ข้อวัตร
กิจส่วนตัว
การถ่ายทุกข์
(วัจจกุฎีวัตร)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุถ่ายอุจจาระแล้ว เมื่อน้ำมีอยู่ จะไม่ชำระไม่ได้ รูปใดไม่ชำระ ต้องอาบัติทุกกฏ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงถ่ายอุจจาระในวัจจกุฎีตามลำดับผู้แก่กว่า รูปใดถ่ายต้องอาบัติทุกกฏ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถ่ายอุจจาระตามลำดับของผู้มาถึง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดไปวัจจกุฎี ภิกษุนั้นยืนอยู่ข้างนอก พึงกระแอมขึ้น แม้ภิกษุผู้นั่งอยู่ข้างใน ก็พึงกระแอมรับ พึงพาดจีวรไว้บนราวจีวร หรือบนสายระเดียง แล้วเข้าวัจจกุฎี ทำให้เรียบร้อย ไม่ต้องรีบร้อน ไม่พึงเข้าไปเร็วนัก ไม่พึงเวิกผ้าเข้าไป
ยืนบนเขียงถ่ายอุจจาระ แล้วจึงค่อยเวิกผ้า ไม่พึงถอนหายใจใหญ่พลางถ่ายอุจจาระ
ไม่พึงเคี้ยวไม้ชำระฟันพลางถ่ายอุจจาระ
ไม่พึงถ่ายอุจจาระนอกรางอุจจาระ ไม่พึงถ่ายปัสสาวะนอกรางปัสสาวะ
ไม่พึงบ้วนเขฬะลงในรางปัสสาวะ
ไม่พึงชำระด้วยไม้หยาบ
ไม่พึงทิ้งไม้ชำระลงในช่องถ่ายอุจจาระ
ยืนบนเขียงถ่ายแล้วพึงปิดผ้า
ไม่พึงออกมาเร็วนัก ไม่พึงเวิกผ้าออกมา
ยืนบนเขียงชำระ แล้วพึงเวิกผ้า
ไม่พึงชำระให้มีเสียงดังจะปุจะปุ
ไม่พึงเหลือน้ำไว้ในกระบอกชำระ
ยืนบนเขียงชำระ แล้วพึงปิดผ้า
ถ้าวัจจกุฎีอันภิกษุถ่ายไว้เลอะเทอะ ต้องล้างเสีย
ถ้าตะกร้าใส่ไม้ชำระเต็ม พึงเทไม้ชำระ
ถ้าวัจจกุฎีรก พึงกวาดวัจจกุฎี
ถ้าชานภายนอก บริเวณ ซุ้มประตูรก พึงกวาดเสีย
ถ้าน้ำในหม้อชำระไม่มี พึงตักน้ำมาไว้ในหม้อชำระ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นวัจจกุฎีวัตร ซึ่งภิกษุทั้งหลายพึงประพฤติเรียบร้อย
(๗/๔๓๔-๔๓๗/๑๕๘-๑๖๐)
การสวมรองเท้า
(จัมมขันธกะ)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าชั้นเดียว ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้า ๒ ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้า ๓ ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้าหลายชั้น (๕/๕/๑๐) เว้นไว้แต่รองเท้าหลายชั้นที่ใช้แล้ว (๕/๗/๑๒)
ไม่พึงสวมรองเท้าสีเขียวล้วน รองเท้าสีเหลืองล้วน สีแดงล้วน สีบานเย็นล้วน สีดำล้วน สีแสดล้วน สีชมพูล้วน (๕/๖/๑๑)
ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนังราชสีห์ ขลิบด้วยหนังเสือโคร่ง ขลิบด้วยหนังเสือเหลือง ขลิบด้วยหนังชะมด ขลิบด้วยหนังนาก ขลิบด้วยหนังแมว ขลิบด้วยหนังค่าง ขลิบด้วยหนังนกเค้า (๕/๖/๑๒)
เขียงเท้าที่ทำด้วยไม้ ใบตาล ไม้ไผ่ เขียงเท้าต่างชนิด อันภิกษุไม่พึงสวม รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ (๕/๑๐-๑๒/๑๕-๑๘)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออาจารย์ ภิกษุปูนอาจารย์ อุปัชฌายะ ภิกษุปูนอุปัชฌายะ เดินมิได้สวมรองเท้า ภิกษุไม่พึงเดินสวม รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ (๕/๘/๑๓)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มีเท้าชอกช้ำ หรือมีเท้าแตก หรืออาพาธมีหน่อที่เท้า สวมรองเท้าได้ (๕/๑๐/๑๔)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภายในอาราม เราอนุญาตให้สวมรองเท้า และไม้เท้าได้ (๕/๑๐/๑๔) แต่ไม่พึงสวมรองเท้าเข้าบ้าน เว้นแต่อาพาธ รูปใดสวมเข้าไป ต้องอาบัติทุกกฏ (๕/๑๙/๒๒)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเขียงเท้าที่ตรึงอยู่กับที่ ไม่ใช่สำหรับใช้สวมเดิน ๓ ชนิด คือ เขียงเท้าสำหรับเหยียบถ่ายอุจจาระ ๑ เขียงเท้าสำหรับเหยียบถ่ายปัสสาวะ ๑ เขียงเท้าสำหรับเหยียบในที่ชำระ ๑ (๕/๑๒/๑๘)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีดินสีดำมาก ดื่นดาดด้วยระแหงกีบโค เราอนุญาตรองเท้าหลายชั้น ทั่วปัจจันตชนบท (๕/๒๓/๒๘)
การอาบน้ำ
ข้อยกเว้นการอาบน้ำ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายในอวันตีทักขิณาบถ นิยมการอาบน้ำ ถือว่าน้ำทำให้บริสุทธิ์ เราอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์ทั่วปัจจันตชนบท (๕/๒๓/๒๘)
การดูแลร่างกาย
