Main navigation

สิทธิ

สิทธิ โดย ไชย ณ พล

 

ถาม

อาจารย์ครับ ผมสังเกตเห็นในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นระดับ ประเทศ องค์กร บริษัท ครอบครัว แม้กระทั่งวัด จะมีกลุ่มคนที่ไม่มีสิทธิ์ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ น่าแปลกที่คนมีสิทธิ์กลับไม่ค่อยออกมาเรียกร้องอะไร เราจะบริหารคนเหล่านี้อย่างไรครับ


ไชย ณ พล  ตอบ

โอ.. ปัญหานี้เป็นปัญหาจักรวาลเลยนะ  ระบบกรรมมีไว้เพื่อบริหารความชอบธรรม ความเป็นธรรม ศีลธรรมแห่งสิทธิทั้งหลายนี่แหละ ในโลกก็มีหลายระบบถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อบริหารสิทธิหน้าที่ของประชากรโลก ทั้งระบอบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ระบบกฎหมาย ระบบศาลสถิตยุติธรรม  ระบบการบริหาร ระบบวัฒนธรรม แม้กระทั่งจารีตทางสังคม เนื่องจากเป็นประเด็นที่ใหญ่มาก ดังนั้นค่อยๆ พิจารณาไป

 

อ่านออนไลน์

ไชย ณ พล
สงวนลิขสิทธิ์ตามกฏหมาย


กำเนิดสิทธิ

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า สิทธิมาจากไหนบ้าง?


สิทธิโดยธรรมชาติ   เช่น ทุกชีวิตที่เกิดมามีสิทธิที่จะดำรงอยู่ ใครไปทำลายการดำรงอยู่ของชีวิต คือไปฆ่าให้ตายเป็นการทำลายสิทธิ หรือชีวิตที่ดำรงอยู่แล้วย่อมมีสิทธิที่จะตายเมื่อร่างกายทำงานไม่ไหวแล้ว ใครไปยับยั้งการตายก็เป็นการละเมิดสิทธิเช่นกัน ชีวิตที่เกิดมาในโลกนี้ย่อมมีสิทธิที่จะเลือกอยู่ที่ใดก็ได้ในโลกกว้าง เหมือนนกทั้งหลายบินไปอยู่หลายที่ในโลกแม้ในป่า แม้ในเมือง แม้บนหลังคาบ้าน แม้มดและแมลงต่าง ๆ ก็เช่นกัน อยู่ทุกที่ในโลก การไปกีดกันสิทธิธรรมชาติจัดเป็นการกีดกันสิทธิ แต่ถ้าปล่อยให้ทุกชีวิตทำตามอำเภอใจ ความยุ่งเหยิงโกลาหลเกิดขึ้นได้มาก จึงมีการสมมติสิทธิครอบครองขึ้น

สิทธิโดยสมมติ  เช่น ที่ดินในโลกนี้ไม่ได้เป็นของชีวิตใดชีวิตหนึ่งเลย แต่มนุษย์ได้ขีดเส้นแบ่งเขตครอบครองกัน เมื่อครอบครองแล้ว ผู้ครอบครองก็มีสิทธิเหนือที่ดินนั้น นั่นเป็นสิทธิโดยสมมติ ไม่ใช่สิทธิโดยธรรมชาติ

หรือการที่ประชาชนสมมติแต่งตั้งบุคคลให้ทำหน้าที่แทนตนในฐานะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรออกกฎหมาย ศาลยุติธรรม และแม้แต่ตัวแทนดำเนินการใด ๆ แทนตน นั่นเป็นสิทธิโดยสมมติ  

หรือการที่กฎหมายสมมติให้บุคคลผู้เข้าเกณฑ์มีสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการชุดหนึ่ง ๆ นั่นก็เป็นสิทธิตามสมมติ

สิทธิโดยหน้าที่  เช่น พ่อแม่ให้กำเนิดลูกมาย่อมมีสิทธิโดยหน้าที่ที่จะรัก เลี้ยงดูอบรมสั่งสอนบุตรบุตรีของตน บุตรบุตรีมีสิทธิโดยหน้าที่ที่จะรัก ผูกพันเชื่อฟัง และตอบแทนคุณพ่อแม่ เมื่อบุตรเติบโต กล้าสามารถดูแลตัวเองได้ดีแล้ว สิทธิโดยธรรมชาติก็เข้ามาทำหน้าที่ บุตรจึงมีสิทธิที่จะเลือกวิถีความเป็นอยู่ของตนด้วยตัวเองได้ กระนั้น พ่อแม่เป็นฐานะตลอดชีพ พ่อแม่จึงมีสิทธิแสดงความห่วงใยแนะนำได้ตามหน้าที่ไปจนตาย แต่ชีวิตเป็นของลูกเอง ที่ลูกมีหน้าที่ต้องดูแลตัวเองไปจนตาย แม้ไม่มีพ่อแม่อยู่แล้ว ลูกจึงมีสิทธิที่จะตัดสินใจเองแม้ไม่ตรงกับคำแนะนำของพ่อแม่ก็ตาม พ่อแม่ลูกที่เข้าใจกลไกนี้ ยอมรับความจริง ก็จะอยู่กันด้วยความแช่มชื่น เข้าอกเข้าใจ ให้เกียรติกัน พ่อแม่ลูกที่ไม่เข้าใจกลไกนี้ ไม่ยอมรับความจริง ก็จะมีปัญหาระหว่างกันเนือง ๆ 

หรือเช่น คนสามสิบห้าคนได้รับการแต่งตั้งสมมติขึ้นให้เป็นคณะรัฐบาลบริหารประเทศ แท้จริงประเทศเป็นของประชาชนทุกคน แต่เมื่อคณะรัฐบาลได้รับการสมมติโดยชอบธรรม ก็ได้รับสิทธิโดยหน้าที่ที่จะวางแผน ตัดสินใจ ปฏิบัติการแทนคนหลายล้านคน เพื่อความผาสุกของประชาชนและความเจริญของประเทศ

หากรัฐบาลไม่ทำหน้าที่ หรือทำในสิ่งที่ไม่ชอบธรรมตามหน้าที่ หรือทำแล้วไม่ได้ผลดี ประชาชนเจ้าของประเทศก็มีสิทธิที่จะยกเลิกการสมมติ ยึดสิทธิโดยหน้าที่คืน แล้วสมมติคณะอื่นมาทำหน้าที่ตามวาระหรือลัดวาระตามความจำเป็น เป็นต้น

