๕๘)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าสามัญผืนน้อย ๆ ให้ทำเป็นผ้ารองพื้น (๗/๒๑๗/๖๐)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตนุ่น ๓ ชนิด คือ นุ่นต้นไม้ ๑ นุ่นเถาวัลย์ ๑ นุ่นหญ้า ๑ (๗/๒๑๗/๖๐)

ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้หมอนยาวกึ่งกาย รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ เราอนุญาตให้ทำหมอนพอดีกับศีรษะ (๗/๒๑๘/๖๐)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตฟูก ๕ ชนิด คือ ฟูกขนสัตว์ ฟูกผ้า ฟูกเปลือกไม้ ฟูกหญ้า ฟูกใบไม้ (๗/๒๑๙/๖๐)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสีขาว สีดำ ทำบริกรรมด้วยสีเหลืองในวิหาร (๗/๒๒๒/๖๑)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้เขียนภาพสตรีบุรุษ (ในวิหาร) รูปใดให้เขียน ต้องอาบัติทุกกฏ เราอนุญาตภาพดอกไม้ ภาพเครือเถา ฟันมังกร (ต้นไม้) (๗/๒๒๖/๖๑)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกั้นห้อง ๓ ชนิด คือ ห้องสี่เหลี่ยมจัตุรัส ๑ ห้องยาว ๑ ห้องคล้ายตึกโล้น ๑ (๗/๒๒๘/๖๒)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าม่าน (๗/๒๒๘/๖๒)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตหอฉันให้ถมพื้นที่ให้สูง (๗/๒๓๕/๖๓)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตโรงน้ำฉัน ปะรำน้ำฉัน (๗/๒๓๖/๖๓)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้โรยกรวดแร่ เราอนุญาตให้ปูศิลาเรียบ เราอนุญาตท่อระบายน้ำ (๗/๒๓๘/๖๔)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำโรงไฟไว้ในที่ควรส่วนข้างหนึ่ง (๗/๒๓๙/๖๔)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตหลุมถ่ายอุจจาระ ก่อด้วยอิฐ ก่อด้วยศิลา ก่อด้วยไม้ และเชือกห้อยสำหรับเหนี่ยว (๗/๑๙๐-๑๙๒/๔๗-๔๘)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นผู้ให้ถือเสนาสนะ คือ

๑. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ  
๒. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความเกลียดชัง  
๓. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความงมงาย  
๔. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความกลัว และ
๕. รู้เสนาสนะที่ให้ถือแล้วและยังไม่ให้ถือ (๗/๒๗๗/๘๐-๘๑)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้ภิกษุผู้อยู่นอกสีมาถือเสนาสนะ รูปใดให้ถือ ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๒๘๐/๘๑)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุถือเสนาสนะแล้ว ไม่พึงหวงกันไว้ตลอดทุกเวลา รูปใดหวงกันไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หวงกันไว้ได้ตลอดพรรษา ๓ เดือน (๗/๒๘๑/๘๒)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปเดียวไม่พึงหวงกันเสนาสนะไว้สองแห่ง รูปใดหวงกัน ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๒๘๓/๘๓)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุถือเอานวกรรม (ทำการสร้าง) แล้วไม่พึงให้ภิกษุรูปอื่นอยู่ รูปใดให้อยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๒๙๘/๙๐)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุถือเอานวกรรมแล้ว ไม่พึงเกียดกันตลอดกาลทั้งปวง รูปใดเกียดกัน ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๓๐๑/๙๑)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ถือเอานวกรรมแล้ว หลีกไปในเมื่อทำเสร็จแล้ว นวกรรมนั้นตกเป็นของภิกษุนั้นเอง (๗/๓๐๕/๙๒)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ถือเอานวกรรมแล้ว ถึงมรณภาพ ลาสิกขา บวชใหม่เป็นสามเณร ต้องปาราชิก ปฏิญาณเป็นผู้วิกลจริต มีจิตฟุ้งซ่าน กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ถูกยกวัตรฐานไม่เห็นอาบัติ (ความผิด) ถูกยกวัตรฐานไม่กระทำคืนอาบัติ (แก้ไขข้อผิดพลาด) ถูกยกวัตรฐานไม่สละคืน (มิจฉา) ทิฐิอันลามก กลายเป็นบัณเฑาะก์ ลักเพศ เข้ารีดเดียรถีย์ เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ประทุษร้ายภิกษุณี ทำลายสงฆ์ให้แตก ทำพระผู้มีพระภาคให้โลหิตุปบาท เป็นอุภโตพยัญชนก (คนสองเพศ) สงฆ์พึงมอบ (สมบัติ) ให้แก่ภิกษุรูปอื่นด้วยสั่งว่า อย่าให้ของสงฆ์เสียหาย (๗/๓๐๓/๙๑-๙๒)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เครื่องใช้ในวิหารแห่งหนึ่ง ภิกษุไม่พึงเอาไปใช้ในวิหารอีกแห่งหนึ่ง รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ เราอนุญาตให้นำไปใช้ฐานเป็นของขอยืม เราอนุญาตให้นำไปเพื่อเก็บรักษาไว้ได้  (๗/๓๐๙-๓๑๑/๙๓)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์แก่ผาติกรรมได้ (๗/๓๑๒/๙๓)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำหนังหมี ผ้าท่อน เป็นผ้าเช็ดเท้า (๗/๓๑๔-๓๑๖/๙๓)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเหยียบเสนาสนะด้วยเท้าที่ยังมิได้ล้าง หรือขณะสวมรองเท้า รูปใดเหยียบ ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๓๑๘-๓๑๙/๙๔)

ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุไม่พึงถ่มเขฬะบนพื้นที่ขัดถูแล้ว รูปใดถ่ม ต้องอาบัติทุกกฏ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกระโถน (๗/๓๒๐/๙๔)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ผ้าพันเท้าเตียง ตั่ง เก้าอี้ (๗/๓๒๑/๙๔)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ปูลาดก่อนแล้วนอน (๗/๓๒๓/๙๔)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้ภิกษุผู้นั่งในลำดับลุกขึ้นทั้งที่ยังฉันอาหารค้างอยู่ รูปใดให้ลุกขึ้นต้องอาบัติทุกกฏ ถ้าให้ลุกขึ้นย่อมเป็นอันห้ามภัตรด้วย เว้นแต่กล่าวว่าท่านจงไปหาน้ำมา ถ้าได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ พึงกลืนเมล็ดข้าวให้เรียบร้อยแล้ว จึงให้อาสนะแก่ภิกษุผู้แก่กว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง เรากล่าวมิได้หมายความว่า ภิกษุพึงหวงกันอาสนะแก่ภิกษุผู้แก่กว่าโดยปริยายไร ๆ รูปใดหวงกัน ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๒๗๒/๗๙)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไล่ภิกษุอาพาธให้ลุกขึ้น รูปใดไล่ให้ลุกขึ้น ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๒๗๓/๗๙)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ที่นอนเหมาะสมแก่ภิกษุอาพาธ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีอาพาธเล็กน้อย ไม่พึงหวงกันเสนาสนะไว้ รูปใดหวงกัน ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๒๗๔-๒๗๕/๗๙)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงโกรธ ขัดเคือง ฉุดคร่าภิกษุทั้งหลายออกจากวิหารของสงฆ์ รูปใดฉุดคร่า พึงปรับตามธรรม เราอนุญาตให้ภิกษุถือเสนาสนะ (๗/๒๗๖/๘๐)

 

การดูแลที่อยู่อาศัย

เสนาสนวัตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอยู่ในวิหารใด ถ้าวิหารนั้นรก ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงชำระ

เมื่อจะชำระวิหาร พึงขนบาตร จีวร ออกไปวางไว้ที่ควรแห่งหนึ่งก่อน

พึงขนผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ออกวางไว้ที่ควรแห่งหนึ่ง

พึงขนฟูก หมอน ออกไปวางไว้ที่ควรแห่งหนึ่ง

เตียงพึงยกต่ำ ๆ ขนออกไปให้ดี อย่าให้ครูดสีกระทบกระแทกบานและกรอบประตู แล้วตั้งไว้ที่ควรแห่งหนึ่ง