สรีระ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงปล่อยหนวดไว้ให้ยาว ไม่พึงไว้เครา ไม่พึงแต่งหนวดเป็นสี่เหลี่ยม ไม่พึงขมวดกลุ่มขนหน้าอก ไม่พึงไว้กลุ่มขนท้อง ไม่พึงไว้หนวดเป็นเขี้ยวโง้ง ไม่พึงโกนขนในที่แคบ รูปใดโกน ต้องอาบัติทุกกฏ เว้นแต่อาพาธ (๗/๑๕๐-๑๕๑/๓๙-๔๐)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้ตัดผมด้วยกรรไกร รูปใดให้ตัด ต้องอาบัติทุกกฏ เว้นแต่อาพาธ (๗/๑๕๒-๑๕๓/๔๐)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไว้ขนจมูกยาว รูปใดไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตแหนบ (๗/๑๕๔-๑๕๕/๔๐)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้ถอนผมหงอก รูปใดให้ถอน ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๑๕๖/๔๐)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงตัดองค์กำเนิดของตน รูปใดตัด ต้องอาบัติถุลลัจจัย (๗/๒๘/๙)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาบน้ำ ไม่พึงสีกายที่ต้นไม้ เสา ฝา ถูด้วยมือที่ทำด้วยไม้ ก้อนจุณหินดั่งพลอยแดง ไม้ที่ทำเป็นฟันมังกร ผลัดกันถูตัว รูปใดสี ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๑-๘/๒-๓)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการถูหลังด้วยมือ (๗/๑๑/๔)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเกลียวผ้า (เพื่อถูกายขณะอาบน้ำ) (๗/๑๐/๔)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทรงเครื่องประดับหู ไม่พึงทรงสังวาล ไม่พึงทรงสร้อยคอ ไม่พึงทรงเครื่องประดับเอว ไม่พึงทรงวลัย ไม่พึงทรงสร้อยตาบ ไม่พึงทรงเครื่องประดับข้อมือ ไม่พึงทรงแหวนประดับนิ้วมือ รูปใดทรง ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๑๒/๔)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเสยผมด้วยแปรง ไม่พึงเสยผมด้วยหวี ไม่พึงเสยผมด้วยนิ้วมือต่างหวี ไม่พึงเสยผมด้วยน้ำมันผสมกับขี้ผึ้ง ไม่พึงเสยผมด้วยน้ำมันผสมกับน้ำ รูปใดเสย ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๑๔/๕)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงดูเงาหน้าในแว่นหรือในภาชนะน้ำ รูปใดดู ต้องอาบัติทุกกฏ เว้นแต่อาพาธ (๗/๑๕-๑๖/๕)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทาหน้า ไม่พึงถูหน้า ไม่พึงผัดหน้า ไม่พึงเจิมหน้าด้วยมโนศิลา ไม่พึงย้อมตัว ไม่พึงย้อมหน้า ไม่พึงย้อมทั้งตัวและหน้า รูปใดทำต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๑๗/๕)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทาหน้าได้ เพราะเหตุอาพาธ (๗/๑๘/๖)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไว้เล็บยาว รูปใดไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ตัดเล็บเสมอเนื้อ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงวานกันให้ขัดเล็บ รูปใดให้ขัดต้องอาบัติทุกกฏ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แคะขี้เล็บได้ (๗/๑๔๖-๑๔๘/๓๙)
อากัปกิริยา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงหาบของสองข้าง รูปใดหาบ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คอน หาม เทิน แบก กระเดียด หิ้ว (๗/๑๗๒/๔๓)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การเคี้ยวไม้ชำระฟันมีอานิสงส์ ๕ ประการนี้ คือ นัยน์ตาแจ่มใส ๑ ปากไม่มีกลิ่นเหม็น ๑ ลิ้นรับรสอาหารบริสุทธิ์ ๑ ดีและเสมหะไม่หุ้มห่ออาหาร ๑ ชอบฉันอาหาร ๑ การเคี้ยวไม้ชำระฟันมีอานิสงส์ ๕ ประการนี้แล เราอนุญาตไม้ชำระฟันยาว ๘ นิ้วเป็นอย่างยิ่ง ๔ องคุลีเป็นอย่างต่ำ และไม่พึงตีสามเณรด้วยไม้นั้น รูปใดตี ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๑๗๓-๑๗๕/๔๓-๔๔)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเผากองหญ้า รูปใดเผา ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไว้เมื่อไฟป่าไหม้มาถึง ให้จุดไฟรับเพื่อป้องกัน (๗/๑๗๖-๑๗๗/๔๔)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงขึ้นต้นไม้ รูปใดขึ้น ต้องอาบัติทุกกฏ ยกเว้นในคราวมีอันตราย ขึ้นได้ตามประสงค์ (๗/๑๗๘-๑๗๙/๔๔)
ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุไม่พึงถ่มเขฬะบนพื้นที่ขัดถูแล้ว รูปใดถ่ม ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกระโถน (๗/๓๒๐/๙๔)
ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุไม่พึงพิงฝาที่ขัดถูแล้ว รูปใดพิง ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตพนักอิงใช้ผ้าพันทั้งข้างล่างและข้างบน (๗/๓๒๒/๙๔)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ปูลาดก่อนแล้วนอน (๗/๓๒๓/๙๕)