สิทธิโดยกรรม  กรรมสร้างสิทธิแห่งวิบากทั้งหลาย เช่น

คนให้ทานอุดมย่อมมีสิทธิที่จะร่ำรวย คนทรงศีลอุดมย่อมมีสิทธิที่จะสวยงาม คนภาวนาอุดมย่อมมีสิทธิที่จะมีปัญญาดี คนอุดมด้วยความอ่อนน้อมย่อมมีสิทธิที่จะเป็นที่รักที่ยอมรับ ได้รับการยกย่องให้เป็นใหญ่ คนขวนขวายในกิจผู้อื่นมากย่อมมีสิทธิที่จะมีมิตรมาก คนฟังความเป็นจริงมากย่อมมีสิทธิที่จะรอบรู้ คนแสดงสัจธรรมมากย่อมมีสิทธิที่จะแตกฉาน คนอุทิศส่วนกุศลมากย่อมมีสิทธิที่จะได้สิทธิพิเศษ คนอนุโมทนาส่วนกุศลมากย่อมมีสิทธิที่จะได้รับขบวนติดตาม คนปรับความเห็นให้ตรงสัจจะมากย่อมมีสิทธิที่จะบรรลุธรรม

ในขณะที่คนที่ฆ่าสัตว์มากย่อมมีสิทธิที่จะเจ็บป่วยบ่อยและลงนรก คนลักทรัพย์มากย่อมมีสิทธิที่จะยากจนและไปเป็นเปรต คนผิดกามมากย่อมมีสิทธิที่จะประสบความเสื่อมศรัทธาและลงนรก คนโกหกมากย่อมมีสิทธิที่จะเสียความน่าเชื่อถือ เสียมิตรและลงนรก คนส่อเสียดให้คนเข้าใจผิดกันมากย่อมมีสิทธิที่จะประสบความแตกแยกและลงนรก คนเพ้อเจ้อเหลวไหลมากย่อมมีสิทธิที่จะเหลาะแหละล้มเหลวและไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน คนเพ่งอยากได้สิทธิของคนอื่นโดยไม่ชอบโดยมากย่อมมีสิทธิที่จะสูญเสียและไปเป็นเปรต คนผูกโกรธมากย่อมมีสิทธิที่จะเศร้าหมองเครียดและลงนรก คนหลงผิดเหนียวแน่นย่อมมีสิทธิที่จะโง่งมและไปเป็นเดรัจฉานหรือลงนรก

เหล่านี้คือสิทธิพื้นฐานแห่งวิบากกรรม นอกจากนั้นยังมีสิทธิพิเศษตามการอธิษฐานเพิ่มเติมตามแต่ละกรณีไป

สิทธิโดยธรรม  เช่น ผู้ที่สำเร็จอรหันต์แล้วย่อมมีสิทธิเต็มบริบูรณ์ที่จะไม่เกิดในจักรวาลอีก ผู้ที่สำเร็จอนาคามีแล้วย่อมมีสิทธิเต็มบริบูรณ์ที่จะตรัสรู้ในสุทธาวาสพรหมไม่ต้องมาเกิดในโลกอีก ผู้ที่สำเร็จสกทาคามีย่อมมีสิทธิที่จะเกิดในโลกอีกหนึ่งชาติและมีสิทธิที่จะสำเร็จอรหันต์ในชาตินั้น ใครจะมาขวางไม่ให้เกิดหรือไม่ให้สำเร็จในชาตินั้นก็ไม่ได้ ผู้ที่สำเร็จโสดาบันย่อมมีสิทธิที่จะเกิดในโลกอีกเจ็ดชาติและมีสิทธิที่จะสำเร็จอรหันต์ในชาติเหล่านั้น ใครจะมายื้อไม่ให้เกิดนั้นไม่ได้  

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้มีสิทธิในการบริหารศาสนกิจและปกครองคณะสงฆ์โดยธรรม หากไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระอรหันต์เป็นผู้มีสิทธิ หากไม่มีพระอรหันต์ พระอนาคามีจึงมีสิทธิ หากไม่มีพระอนาคามี พระสกทาคามีจึงมีสิทธิ หากไม่มีพระสกทาคามี พระโสดาบันจึงมีสิทธิ หากไม่มีพระโสดาบัน พระผู้ทรงความรู้ (เปรียญปริญญา) จึงมีสิทธิ หากไม่มีพระผู้ทรงความรู้ พระปุถุชนที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่จึงมีสิทธิ

นี่คือสิทธิโดยธรรมตามลำดับความบริสุทธิ์ หากใครพยายามกลับหัวกลับหางก็จะประสบชะตากรรมดั่งพระเทวทัต

 

เกณฑ์การบริหารสิทธิ

เมื่อระบบสิทธิเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีหลักเกณฑ์ในการบริหารสิทธิ ดังนี้

หลักความชอบธรรม  ว่าด้วยที่มาของการได้มาซึ่งสิทธินั้นต้องถูกต้องโดยธรรม เช่น การเป็นผู้นำประเทศต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชน การเป็นผู้แทนของประชาชนต้องได้คะแนนมาโดยสุจริตปราศจากการซื้อเสียง เป็นต้น

หลักความเป็นธรรม  ว่าด้วยความสมคุณค่า เช่น สินราคาเป็นธรรมคือสินค้าที่ราคาสมคุณค่า  การจัดสรรอำนาจและประโยชน์ในการบริหารต้องสมคุณค่าแห่งภารกิจบุคคลและผลอันเกิดขึ้น การแบ่งมรดกต้องสมคุณค่าของทายาทแต่ละคน เป็นต้น

หลักศีลธรรม  ว่าด้วยความถูกต้องตามกฎแห่งกรรมที่บัญญัติว่าบุคคลจะละเมิดสิทธิผู้อื่นไม่ได้ หากละเมิดก็ต้องชดใช้ หากไม่ชดใช้ก็จะมีกลไกวิบากกรรมบังคับให้ชดใช้ ซึ่งดอกเบี้ยกรรมเป็นดอกเบี้ยที่แพงที่สุดในจักรวาล

หลักข้อตกลงโดยสมัครใจ  ว่าด้วยความตกลงยินยอมพร้อมใจในการมอบสิทธิ รับสิทธิ ร่วมสิทธิ ด้วยสติสัมปชัญญะอันบริบูรณ์ ปราศจากการแทรกแซง การหลอกล่อ ใช้กลฉ้อฉล หรือการข่มขู่ใด ๆ

นี่คือเกณฑ์การบริหารสิทธิทั้งหลายอย่างถูกต้อง  

 