ตั่งพึงยกต่ำ ๆ ขนออกไปให้ดี อย่าให้ครูดสีกระทบกระแทกบานและกรอบประตู แล้วตั้งไว้ที่ควรแห่งหนึ่ง

เขียงรองเท้าเตียงพึงขนออกไปวางไว้ที่ควรแห่งหนึ่ง

กระโถนพึงขนออกไปวางไว้ที่ควรแห่งหนึ่ง

พนักอิงพึงขนออกไปวางไว้ที่ควรแห่งหนึ่ง

เครื่องลาดพื้น พึงกำหนดที่ปูไว้เดิม แล้วขนออกไปวางไว้ที่ควรแห่งหนึ่ง

ถ้าในวิหารมีหยากไย่ พึงกวาดแต่เพดานลงมาก่อน พึงเช็ดกรอบหน้าต่าง ประตูและมุมห้อง

ถ้าฝาทาน้ำมันขึ้นรา พึงเอาผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ด

ถ้าพื้นทาสีดำขึ้นรา พึงเอาผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ด

ถ้าพื้นไม่ได้ทำ พึงเอาน้ำพรมแล้วกวาด ด้วยคิดว่าอย่าให้ฝุ่นกลบวิหาร

พึงกวาดหยากเยื่อไปทิ้งเสีย ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง

ไม่พึงเคาะเสนาสนะในที่ใกล้ภิกษุ

ไม่พึงเคาะเสนาสนะในที่ใกล้วิหาร

ไม่พึงเคาะเสนาสนะในที่ใกล้น้ำฉัน

ไม่พึงเคาะเสนาสนะในที่ใกล้น้ำใช้

ไม่พึงเคาะเสนาสนะบนที่สูงเหนือลม

พึงเคาะเสนาสนะในที่ใต้ลม

เครื่องลาดพื้นพึงผึ่งแดดในที่ควรแห่งหนึ่ง ชำระ เคาะ ปัด แล้วขนกลับไปปูไว้ตามเดิม

เขียงรองเท้า เตียง พึงผึ่งแดดไว้ในที่ควรแห่งหนึ่ง เช็ดแล้วขนกลับตั้งไว้ตามเดิม

เตียง ตั่ง พึงผึ่งแดดไว้ที่ควรแห่งหนึ่ง ขัดสี เคาะ ยกต่ำ ๆ ทำให้ดี อย่าให้ครูดสีกระทบบานและกรอบประตู ขนกลับตั้งไว้ตามเดิม

ฟูกและหมอนพึงตากไว้ที่ควรแห่งหนึ่ง เคาะ ปัดให้สะอาดแล้วขนกลับตั้งไว้ตามเดิม

ผ้าปูนั่งและผ้าปูนอน พึงตากไว้ที่ควรแห่งหนึ่ง สลัดให้สะอาด แล้วขนไปปูไว้ตามเดิม

กระโถน พนักอิง พึงตากไว้ที่ควรแห่งหนึ่ง เช็ดแล้วขนไปตั้งไว้ตามเดิม

ถ้ามีลมเจือด้วยผงคลีพัดมาทางทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก ถ้ามีลมเจือด้วยผงคลีพัดมาทางทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก ถ้ามีลมเจือด้วยผงคลีพัดมาทางทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ ถ้ามีลมเจือด้วยผงคลีพัดมาทางทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้

ถ้าฤดูหนาว กลางวันพึงเปิดหน้าต่าง กลางคืนพึงปิด ถ้าฤดูร้อน กลางวันพึงปิดหน้าต่าง กลางคืนพึงเปิด

ถ้าบริเวณซุ้มน้ำ โรงฉัน โรงไฟ วัจจกุฎีรก พึงปัดกวาดเสีย

ถ้าน้ำฉันน้ำใช้ไม่มี พึงจัดตั้งไว้

ถ้าน้ำในหม้อชำระไม่มี พึงตักน้ำมาไว้ในหม้อชำระ

ถ้าอยู่ในวิหารหลังเดียวกับภิกษุผู้แก่กว่า ยังไม่อาปุจฉา (บอกกล่าว) ภิกษุผู้แก่กว่า ไม่พึงให้อุเทศ ไม่พึงให้ปริปุจฉา ไม่พึงทำการสาธยาย ไม่พึงแสดงธรรม ไม่พึงตามประทีป ไม่พึงดับประทีป ไม่พึงเปิดหน้าต่าง ไม่พึงปิดหน้าต่าง

