ข้อวัตร
ของใช้-สมบัติ
บาตร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้บาตรไม้ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๓๓/๑๑)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้บาตรทองคำ บาตรเงิน บาตรแก้วมณี บาตรแก้วไพฑูรย์ บาตรแก้วผลึก บาตรทองสัมฤทธิ์ บาตรกระจก บาตรดีบุก บาตรตะกั่ว บาตรทองแดง รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๓๔/๑๑-๑๒)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้กะโหลกน้ำเต้า กะโหลกผี หม้อกระเบื้อง เที่ยวบิณฑบาต รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๕๑-๕๓/๑๕)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบาตร ๒ ชนิด คือ บาตรเหล็ก ๑ บาตรดิน ๑ (๗/๓๔/๑๒)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้บาตรรับเศษอาหาร ก้าง หรือน้ำบ้วนปาก รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ เราอนุญาตให้ใช้กระโถน (๗/๕๔/๑๕)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บาตรที่ยังมีน้ำ ภิกษุไม่พึงผึ่งไว้ ไม่พึงเก็บงำ รูปใดผึ่งไว้ เก็บงำ ต้องอาบัติทุกกฏ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำให้หมดน้ำเสียก่อนผึ่ง แล้วจึงเก็บงำบาตร (๗/๓๘-๓๙/๑๒)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชิงรองบาตร (๗/๔๑/๑๓)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ถุงบาตร และสายโยกเป็นด้ายถัก (๗/๔๔/๑๓)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงแขวนบาตรไว้ รูปใดแขวนไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๔๕/๑๔)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเก็บบาตรไว้บนเตียง บนตั่ง บนตัก บนกลด รูปใดเก็บต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๔๖-๔๙/๑๔)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตโตก (๗/๑๐๘/๒๖)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันร่วมภาชนะเดียวกัน ไม่พึงดื่มร่วมขันใบเดียวกัน ไม่พึงนอนร่วมเตียงเดียวกัน ไม่พึงนอนร่วมเครื่องลาดเดียวกัน ไม่พึงนอนร่วมผ้าห่มผืนเดียวกัน ไม่พึงนอนร่วมเครื่องลาดและผ้าห่มผืนเดียวกัน รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๑๐๙/๒๖)
จีวร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีเท้าเปื้อน เท้าเปียก สวมรองเท้า ไม่พึงเหยียบไม้สะดึง (ไม้ขึงจีวร) รูปใดเหยียบ ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๖๐-๖๒/๑๗)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ปลอกสวมนิ้วมือ (เวลาเย็บผ้า) (๗/๖๓/๑๗)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล่องเก็บเครื่องเย็บผ้า (๗/๖๕/๑๗)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตโรงสะดึง (๗/๖๖/๑๘)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่มีรัดประคดไม่พึงเข้าบ้าน รูปใดเข้าบ้าน ต้องอาบัติทุกกฏ เราอนุญาตรัดประคดแผ่นผ้า ประคดกลมดังไส้สุกร ประคดถักกลมคล้ายเกลียวเชือก ประคดถักคล้ายสังวาล ประคดถักเป็นห่วง ประคดลูกถวิลทำด้วยกระดูก งา เขา ไม้อ้อ ไม้ไผ่ กระดองสังข์ เส้นด้าย (๗/๑๖๓-๑๖๕/๔๑-๔๒)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตลูกดุมและรังดุม (๗/๑๖๖/๔๒)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนุ่งผ้าอย่างคฤหัสถ์คือ นุ่งห้อยชายเหมือนงวงช้าง นุ่งปล่อยชายคล้ายหางปลา นุ่งปล่อยชายเป็นสี่แฉก นุ่งห้อยชายคล้ายก้านตาล นุ่งยกกลีบตั้งร้อย นุ่งเหน็บชายกระเบน รูปใดนุ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๑๖๙-๑๗๑/๔๓)
การฝากถวายจีวร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง คนทั้งหลายในโลกนี้ฝากถวายจีวรเพื่อหมู่ภิกษุผู้อยู่นอกสีมาด้วยคำว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีได้ จีวรนั่นยังไม่ควรนับราตรีตลอดเวลาที่ยังไม่ถึงมือ (๕/๒๓/๒๘)
การสละจีวรต้องนิสสัคคีย์แก่สงฆ์หรือคณะหรือบุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์
ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ (๒/๔-๖/๔-๕)
การขออนุญาต/การอนุญาตอยู่โดยปราศจากไตรจีวร
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าอาพาธ ไม่สามารถจะนำไตรจีวรไปด้วยได้ ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นขอสมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรต่อสงฆ์ ดังนี้
พึงขอแม้ครั้งที่สอง ...
พึงขอแม้ครั้งที่สาม ...
ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้อาพาธ ไม่สามารถจะนำไตรจีวรไปด้วยได้ เธอขอสมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรต่อสงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้สมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรแก่ภิกษุมีชื่อนี้ นี่เป็นวาจาประกาศให้สงฆ์ทราบ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้อาพาธ ไม่สามารถจะนำไตรจีวรไปด้วยได้ เธอขอสมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรต่อสงฆ์ สงฆ์ให้สมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรแก่ภิกษุมีชื่อนี้
การให้สมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรแก่ภิกษุมีชื่อนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
การสมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวร อันสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุมีชื่อนี้ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้ (๒/๑๑/๑๐)
การสละ และการขออนุญาตอื่น ๆ ให้ถือปฏิบัติทำนองเดียวกัน
ของใช้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้มีดมีด้าม มีดมีผ้าพัน (๗/๕๕-๕๖/๑๕)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตมีดโกน หินลับมีดโกน ฝักมีดโกน ผ้าพันมีดโกน เครื่องมีดโกนทุกอย่าง (๗/๑๔๙/๓๙)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้แคะหู (๗/๑๕๗/๔๐)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ปุ่มไม้สำหรับเช็ดเท้า รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตที่เช็ดเท้า ๓ ชนิด คือ หินกรวด ๑ กระเบื้อง ๑ หินฟองน้ำในทะเล ๑ (๗/๑๒๗/๓๓)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้แส้จามรี รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตพัด ๓ ชนิด คือ พัดทำด้วยปอ ๑ พัดทำด้วยแฝก ๑ พัดทำด้วยขนปีกขนหางนกยูง ๑ (๗/๑๓๐/๓๔)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงถือไม้เท้ากับสาแหรก รูปใดถือ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติไม้เท้าและสาแหรกแก่ภิกษุอาพาธ (๗/๑๓๕-๑๔๒/๓๕-๓๗)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้กระบอกกรองน้ำ (๗/๗๒/๑๙)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตมุ้ง (๗/๗๗/๒๐)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตหม้อปัสสาวะ มีฝาปิด (๗/๑๘๙/๔๗)
สมบัติ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสั่งสมเครื่องทองสัมฤทธิ์ รูปใดสั่งสม ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๑๕๙/๔๑)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องโลหะทุกชนิด เว้นเครื่องประหาร อนุญาตเครื่องไม้ทุกชนิด เว้นเก้าอี้นอนมีแคร่ บัลลังก์ บาตรไม้ และเขียงไม้ อนุญาตเครื่องดินทุกชนิด เว้นเครื่องเช็ดเท้าและกุฎีที่ทำด้วยดินเผา (๗/๑๙๖/๕๐)
ดูกรภิกษุทั้งหลายของที่ไม่ควรแจกจ่าย ๕ หมวดนี้ อันภิกษุไม่ควรแจกจ่ายให้ไป แม้สงฆ์คณะหรือบุคคลแจกจ่ายไปแล้วก็ไม่เป็นอันแจกจ่าย รูปใดแจกจ่าย ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ของไม่ควรแจกจ่าย ๕ หมวด อะไรบ้าง คือ
อาราม พื้นที่อาราม นี้เป็นของที่ไม่ควรแจกจ่ายหมวดที่ ๑ สงฆ์ก็ดี คณะก็ดี บุคคลก็ดี ไม่ควรแจกจ่ายให้ไป แม้แจกจ่ายไปแล้วก็ไม่เป็นอันแจกจ่าย รูปใดแจกจ่าย ต้องอาบัติถุลลัจจัย
วิหาร พื้นที่วิหาร นี้เป็นของที่ไม่ควรแจกจ่ายหมวดที่ ๒ สงฆ์ก็ดี คณะก็ดี บุคคลก็ดี ไม่ควรแจกจ่ายให้ไป แม้แจกจ่ายไปแล้ว ก็ไม่เป็นอันแจกจ่าย รูปใดแจกจ่าย ต้องอาบัติถุลลัจจัย
เตียง ตั่ง ฟูก หมอน นี้เป็นของที่ไม่ควรแจกจ่ายหมวดที่ ๓ สงฆ์ก็ดี คณะก็ดี บุคคลก็ดี ไม่ควรแจกจ่ายให้ไป แม้แจกจ่ายไปแล้ว ก็ไม่เป็นอันแจกจ่าย รูปใดแจกจ่าย ต้องอาบัติถุลลัจจัย