ระบบบริหารสิทธิ 

เมื่อมีเกณฑ์การบริหารสิทธิอย่างถูกต้องแล้ว ก็ต้องมีระบบการจัดการสิทธิให้เป็นไปตามความถูกต้องนั้น จักรวาลและโลกได้พัฒนาสารพัดระบบมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ ได้ผลดีบ้าง ได้ผลเสียบ้าง ได้ทั้งดีทั้งเสียบ้าง

ระบบกรรม  กฎแห่งกรรมเป็นกฎหมายจักรวาล มีความเที่ยงธรรมสูงสุด เพราะระบบกรรมไม่เอาฐานะสมมติมาประกอบการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นเลขาธิการสหประชาชาติ ประธานาธิบดี พระราชามหากษัตริย์ ผู้พิพากษา นักบวช หรือบุคคลใด ๆ หากทำดีก็ไปสวรรค์เดียวกับนักบุญเช่นกัน หากทำบาปก็ลงนรกเดียวกับโจรเช่นกัน

ระบบเศรษฐกิจ  เช่น ระบบคอมมิวนิสต์  (ไม่ให้ประชาชนครอบครองสมบัติ สมบัติทั้งหมดเป็นของรัฐ ประชาชนต้องอาศัยรัฐอยู่ หรือเช่ารัฐอยู่ ทุกคนต้องทำงานสร้างผลผลิตจึงมีสิทธิต่าง ๆ ในสังคม)   ระบบเสรีทุนนิยม  (ให้ทุนเป็นเกณฑ์หลักในการครอบครองสิทธิ ประชาชนมีสิทธิแสวงหาทุนโดยเสรี ใช้ทุนแลกเปลี่ยนสิทธิต่าง ๆ ตามปรารถนา)  ระบบรัฐสวัสดิการ  (ให้รัฐเป็นตัวการในการปรับเกลี่ยสิทธิให้เท่าเทียมทั่วถึง แม้ทุนจะไม่เท่าเทียมกันก็ตาม) 

ระบอบการปกครอง  เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (กษัตริย์เป็นใหญ่) ระบอบเสรีประชาธิปไตย (ประชาชนเป็นใหญ่) ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (ประชาชนเป็นใหญ่กษัตริย์เป็นประมุข)  ระบอบสังคมนิยม  (สังคมเป็นใหญ่ บริหารโดยคณะบุคคลจากภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม)

ระบบกฎหมาย  เช่น กฎหมายบัญญัติโดยผู้นำ กฎหมายบัญญัติโดยตัวแทนของประชาชน  กฎหมายบัญญัติโดยตุลาการ กฎหมายบัญญัติโดยข้าราชการ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา ประกาศคณะปฏิวัติ กฎกระทรวง ระเบียบปฏิบัติ ข้อบังคับของศาล และอื่นใดก็ตาม ถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อควบคุมพฤติกรรมชนหมู่ใหญ่

หน้าที่ของผู้บัญญัติและผู้ปฏิบัติตามจะต้องพิจารณาเสมอ คือ กฎเหล่านั้น ชอบธรรม เป็นธรรม ถูกศีลธรรม หรือและเป็นข้อตกลงโดยสมัครใจหรือไม่ ในประเทศที่เจริญแล้ว หากกฎหมายไม่เป็นธรรม เมื่อมีกรณีไปสู่ศาล ศาลจะสั่งให้ยกฟ้องไป ไม่ใช่เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เพราะกฎหมายนั้นไม่ชอบธรรม หรือการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไม่เป็นธรรม

ระบบบริหาร  เช่น การบริหารรัฐกิจเพื่อความผาสุกของประชาชน การบริหารธุรกิจเพื่อความเป็นธรรมต่อลูกค้า บริษัท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

ระบบวัฒนธรรม  เช่น การส่งเสริมสิ่งดี ๆ ในสังคมให้คงอยู่ยาวนาน การป้องปรามสิ่งไม่ดีที่เป็นภัยต่อสังคม

ระบบครอบครัว  เช่น การบริหารครอบครัวเพื่อความสุขความเจริญของสมาชิกทุกคนในครอบครัว  

ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  เช่น  ประเทศที่ปรารถนามีสัมพันธไมตรีอันแน่นแฟ้นระหว่างกัน ต่างยอมยกดินแดนแปลงหนึ่งให้ประเทศพันธมิตรมาสร้างอาณาจักรน้อยในประเทศของกันและกัน เรียกว่าสถานทูต สถานทูตมีเอกสิทธิ์ทางการทูตเทียบเท่าประเทศคู่มิตรภาพ ประเทศเจ้าบ้านจะรุกล้ำสถานทูตไม่ได้ การรุกล้ำสถานทูตเทียบเท่าการรุกรานประเทศ จะนำมาซึ่งความขัดแย้งใหญ่หรือสงครามตามมาแล้วแต่กรณี

ระบบศาสนา  เช่น สังคมให้สิทธิแก่นักบวชให้บำเพ็ญเพียรแสวงหาความหลุดพ้น โดยไม่ต้องทำการงานอื่น ประชาชนจะบริจาคปัจจัยเลี้ยงดูเอง โดยมีกติกาว่า นักบวชต้องปฏิบัติตนให้หมดจดตามศีลธรรม ปฏิบัติธรรมจริงจัง เมื่อพ้นทุกข์แล้วก็มีหน้าที่พาประชาชนผู้เลี้ยงดูให้พ้นทุกข์

นักบวชจึงมีหน้าที่ปฏิบัติธรรมและปฏิบัติธรรมเท่านั้น จะไปปฏิบัติกิจทางโลก มุ่งหาลาภสักการะไม่ได้ ขืนทำก็จะพลัดไปรับสิทธิตามกรรมคือ ต้องไปเป็นสัตว์ใช้แรงทำงานทดแทน scholarship ที่ได้จากสังคมไป

ระบบวิวัฒนาการ  ปุถุชนผู้ไม่ศึกษาสัจธรรม ไม่ปฏิบัติธรรม ไม่สนใจบรรลุธรรม ก็มีสิทธิที่จะเกิดตายในวัฏฏะตามอัธยาศัย บ้างก็เลี้ยงกิเลสไว้ดูเล่น บ้างก็เลี้ยงกิเลสไว้กัดกัน บ้างก็เลี้ยงกิเลสไว้ดิ้นรนอยู่รอด  บ้างก็เลี้ยงกิเลสไว้โชว์ บ้างก็เลี้ยงกิเลสไว้ทำวิจัย บ้างก็เลี้ยงกิเลสไว้บ่มเพาะความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อได้ที่แล้วก็จะขวนขวายปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมบ้าง ซึ่งก็เป็นสิทธิแห่งการเรียนรู้พัฒนาไต่ระดับวิวัฒนาการของทุกชีวิตในจักรวาล

