Main navigation

ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม

ทรงอนุญาตการประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม

สังฆเภทขันธกะ

พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า อย่าเลยเทวทัต (ไม่อนุญาตการปฏิบัติเศร้าหมองตามที่พระเทวทัตขอ)

ภิกษุใดปรารถนาป่า ภิกษุนั้นจงถือการอยู่ป่าเป็นวัตร รูปใดปรารถนาอาราม จงอยู่ในอาราม รูปใดปรารถนาบิณฑบาต จงถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร รูปใดปรารถนานิมนต์ จงยินดีกิจนิมนต์ รูปใดปรารถนาผ้าบังสกุล จงถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร รูปใดปรารถนาคหบดีจีวร จงยินดีคหบดีจีวร

เราอนุญาตโคนไม้เป็นเสนาสนะ ๘ เดือน

เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจ (ว่าเขาฆ่าเพื่อตน)

(๗/๓๘๔/๑๒๘)

ไม่ทรงเหยียบผ้า

โพธิราชกุมาร

โพธิราชกุมารทูลอาราธนา

พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงเหยียบผ้า ขอพระสุคตจงทรงเหยียบผ้า เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพระพุทธเจ้าสิ้นกาลนาน

เมื่อโพธิราชกุมารกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงดุษณีภาพ (นิ่ง)

แม้ครั้งที่สอง ...
แม้ครั้งที่สาม ...

พระผู้มีพระภาคทรงชำเลืองดูท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์จึงได้ถวายพรแก่โพธิราชกุมารว่า

จงม้วนผ้าเถิด พระราชกุมาร พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงเหยียบผ้า

(๗/๑๒๒/๓๒)

ความเคารพ

ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระนครเวสาลีตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกทางพระนครสาวัตถี

สมัยนั้น ภิกษุอันเตวาสิกของพระฉัพพัคคีย์รีบไปข้างหน้าภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข จองวิหาร กันที่นอนไว้ว่า ที่นี้ของอุปัชฌาย์ของพวกเรา ที่นี้ของอาจารย์ของพวกเรา ที่นี้ของพวกเรา

ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรไปล้าหลังภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เมื่อภิกษุทั้งหลายจองวิหาร แลที่นอนหมดแล้ว หาที่นอนไม่ได้ จึงนั่ง ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง  

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไรควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ

ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดบวชจากตระกูล กษัตริย์ ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ

ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดบวชจากตระกูล พราหมณ์ ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ

ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดบวชจากตระกูล คหบดี ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ

ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดจำทรงพระสูตร ไว้ได้ ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ

ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดทรงพระวินัย ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ

ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดเป็นธรรมกถึก ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ

ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดได้ปฐมฌาน... ทุติยฌาน... ตติยฌาน... ภิกษุใดได้จตุตถฌาน ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ

ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดเป็นพระโสดาบัน... พระสกทาคามี... พระอนาคามี... ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ

ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า ภิกษุใดได้วิชชา ๓ ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ

ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดได้อภิญญา ๖ ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ

พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งอยู่แถบหิมพานต์ สัตว์ ๓ สหายคือ นกกระทา ๑ ลิง ๑ ช้าง ๑ อาศัยต้นไทรใหญ่นั้นอยู่ ทั้งสามสัตว์นั้นมิได้เคารพ มิได้ยำเกรงกัน มีความประพฤติไม่กลมเกลียวกันอยู่

สัตว์ ๓ สหายนั้นปรึกษากันว่า โอ พวกเราทำอย่างไรจึงจะรู้ได้แน่ว่าบรรดาพวกเราผู้ใดเป็นใหญ่โดยกำเนิด  พวกเราจะได้สักการะ เคารพ นับถือบูชาผู้นั้น แลจะได้ตั้งอยู่ในโอวาทของผู้นั้น จึงนกกระทาและลิงถามช้างว่า สหายท่านจำเรื่องเก่าแก่อะไรได้บ้าง

ช้างตอบว่า สหายทั้งหลาย เมื่อฉันยังเล็ก ฉันเดินคร่อมต้นไทรนี้ไว้ ในหว่างขาหนีบได้ยอดไทรพอระท้องฉัน ฉันจำเรื่องเก่าได้ ดังนี้

นกกระทากับช้างถามลิงว่า สหาย ท่านจำเรื่องเก่าแก่อะไรได้บ้าง

ลิงตอบว่า สหายทั้งหลาย เมื่อฉันยังเล็ก ฉันนั่งบนพื้นดินเคี้ยวกินยอดไทรนี้ ฉันจำเรื่องเก่าได้ ดังนี้

ลิงและช้างถามนกกระทาว่า สหาย ท่านจำเรื่องเก่าแก่อะไรได้บ้าง

นกกระทาตอบว่า สหายทั้งหลาย ในสถานที่โน้นมีต้นไทรใหญ่ ฉันกินผลจากต้นไทรใหญ่นั้น แล้วได้ถ่ายมูลไว้ ณ สถานที่นี้ ต้นไทรต้นนี้เกิดจากต้นไทรใหญ่นั้น เพราะฉะนั้น ฉันจึงเป็นใหญ่กว่าโดยกำเนิด