หม้อโลหะ อ่างโลหะ กระถางโลหะ กระทะโลหะ มีด ขวาน ผึ่ง จอบ สว่าน นี้เป็นของที่ไม่ควรแจกจ่ายหมวดที่ ๔ สงฆ์ก็ดี คณะก็ดี บุคคลก็ดี ไม่ควรแจกจ่ายให้ไป แม้แจกจ่ายไปแล้ว ก็ไม่เป็นอันแจกจ่าย รูปใดแจกจ่าย ต้องอาบัติถุลลัจจัย
เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้าปล้อง หญ้ามุงกระต่าย หญ้าสามัญ ดิน เครื่องไม้ เครื่องดิน นี้เป็นของที่ไม่ควรแจกจ่ายหมวดที่ ๕ สงฆ์ก็ดี คณะก็ดี บุคคลก็ดี ไม่ควรแจกจ่ายให้ไป แม้แจกจ่ายไปแล้ว ก็ไม่เป็นอันแจกจ่าย รูปใดแจกจ่าย ต้องอาบัติถุลลัจจัย (๗/๒๙๒/๘๕-๘๖)
ของที่ไม่ควรแบ่ง มี ๕ หมวด นี้ สงฆ์ก็ดี คณะก็ดี บุคคลก็ดี ไม่ควรแบ่ง แม้แบ่งไปแล้วก็ไม่เป็นอันแบ่ง รูปใดแบ่ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ของไม่ควรแบ่ง ๕ หมวด อะไรบ้าง คือ
อาราม พื้นที่อาราม นี้เป็นของไม่ควรแบ่งหมวดที่ ๑ สงฆ์ก็ดี คณะก็ดี บุคคลก็ดี ไม่ควรแบ่ง แม้แบ่งแล้วก็ไม่เป็นอันแบ่ง รูปใดแบ่ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
วิหาร พื้นที่วิหาร นี้เป็นของไม่ควรแบ่งหมวดที่ ๒ สงฆ์ก็ดี คณะก็ดี บุคคลก็ดี ไม่ควรแบ่ง แม้แบ่งแล้วก็ไม่เป็นอันแบ่ง รูปใดแบ่ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
เตียง ตั่ง ฟูก หมอน นี้เป็นของไม่ควรแบ่งหมวดที่ ๓ สงฆ์ก็ดี คณะก็ดี บุคคลก็ดี ไม่ควรแบ่ง แม้แบ่งแล้วก็ไม่เป็นอันแบ่ง รูปใดแบ่ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
หม้อโลหะ อ่างโลหะ กระถางโลหะ กระทะโลหะ มีด ขวาน ผึ่ง จอบ สว่าน นี้เป็นของไม่ควรแบ่งหมวดที่ ๔ สงฆ์ก็ดี คณะก็ดี บุคคลก็ดี ไม่ควรแบ่ง แม้แบ่งแล้วก็ไม่เป็นอันแบ่ง รูปใดแบ่ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้าปล้อง หญ้ามุงกระต่าย หญ้าสามัญ ดิน เครื่องไม้เครื่องดิน นี้เป็นของไม่ควรแบ่งหมวดที่ ๕ สงฆ์ก็ดี คณะก็ดี บุคคลก็ดี ไม่ควรแบ่ง แม้แบ่งแล้วก็ไม่เป็นอันแบ่ง รูปใดแบ่ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย (๗/๒๙๓/๘๗
การสละเงิน
ภิกษุผู้รับเงินแล้วพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้ารับเงินไว้แล้ว เงินนี้ของข้าพเจ้า เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละเงินนี้แก่สงฆ์
ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ
ถ้าคนผู้ทำการวัดหรืออุบาสกเดินมาในสถานที่สละนั้น พึงบอกเขาว่า ท่านจงรู้เงินนี้ ถ้าเขาถามว่า จะให้ผมนำเงินนี้ไปจัดหาอะไรมา อย่าบอกว่า จงนำของสิ่งนี้หรือของสิ่งนี้มา ควรบอกแต่ของที่ควร เช่น เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อย
ถ้าเขานำเงินนั้นไปแลกของที่ควรมาถวายแล้ว เว้นภิกษุผู้รับเงิน ภิกษุนอกนั้นฉันได้ทุกรูป ถ้าได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ พึงบอกเขาว่า โปรดช่วยทิ้งเงินนี้ ถ้าเขาทิ้งให้ นั่นเป็นการดี ถ้าเขาไม่ทิ้งให้ พึงสมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ให้เป็นผู้ทิ้งเงินนั้น องค์ ๕ นั้นคือ
๑. ไม่ลำเอียงเพราะความชอบพอ
๒. ไม่ลำเอียงเพราะเกลียดชัง
๓. ไม่ลำเอียงเพราะงมงาย
๔. ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
๕. รู้จักว่าทำอย่างไรเป็นอันทิ้งหรือไม่เป็นอันทิ้ง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงสมมติภิกษุนั้น โดยขอภิกษุให้รับตกลงก่อน ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศ ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งเงิน นี่เป็นญัตติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งเงิน การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งเงิน ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
ภิกษุมีชื่อนี้ สงฆ์สมมติให้เป็นผู้ทิ้งเงินแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้
ภิกษุผู้รับสมมติแล้วนั้น พึงทิ้งเงินอย่าหมายที่ตก ถ้าทิ้งหมายที่ตก ต้องอาบัติทุกกฏ (๒/๑๐๖/๑๑๑-๑๑๒)