ไม่ว่ามนุษย์จะบัญญัติอะไรออกมา สิ่งซึ่งพึงสังวรไว้ตลอดเวลาคือกฎหมายของมนุษย์จะขัดแย้งกับกฎแห่งกรรมอันเป็นกฎหมายจักรวาลไม่ได้ ในทำนองเดียวกันกับข้อบังคับของจังหวัดจะขัดแย้งกับกฎหมายของประเทศไม่ได้

ดังนั้น หน้าที่ของทุกท่านคือ ต้องพิจารณาเสมอว่า กฎ ระบบ และการปฏิบัติตามกฎและระบบนั้น ชอบธรรม เป็นธรรม ถูกศีลธรรม หรือและเป็นข้อตกลงโดยสมัครใจของทุกคนที่เกี่ยวข้องเฉพาะกรณีนั้น ๆ หรือไม่  

 

การบริหารมนุษย์นานาพฤติกรรมแห่งนานาสิทธิ

เมื่อมีระบบสิทธิในจักรวาล ชีวิตทั้งหลายที่ปฏิสัมพันธ์กันด้วยสิทธิ มักจะมีพฤติกรรมต่อสิทธิของกันและกันนานาประการ คือ

การมอบสิทธิ  เช่น การมอบอำนาจทั้งหลายเป็นการมอบสิทธิให้ดำเนินการแทนตน หรือพ่อแม่มอบมรดกเป็นการมอบสิทธิในการครอบครองทรัพย์  ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนเป็นการมอบสิทธิให้มีอำนาจดำเนินการแทนประชาชน

การยอมรับสิทธิ  เช่น ผู้แทนที่ยอมรับผลการเลือกตั้งเข้ารายงานตัวต่อรัฐสภา เป็นการยอมรับสิทธิของประชาชนไปดูแลให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนที่เลือกตนเข้ามา หรือการที่บุคคลเข้าไปใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์ของบุคคลอื่นหรือบริษัทต่าง ๆ จะมีส่วนที่ให้ยอมรับข้อตกลงในการให้ บริการ ซึ่งเป็นการรักษาสิทธิของเจ้าของโปรแกรมเป็นหลัก หากยอมรับสิทธินั้นก็กด “ยอมรับ” จึงสามารถเข้าใช้โปรแกรมได้

การร่วมสิทธิ  เช่น การที่บ่าวสาวมาแต่งงานกันเป็นทั้งการมอบสิทธิของตนไปแชร์กับคนอื่นและเป็นการยอมรับสิทธิของคนอื่นมาอยู่ในความรับผิดชอบของตน เกิดการร่วมสิทธิในหลายเรื่องแห่งชีวิต 

ดังนั้น ก่อนแต่งต้องประเมินให้ดีว่าการที่เราจะเอาสิทธินานาประดามีไปลงทุนร่วมชีวิตกับบุคคลอื่นนั้น ความลงตัวโดยเกณฑ์ต่าง ๆ เหมาะสมแค่ไหน ผลโดยรวมจะดีกว่าดูแลสิทธิคนเดียวเพียงใด หากไม่คุ้มอยู่คนเดียวดีกว่า หากคุ้มทั้งคู่ ร่วมสิทธิกันดีกว่า

การละเมิดสิทธิ  คือ การใช้สอยทรัพย์สิทธิหรือบุคคลสิทธิของผู้อื่นโดยที่เจ้าของมิได้ยินยอมอนุญาต

การทับสิทธิ  เช่น การที่อุทยานแห่งชาติขีดเส้นแนวอุทยานทับแนวที่ดินในครอบครองของประชาชนแต่เดิม เป็นการทับสิทธิ และก่อให้เกิดปัญหาขัดแย้งกันหลายแห่ง ในที่สุดก็อะลุ่มอล่วยโดยให้ประชาชนและทายาทที่ถือครองแต่เดิมอยู่อาศัยไปตลอดชีวิต แต่ไม่อนุญาตให้รายใหม่เข้ามาถือครอง เป็นต้น

การล้ำสิทธิ  เช่น การที่ต้นไม้เป็นที่อยู่และอาหารของสรรพสัตว์ แต่มนุษย์ไปตัดต้นไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสรรพสัตว์ นั่นเป็นการล้ำสิทธิ หรือการที่ประชาชนเข้าไปหาของป่าในเขตป่าสงวนและอุทยานโดยผิดกฎหมาย นั่นก็เป็นการล้ำสิทธิ

หรือการที่ประชาชนปลูกบ้านล้ำเขตแม่น้ำลำคลองสาธารณะ นั่นก็เป็นการล้ำสิทธิ หรือการที่ทางการถมคลองสาธารณะทำถนนโดยไม่ทำทางน้ำลอดให้ นั่นก็เป็นการล้ำสิทธิชุมชน

การสวมสิทธิ  หรือการโอนสิทธิ เช่น การที่บุคคลมีสิทธิในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย หรือไม่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายได้ขายโอนสิทธินั้นให้แก่ผู้รับโอนสิทธิ ซึ่งผู้รับโอนสิทธิสามารถสวมสิทธิในการจดทะเบียนตามกฎหมายแทนผู้ถือสิทธิเดิมได้ (ซึ่งปรากฏมากในวงการอสังหาริมทรัพย์) หรือสวมสิทธิในการใช้สอยสิทธิแทนผู้ถือสิทธิเดิม

การดูดายสิทธิ  เช่น บุคคลที่ไม่ไปเลือกตั้งผู้แทนของตนทั้ง ๆ ที่มีสิทธิ หรือบุคคลมีสิทธิในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงดูดายทอดทิ้งสิทธินั้นไป

การไม่เคารพสิทธิ  เช่น บุคคลที่รังเกียจผู้อื่นด้วยเหตุแห่งความต่างเพศ ต่างวัย ต่างการศึกษาต่างฐานะ ต่างอาชีพ ต่างความคิด ต่างอุดมการณ์ ต่างพรรคพวก ต่างภาพลักษณ์ ต่างอุปนิสัย ต่างอัตลักษณ์ ต่างเป้าหมาย ต่างกลยุทธ์ ต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม ต่างวิวัฒนาการ และอื่น ๆ ประดามี นั่นคือการไม่เคารพสิทธิที่จะแตกต่างของบุคคล      

การซื้อขายสิทธิ  เช่น เมื่อบุคคลมีกรรมสิทธิในที่ดินก็สามารถขายแก่ผู้ปรารถนาสิทธินั้นได้ตามราคาที่พึงพอใจ และเห็นชอบทั้งสองฝ่าย  