ถ้าเดินจงกรมในที่จงกรมเดียวกับภิกษุผู้แก่กว่า พึงเดินคล้อยตามภิกษุผู้แก่กว่า และไม่พึงกระทบกระทั่งภิกษุผู้แก่กว่าด้วยชายผ้าสังฆาฏิ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นเสนาสนวัตรซึ่งภิกษุทั้งหลายพึงประพฤติเรียบร้อย

(๗/๔๓๑/๑๕๖-๑๕๗)

 

ข้อบัญญัติที่นั่งที่นอน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตคานหามมีตั่งนั่ง และเปลผ้าที่เขาผูกติดกับไม้คาน (๕/๑๔/๑๙)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ที่นั่งและที่นอนอันสูงใหญ่ คือ

เตียงมีเท้าสูงเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้าย มีสีหะและเสือเป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงินแกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาดหลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะมีขนอ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ (๕/๑๕/๒๐)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้หนังผืนใหญ่ คือ หนังสีหะ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ (๕/๑๖/๒๑)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง หนังโคอันภิกษุไม่พึงใช้ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ หนังอะไรๆ ภิกษุไม่พึงใช้ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นั่งทับเตียงตั่ง (หุ้มด้วยหนัง) ที่เป็นอย่างคฤหัสถ์ แต่ไม่อนุญาตให้นอนทับ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นั่งพิงเฉพาะเชือกหนัง (๕/๑๘/๒๒)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตหนังเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค ทั่วปัจจันตชนบท (๕/๒๓/๒๘)

วัตรการอยู่ป่า

อารัญญิกวัตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร พึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่

พึงตั้งน้ำฉัน พึงตั้งน้ำใช้

พึงติดไฟไว้ พึงเตรียมไม้สีไฟไว้

พึงเตรียมไม้เท้าไว้

พึงเรียนทางนักษัตรทั้งสิ้น หรือบางส่วนไว้ พึงเป็นผู้ฉลาดในทิศ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นวัตรของภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ซึ่งพึงประพฤติเรียบร้อย

(๗/๔๒๘/๑๕๔) 

การเข้าเรือนไฟ

ชันตาฆรวัตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดไปสู่เรือนไฟก่อน ถ้ามีเถ้ามาก พึงเทเถ้าทิ้งเสีย ถ้าเรือนไฟรก พึงกวาดเสีย ถ้าชานภายนอกรก พึงกวาดเสีย ถ้าบริเวณซุ้มประตูศาลาเรือนไฟรก พึงกวาดเสีย

พึงบดจุณไว้ พึงแช่ดินเหนียว พึงตักน้ำไว้ในรางน้ำ

เมื่อจะเข้าไปสู่เรือนไฟ พึงเอาดินเหนียวทาหน้า ปิดทั้งข้างหน้าข้างหลังแล้ว จึงเข้าไปสู่เรือนไฟ

ไม่พึงนั่งเบียดเสียดพระเถระ ไม่พึงเกียดกันอาสนะภิกษุใหม่

ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงทำบริกรรมแก่พระเถระในเรือนไฟ

เมื่อออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับเรือนไฟ แล้วปิดทั้งข้างหน้าข้างหลังออกจากเรือนไฟ

ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงทำบริกรรมแก่พระเถระแม้ในน้ำ

ไม่พึงอาบน้ำข้างหน้าพระเถระ แม้เหนือน้ำก็ไม่พึงอาบ

อาบแล้วเมื่อจะขึ้น พึงให้ทางแก่พระเถระผู้จะลง

ภิกษุใดออกจากเรือนไฟภายหลัง ถ้าเรือนไฟเปรอะเปื้อน พึงล้างให้สะอาด พึงล้างรางแช่ดิน เก็บตั่งสำหรับเรือนไฟ ดับไฟ ปิดประตู แล้วจึงหลีกไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นวัตรในเรือนไฟ ซึ่งภิกษุทั้งหลายพึงประพฤติเรียบร้อย

(๗/๔๓๓/๑๕๘ )