ลิงกับช้างได้กล่าวกับนกกระทาว่า บรรดาพวกเรา ท่านเป็นผู้ใหญ่กว่าโดยกำเนิด พวกเราจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาท่านและจะตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นกกระทาได้ให้ลิงกับช้างสมาทานศีลห้า และตนเองก็ประพฤติสมาทานในศีลห้า สัตว์ทั้งสามมีความเคารพยำเกรงกัน มีความประพฤติกลมเกลียวกันอยู่เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย วัตรจริยานี้แล ได้ชื่อว่าติตติริยพรหมจรรย์

คนเหล่าใด ฉลาดในธรรม ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ ย่อมเป็นผู้อันมหาชนสรรเสริญในปัจจุบันนี้ ทั้งสัมปรายภพของคนเหล่านั้นเป็นสุคติแล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แท้จริงสัตว์เหล่านั้นเป็นดิรัจฉาน ยังมีความเคารพ ยำเกรงกัน มีความประพฤติกลมเกลียวกันอยู่ การที่พวกเธอเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ มีความเคารพยำเกรงกัน มีความประพฤติกลมเกลียวกันอยู่ นั่นจะพึงงามในธรรมวินัยนี้โดยแท้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม การทำสามีจิกรรม อาสนะที่เลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ ตามลำดับผู้แก่กว่า อนึ่ง ภิกษุไม่ควรเกียดกันเสนาสนะของสงฆ์ตามลำดับผู้แก่กว่า รูปใดเกียดกันต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๒๖๐-๒๖๓/๗๒-๗๕)


บุคคลที่ไม่ควรไหว้ ๑๐ จำพวก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๑๐ จำพวกนี้ อันภิกษุไม่ควรไหว้ คือ

ภิกษุผู้อุปสมบทก่อนไม่ควรไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทภายหลัง ๑

ไม่ควรไหว้อนุปสัมบัน ๑

ไม่ควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้แก่กว่า แต่ไม่ใช่ธรรมวาที ๑

ไม่ควรไหว้มาตุคาม ๑

ไม่ควรไหว้บัณเฑาะก์ ๑

ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้อยู่ปริวาส ๑

ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม ๑

ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรมานัต ๑

ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ประพฤติมานัต ๑

ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรอัพภาน ๑

บุคคล ๑๐ จำพวกนี้แล อันภิกษุไม่ควรไหว้ (๗/๒๖๔/๗๕)
                         

บุคคลที่ควรไหว้ ๓ จำพวก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ ภิกษุควรไหว้ คือ

ภิกษุผู้อุปสมบทภายหลัง ควรไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทก่อน ๑

ควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้แก่กว่า แต่เป็นธรรมวาที ๑

ควรไหว้ตถาคตผู้อรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์

บุคคล ๓ จำพวกนี้แล ภิกษุควรไหว้ (๗/๒๖๔/๗๕-๗๖)

คุณสมบัติ

คุณสมบัติของทูต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ควรทำหน้าที่ทูต องค์ ๘ เป็นไฉน คือ

๑. รับฟัง
๒. ให้ผู้อื่นฟัง
๓. กำหนด
๕. เข้าใจความ
๖. ให้ผู้อื่นเข้าใจความ
๗. ฉลาดต่อประโยชน์และมิใช่ประโยชน์
๘. ไม่ก่อความทะเลาะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล ควรทำหน้าที่ทูต

(๗/๓๙๘/๑๓๓)

ธรรมเนียม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม การทำสามีจิกรรม อาสนะที่เลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ ตามลำดับผู้แก่กว่า

อนึ่ง ภิกษุไม่ควรเกียดกันเสนาสนะของสงฆ์ตามลำดับผู้แก่กว่า รูปใดเกียดกันต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๒๖๓/๗๕)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุนวกะผู้สอน นั่งบนอาสนะเสมอกันหรือสูงกว่าได้ ด้วยความเคารพธรรม ให้ภิกษุเถระผู้เรียน นั่งบนอาสนะเสมอกันหรือต่ำกว่าได้ ด้วยความเคารพธรรม (๗/๒๘๔/๘๓)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุไม่พึงเหยียบผืนผ้าที่ปูไว้ รูปใดเหยียบ ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๑๒๓/๓๒)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับของหอมแล้วเจิมไว้ที่บานประตูหน้าต่าง ให้รับดอกไม้แล้ววางไว้ในส่วนข้างหนึ่งในวิหาร (๗/๑๐๕/๒๕-๒๖)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไปดูการฟ้อนรำ การขับร้องหรือการประโคมดนตรี รูปใดไป ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๑๙/๖)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ รูปใดสวดต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๒๐/๖)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดเป็นทำนองสรภัญญะได้ (๗/๒๑/๗)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงแสดงอิทธิปาฎิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์แก่พวกคฤหัสถ์ รูปใดแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ (๗/๓๓/๑๑)