แล้วการซื้อสิทธิขายเสียงเลือกตั้งล่ะ

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สิทธิการเลือกตั้งถือเป็นสิทธิเฉพาะบุคคล จะมอบ โอน หรือยกให้ผู้อื่นทำแทนไม่ได้ ต้องใช้ด้วยตนเองเท่านั้น ดังนั้น สิทธิประเภทนี้จึงไม่สามารถขายได้ เป็นสิทธิสมมติที่ให้กับพลเมืองของประเทศหนึ่ง ซึ่งหากใช้สิทธิโดยผิดต่อความชอบธรรมตามหน้าที่พลเมือง สิทธินั้นก็จะถูกถือเป็นโมฆะ และส่งผลให้ผู้ซื้อสิทธิขาดความชอบธรรมในการได้มาซึ่งตำแหน่ง จึงถูกศาลสั่งริบสิทธิ

การเพิกถอนสิทธิหรือริบสิทธิ  เช่น นักการเมืองที่ได้ตำแหน่งมาโดยไม่ชอบธรรม หรือใช้ตำแหน่งโดยไม่เป็นธรรม หรือนักบวชปาราชิก หรือบุคคลที่ออกเอกสารสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินโดยไม่ถูกต้อง เมื่อการวินิจฉัยโดยธรรมถึงที่สุดก็จะถูกเพิกถอนสิทธิ หรือริบสิทธิ

การโมเมสิทธิ  เช่น มนุษย์โมเมว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นอาหารของมนุษย์ จึงฆ่าสัตว์มาเป็นอาหาร  ครั้นแบคทีเรียและไวรัสโมเมกลับบ้างว่ามนุษย์ก็เป็นอาหารของแบคทีเรียไวรัสเช่นกัน มนุษย์กลับไม่ยอม หาทางต่อสู้ทุกทาง สู้อย่างไรก็ตายไปเป็นจำนวนมาก ตราบที่ยังไม่เลิกโมเม

การแย่งสิทธิ  เช่น การปฏิวัติรัฐประหารในแต่ละประเทศเป็นการแย่งสิทธิการปกครองจากผู้นำและรัฐบาลชุดเดิมเพื่อทำการบริหารแทน

การปล้นสิทธิ  เช่น ประเทศที่ต้องการทรัพยากรของประเทศอื่น ก็เอากองเรือ กองบิน ไปล่าอาณานิคม เพื่อปล้นสิทธิในทรัพยากรของประเทศนั้น ทั้ง ๆ ที่ตนไม่มีสิทธิ หรือการที่ไปเอาทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นมาแปลงเป็นของตนเอง ก็เป็นการปล้นสิทธิ

การข่มขืนสิทธิ  เช่น การกระทำชำเราทางเพศทั้งหลาย หรือการที่ประเทศที่ตั้งตนเป็นใหญ่ เอากำลังทหารอาวุธยุทโธปกรณ์ไปถล่มประเทศอื่นเพื่อโค่นล้มการปกครองเดิม ยึดอำนาจ จัดระบบการปกครองใหม่ตามปรารถนาของตน เมื่อถล่มจนพินาศ ยึดอำนาจได้แล้ว ก็เรียกเก็บค่าปฏิกรณ์สงครามจากประเทศที่ถูกถล่ม เป็นค่าอาวุธยุทโธปกรณ์ ค่าจ้างทหาร และอื่น ๆ ที่ใช้ในการถล่มประเทศนั้น ซึ่งผิดระบบกรรมโดยสิ้นเชิง เพราะโดยระบบกรรมคนที่ไปทำให้ผู้อื่นเสียหายจะต้องชดใช้ แต่นี่ไปบังคับให้ประเทศที่เสียหายต้องชดใช้

นั่นเป็นการข่มขืนสิทธิ หากสหประชาชาติไม่ล้างธรรมเนียมนี้ออกไปจากโลก โลกจะไม่มีวันสงบได้เลย เพราะจะยังมีประเทศที่ทำธุรกิจสงครามไม่รู้สิ้น

การแก้ไขปรากฏการณ์นี้ สมัชชาความมั่นคงสหประชาชาติต้องออกกฎบัตรสหประชาชาติใหม่ว่า ประเทศใดไปถล่มประเทศอื่นไม่ว่ากรณีใด ๆ ประเทศที่ไปถล่มต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทั้งชีวิตทหารประชาชนที่ตายและบาดเจ็บ การบูรณะเมือง การพัฒนาระบบ และอื่น ๆ เช่นนี้จึงเป็นธรรม และป้องกันการข่มขืนสิทธิระดับโลกได้        

การเรียกร้องสิทธิที่พึงได้  เช่น เจ้าของประเทศเดิมที่ถูกกดขี่ ลิดรอนสิทธิออกมาเรียกร้องสิทธิในเสรีภาพ และทรัพย์สินอันเป็นของเขาแต่เดิม นั่นเป็นการเรียกร้องสิทธิอันพึงได้ 

การต่อสู้เพื่อสิทธิ  หากเรียกร้องสิทธิอันพึงได้แล้วไม่ได้สิทธินั้น มนุษย์จะอึดอัดทนความไม่เป็นธรรมได้ไม่นานก็จะออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิ ดั่งที่ท่านมหาตมะคานธีพาชาวอินเดียออกมาอารยะขัดขืน ต่อสู้เพื่อสิทธิของเขาเองโดยชอบ อเมริกาทำสงครามประกาศอิสรภาพจากยุโรป อาหรับหัวรุนแรงทำการก่อการร้ายปลดแอกอเมริกา เป็นอาทิ

การเรียกร้องสิทธิที่ไม่มีแต่ควรจะมี  เช่น กฎหมายที่ไม่ชอบธรรมและไม่เป็นธรรม ลิดรอนสิทธิของประชาชนบางกลุ่มในการเลือกผู้นำประเทศหรือรับสวัสดิการ แม้ประชาชนจะไม่มีสิทธิตามกฎหมาย แต่มีสิทธิโดยธรรม จึงออกมาเรียกร้อง นี่คือการเรียกร้องสิทธิที่ไม่มีตามกฎหมาย แต่ควรมีโดยธรรม

การเรียกร้องเกินสิทธิ  เช่น พ่อแม่มีสิทธิเลี้ยงดูอบรมสั่งและสอนบุตร แต่เมื่อทำจนเคยชินพ่อแม่บางคนเรียกร้องแถมบังคับให้ลูกปฏิบัติตามความต้องการของตนเท่านั้น จะทำตามความต้องการของลูกไม่ได้เลย ทำตัวเลยเถิดพยายามเป็นเจ้าชีวิตของลูก ซึ่งโดยธรรมชาติและโดยธรรมเป็นไม่ได้เพราะมนุษย์ทุกคนเป็นเจ้าของชีวิตตนเอง แม้พ่อแม่ให้ชีวิตมา แต่เมื่อให้แล้ว ชีวิตก็เป็นของลูกแล้ว ช่วงเด็กเขาต้องพึ่งพ่อแม่ยังพึ่งตนไม่ได้ ก็ทำตามความต้องการของพ่อแม่ แต่เมื่อบุตรเริ่มพึ่งตนได้ ก็พยายามจะใช้ชีวิตของตนไม่ต้องเป็นภาระของพ่อแม่ตลอดไป พ่อแม่ที่ไม่เข้าใจหรือไม่ยอมรับธรรมชาตินี้ก็จะปวดใจมีปัญหากับลูกเป็นประจำ  

หรือพระราชา ถูกแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อรักษาความเป็นธรรม บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน จึงมีสิทธิที่จะจัดระเบียบสังคม กำหนดมาตรฐานพฤติกรรมกลางของประชาชน แต่ในสมัยโบราณพระราชาจำนวนหนึ่งพยายามทำตัวเป็นเจ้าชีวิตบงการประชาชน ประชาชนคนใดขัดคำสั่งหรือขัดพระทัยให้ไม่พอใจก็ประหารตามอำเภอใจ จนต้องถูกเปลี่ยนระบอบการปกครองไป เพราะเป็นการเรียกร้องและกระทำเกินสิทธิ เกินความชอบธรรม

การเรียกร้องสิทธิที่ไม่มีและไม่ควรจะมี  นี่คือคำตอบต่อคำถามที่ถามมา คือการที่บุคคลไม่มีสิทธิอยู่แล้วตั้งแต่ต้น และไม่ว่าโดยหลักอะไรก็ไม่ควรจะมีสิทธิ แต่ออกมาเรียกร้องต้องการสิทธิที่ไม่มีและไม่ควรจะมี ซึ่งเกิดได้จากหลายการปรุงแต่ง เช่น ความอยากก็ทำให้มนุษย์เรียกร้องในสิ่งที่ตนไม่มีสิทธิ มนุษย์จำนวนหนึ่งเผลอคิดไปว่าคนอื่นต้องทำตามความอยากของตน จึงเอาความอยากมาเรียกร้องให้คนอื่นปฏิบัติตามทั้ง ๆ ที่ไม่มีสิทธิ ด้วยเทคนิคนานา เช่น การหลอกล่อ การอ้อนวอน การกดดัน การกรรโชก การข่มขู่ ซึ่งผิดศีลธรรมและผิดกฎหมายโดยตรง ต้องผิดหวัง และมีปัญหาตามมาร่ำไป

การไม่รู้จักประมาณฐานะ  เช่น บุคคลบริจาคเงินให้วัดแล้วไปเรียกร้องสิทธิเป็นเจ้าของวัด ทั้ง ๆ ที่วัดเป็นของสงฆ์มีภารกิจคือให้ศึกษา ปฏิบัติ และบรรลุธรรม ไม่อาจยกสิทธิให้ใครได้

รวมทั้งองค์กรสาธารณกุศล มูลนิธิ สมาคมต่าง ๆ ก็เช่นกัน เป็นส่วนกลางเพื่อกอปรภารกิจแห่งการก่อตั้งองค์กรนั้น ภารกิจเป็นเจ้าขององค์กร ผู้ทำบุญกับองค์กรเหล่านี้ก็จะมีสิทธิในอานิสงส์ แต่จะไปเรียกร้องสิทธิในการเป็นเจ้าของไม่ได้ เพราะฐานะความเป็นเจ้าของ กับฐานะผู้รับอานิสงส์บุญเป็นคนละฐานะกัน ยกเว้นเสียแต่ว่าร่วมกอปรภารกิจให้สัมฤทธิ์ผลจึงมีสิทธิเข้าร่วมบริหารวัดหรือองค์กรนั้น ๆ ได้

ความหลงกาล  เช่น หากบุคคลระลึกชาติได้ว่าตนเคยเป็นพระราชา สร้างพระราชวังนั้น ๆ ขึ้นมา จึงไปเรียกร้องสิทธิในพระราชวังคืนจากพระราชาองค์ปัจจุบัน นั่นเป็นการเรียกร้องเพราะหลงกาล อดีตไม่ใช่ปัจจุบัน ปัจจุบันไม่ใช่อดีต สิทธิการครอบครองได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะกรรมสิทธิในสมบัติเป็นเพียงสิทธิสมมติชั่วกาลหนึ่ง เมื่อตายไปแล้วก็เป็นอันหมดสิทธิ สิทธิก็ตกเป็นของคนอื่นไป แม้ตนเป็นผู้สร้างแต่การเรียกร้องก็จะทำให้ถูกวินิจฉัยว่า “บ้า” ยกเว้นในสังคมที่ยึดถือระบบสิทธิข้ามภพชาติ เช่น ธิเบต การพิสูจน์ความจริงเพื่อเรียกร้องสิทธิในสมบัติและฐานะแต่ชาติปางก่อนสามารถทำได้โดยถูกวัฒนธรรม

ความหลงผิด  เช่นการที่เจ้าลัทธิทั้งหกในอินเดียยึดถือมิจฉาทิฐิ เมื่อพระพุทธเจ้าประกาศสัจธรรม ก็ไม่ยอมรับ เรียกร้องให้พระพุทธองค์เคารพนับถือตนและสิ่งที่ตนยึดถือ เมื่อพระพุทธเจ้าไม่ยอม ก็กลั่นแกล้งว่าร้ายบ่อนทำลายพระพุทธองค์นานา ในที่สุดก็ลงนรกหมด หรือที่เจ้าลัทธิเดิมในเยรูซาเล็มที่กระทำต่อพระเยซูจนจับพระเยซูตรึงกางเขน และเจ้าลัทธิในอาหรับเดิมกระทำต่อท่านโมฮัมหมัดจนเกิดสงครามความเชื่อต่อเนื่องก็เช่นกัน นั่นเป็นการเรียกร้องข่มขู่บังคับผู้อื่นพราะความหลงผิดของตน

การยึดถือระบบที่ผิด  เช่นที่วาติกันในยุคกลางปฏิเสธการค้นพบของกาลิเลโอที่พบว่าโลกกลมไม่ใช่แบน และสุริยะจักรวาลมีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่โลกเป็นศูนย์กลางตามความเชื่อดั้งเดิม แล้วเรียกร้องให้กาลิเลโอถอนคำพูด เลิกสอน กาลิเลโอไม่ยอม วาติกันจึงใช้โอกาสที่ทางการอยู่ในโอวาทของตน ไปขอร้องให้ทางการกักกันตัวกาลิเลโอให้อยู่แต่ในบ้านไม่ให้ออกไปไหน จนกระทั่งตาย ซึ่งต่อมาโลกก็พิสูจน์ว่ากาลิเลโอถูก วาติกันยุคนั้นผิด ทำให้วาติกันในยุคต่อมาต้องออกมาขอโทษกาลิเลโออย่างเป็นทางการ และเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ที่มนุษย์สามารถแสวงหาความเป็นจริงนอกเหนือความเชื่อดั้งเดิมได้ นั่นเป็นการเรียกร้องเพราะการยึดถือที่ผิด
      
การปรุงสิทธิมายาแห่งเสน่หา  พฤติกรรมเช่นนี้มักเกิดในหมู่คนล่ารัก โดยการปรุงเสน่หาให้เกิดขึ้น เมื่อเป็นที่เสน่หาแล้ว ก็เรียกร้องสิทธิที่ตนไม่มีให้มีแม้จะเบียดเบียนสิทธิของผู้อื่น

การบริหารที่ผิดพลาด  เช่น การบริหารด้วยวิธีปรนเปรอกิเลสสนองความต้องการจนทำให้คนที่ไม่มีสิทธิเข้าใจว่าตนมีสิทธิ จึงเรียกร้องสิทธินานา สร้างความไม่พอใจหรือถึงขั้นรังเกียจแก่ผู้มีสิทธิตัวจริงทั้งหลาย ในบรรยากาศเช่นนั้นจะเสียการปกครอง การบริหารจะพัง ถึงไม่พังก็ไม่เจริญ มีสงครามประสาทเกิดขึ้นให้แก้ไขรายวัน  

การยืนยันในสิทธิ  เช่น การพิสูจน์พยานหลักฐานในชั้นศาลเพราะต่างพยายามยืนยันในสิทธิของตน

การตั้งมั่นในสิทธิ  ได้แก่ ผู้ที่มีสิทธิมั่นคงแน่นอนถาวรแล้ว ย่อมตั้งมั่นในสิทธิ ไม่ออกไปเรียกร้องอะไร เช่นคนทำบุญย่อมได้อานิสงส์บุญโดยไม่ต้องเรียกร้อง คนทำบาปย่อมได้วิบากบาปโดยไม่ต้องเรียกร้อง

การทวงสิทธิโดยเจ้ากรรม  เช่น เมื่อบุคคลใดถูกกระทำโดยไม่ชอบธรรมก็ได้ชื่อว่าเป็นเจ้ากรรมตามระบบกรรม หรือเจ้าทุกข์ตามระบบกฎหมาย และมีสิทธิที่จะทวงสิทธิคืนตามความชอบธรรมเพื่อความเป็นธรรมได้    

การปรับเกลี่ยสิทธิโดยนายเวร  นายเวรคือคนปรับเกลี่ยความเป็นธรรมในจักรวาล มีหน้าที่จัดสรรคิวเจ้ากรรมให้มาพบลูกกรรมเพื่อทวงสิทธิคืน
และกำหนดวาระอันเหมาะสมให้ เช่นเดียวกับที่ผู้พิพากษาในโลกนี้พยายามเจรจาหาข้อตกลงให้กับคู่กรณีเช่นกัน ซึ่งมักจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเจ็บปวด

 

การป้องกันปัญหาทั้งปวงอันเนื่องด้วยสิทธิ

แท้จริงแล้วระบบกรรมทั้งปวงมีหน้าที่ป้องกันปัญหาอันว่าด้วยสิทธิ หากมีปัญหาก็จัดการให้เป็นธรรม หัวใจของศีลจึงเป็นระบบเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน หัวใจของกฎแห่งกรรมคือความเป็นธรรม นี่คือหลักแห่งกฎหมายจักรวาล
 
ทุกระบบในโลกต้องถูกต้องตามกฎแห่งกรรม บุคคลใดจะจัดระบบที่ขัดแย้งกับกฎแห่งกรรมไม่ได้ หากระบบใดขัดแย้งกับกฎแห่งกรรม ระบบนั้นใช้ไม่ได้ ขืนใช้ ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องรับกรรมอย่างไม่อาจหลีก เลี่ยงได้ นั่นหมายความว่าทุกระบบ ทั้งการปกครอง เศรษฐกิจ กฎหมาย การบริหาร วัฒนธรรม ธรรมเนียม ต้องเป็นไปเพื่อความเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน
    
หากมีการละเมิดสิทธิก็ต้องมีกระบวนการจัดการให้เป็นธรรม หากมนุษย์ไม่ยอมจัด เจ้ากรรมนายเวรจะจัดให้ภายหลัง ดังนั้นดีที่สุด มนุษย์ควรอยู่กันโดยธรรม มีความเป็นธรรมต่อกัน จะผาสุก มีสันติภาพ และปลอดภัยที่สุด เช่น เพื่อสันติภาพและความเป็นธรรมในระดับโลก สหประชาชาติพึงห้ามทุกประเทศพัฒนากองกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์ แล้วสหประชาชาติทำหน้าที่ดังกล่าวแทนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ ซึ่งจะเกิดผลดีหลายประการ คือ

1.  เป็นการยกระดับสหประชาชาติจากเสือกระดาษมาเป็นผู้บริหารจัดการควบคุมสันติภาพโลกตามปณิธานในการก่อตั้งสหประชาชาติอย่างแท้จริง

2.  ประเทศต่าง ๆ จะประหยัดงบกลาโหมได้มาก ซึ่งปกติใช้จ่ายราว 1-14% ของ GDP (ต่างกันตามภาวะสันติภาพและสงครามของแต่ละประเทศ) และสามารถนำงบดังกล่าวมาสร้างเศรษฐกิจให้เจริญ สร้างสังคมให้สงบสุขได้มากขึ้น

3.  ยุติระบบประเทศจ้าวโลกทำตัวครอบงำหรือพยายามครอบครองประเทศอื่น ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและสงครามย่อยตามมามาก

4.  ยุติระบบขั้วอำนาจในโลก เพราะไม่ว่าจะมีกี่ขั้ว ก็ย่อมมีความขัดแย้งและการหาพวกบ่อนทำลายกันเสมอ เมื่อยุติขั้วอำนาจได้ โลกจะได้เข้าสู่ยุคเจริญอย่างสงบสุข

อารยธรรมแห่งการเคารพสิทธิคือการป้องกันปัญหา ระบบความเป็นธรรมคือการจัดการกับปัญหาให้กลับมาเป็นธรรมบนฐานของความเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของทุกคน ทุกครอบครัว ทุกบริษัท ทุกองค์กร ทุกรัฐบาล ทุกภูมิภาค ทุกองค์กรประชาคมโลก เพราะทุกคนอยู่ในจักรวาลเดียวกันภายใต้กฎแห่งกรรมสากล
    
แม้จะมีหลักการว่าด้วยสิทธิสัมพันธ์ การจัดระบบสิทธิ ระบบระบอบการบริหารสิทธิ เทคนิควิธีการจัดการสิทธิ ระบบป้องกันปัญหาอันเนื่องด้วยสิทธิอย่างเที่ยงธรรมอย่างดีเพียงไร ปัญหาสิทธิก็ไม่เคยหมดไปจากโลกและจักรวาล เพราะสิทธิมาพร้อมภาระหน้าที่ ภาระหน้าที่ทำให้เกิดการครอบครอง การครอบครองทำให้เกิดความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบทำให้เกิดความอยากความไม่อยาก

ความอยากความไม่อยากที่ไม่ตรงกันทำให้เกิดความไม่ลงตัวกัน ความไม่ลงตัวทำให้เกิดการกระทบกระทั่ง การกระทบกระทั่งทำให้เกิดความขัดแย้ง ความขัดแย้งทำให้เกิดความบาดหมาง ความบาดหมางทำให้เกิดความต่างพวก ความต่างพวกทำให้เกิดการแข่งดีตีกัน การแข่งดีตีกันนำมาซึ่งสงครามนานารูปแบบ สงครามนำมาซึ่งความพินาศ ความพินาศนำมาซึ่งการเพิ่มระบบใหม่โปะเข้าไปในระบบเดิม จนกลายเป็นระบบซ้อนระบบ

ชีวิตที่ง่าย ๆ ตามธรรมชาติกลายเป็นชีวิตที่ยุ่งยาก ความสัมพันธ์ยุ่งเหยิง หมู่มนุษย์ที่มีชีวิตที่ยุ่งยาก อยู่กันด้วยความสัมพันธ์ยุ่งเหยิง จะอมทุกข์ขังตนไว้ในความเครียดตลอดเวลา เป็นวัฏฏะอันน่าสงสาร

 

อิสรภาพเหนือระบบสิทธิอันไร้ศานติ

เมื่อระบบสิทธิสร้างความวุ่นวายยุ่งเหยิงโกลาหล แม้จะจัดระบบมากี่ระบอบก็ไม่เคยทำให้สงบลงตัวได้สักที จึงมีผู้ปรารถนาอิสรภาพจากระบบสิทธิที่วุ่นวายทั้งหลาย นำมาซึ่งการสละสิทธิ

สละสิทธิโดยธรรมชาติ  เช่น ความตายบังคับให้ทุกคนสละสิทธิโดยธรรมชาติ เมื่อตายแล้วจะมาเรียกร้องสิทธิใด ๆ ไม่ได้ ดังนั้น หากไม่อยากหมดสิทธิก็ควรจัดสรรสิทธิของตนให้เรียบร้อยก่อนตาย

สละสิทธิโดยสำนึกรับผิดชอบ  เช่น พ่อแม่สละสิทธิในทรัพย์เพื่อมอบเป็นมรดกแก่บุตรบุตรีอย่างเป็นธรรม ผู้นำผู้บริหารสละสิทธิในตำแหน่งและอำนาจเพื่อมอบให้แก่ผู้มีความเหมาะสมคน
ต่อ ๆ ไป  

สละสิทธิด้วยเจตจำนงหมดจดยิ่งใหญ่  เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างพระเชตวันถวายพระพุทธเจ้า โดยปกติบุญใหญ่เพียงนั้นย่อมมีอานิสงส์มากมาย แต่ท่านไม่เคยเรียกร้องความสำคัญหรือใส่ใจอานิสงส์นั้นเลย ท่านสละออกเพื่อถวายอย่างหมดจดด้วยเจตจำนงยิ่งใหญ่ การสละนั้นจึง transform บุญเป็นบารมี ความต่างระหว่างบุญกับบารมีคือ บุญสร้างอานิสงส์ภายนอก ใช้แล้วหมดไปเมื่อครบทุกวาระ บารมีสร้างอำนาจภายในใจ ใช้ไม่มีวันหมด มีแต่งอกงามยิ่งขึ้น   

สละสิทธิด้วยมหากรุณา  เช่น พระพุทธเจ้าหลวงปิยมหาราชเมื่อขึ้นครองราชย์ทรงเป็นเจ้าแผ่นดิน ซึ่งยุคนั้นหมายถึงเป็นเจ้าของประเทศ สิทธิในบุคคลและไพร่ฟ้าข้าทาสทั้งหมด และมีพระราชอำนาจตัดสินใจเด็ดขาดแต่ผู้เดียว แต่ด้วยพระมหากรุณา พระองค์ทรงสละสิทธิเหล่านั้นจำนวนมากโดย 1) ทรงเลิกทาส  2) ทรงยกเลิกระบบเจ้าขุนมูลนาย 3) ทรงแต่งตั้งคณะ Committee ในการบริหารราชการแผ่นดิน นั่นคือการสละสิทธิด้วยมหากรุณา เป็นต้น

สละสิทธิด้วยมหาปัญญา  เช่น พระโพธิสัตว์รัชทายาทเห็นความเกิดแก่เจ็บตายและความทุกข์ของมวลมนุษย์ จึงสละสิทธิในราชบัลลังก์ออกบวชแสวงหาอมตภาพ เพื่อนำจิตใจสรรพสัตว์ทั้งหลายไปสู่ความอมตะ เป็นต้น

สละสิทธิด้วยความบริสุทธิ์  เช่น พระอริยะทั้งหลายสละสิทธิในกรรมที่จะทำให้ท่องอบาย พระอรหันต์ทั้งหลายสละสิทธิในบุญทั้งหมดที่ได้ทำมาแล้ว เพื่อเข้าพระนิพพาน เป็นต้น

ท่านที่สละสิทธิด้วยมหากรุณา มหาปัญญา และความบริสุทธิ์ เมื่อสละสิทธิในโลก ในกรรมแล้ว ท่านย่อมได้สิทธิโดยธรรมในระบบธรรมซึ่งหมดจด ศานติสุข ปราศจากการยื้อแย่ง และเป็นอมตะ
      
รู้คำตอบแล้ว เลือกเอาว่าจะเป็นพวกไหน จะบริหารพฤติกรรมของตนและหมู่คณะอย่างไรให้เกิดประโยชน์สุขสูงสุดอย่างยั่งยืนยาวนาน