Main navigation
งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
Share:

(๑) อรรถกถา สามัญญผลสูตร

นัยยที่ ๑

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงอาศัยความเป็นผู้กรุณาในสัตว์ทั้งหลาย แม้ทรงละซึ่งความสุขเกิดแต่วิเวกแสดงธรรม และเมื่อทรงแสดงธรรมนั้น น้อยก็ตาม มากก็ตาม ทรงแสดงชนิดมีความงามในเบื้องต้น เป็นต้น ทั้งนั้น

อธิบายว่า แม้ในเบื้องต้น ทรงแสดงทำให้งาม ไพเราะไม่มีโทษเลย แม้ในท่ามกลาง แม้ในที่สุด ก็ทรงแสดงทำให้งาม ไพเราะไม่มีโทษเลย

นัยยะที่ ๒

ในข้อที่กล่าวมาแล้วนั้น เทศนามีเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ศาสนาก็มีเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด จะกล่าวเทศนาก่อน

นัยยะที่ ๓

ในคาถาแม้มี ๔ บาท บาทแรกชื่อว่าเป็นเบื้องต้น สองบาทต่อจากนั้นชื่อว่าเป็นท่ามกลาง บาทเดียวในตอนท้ายชื่อว่าเป็นที่สุด

นัยยะที่ ๔

พระสูตรที่มีอนุสนธิเดียว มีนิทานเป็นเบื้องต้น มีคำว่า อิทมโวจ เป็นที่สุด คำระหว่างเบื้องต้นและที่สุดทั้ง ๒ เป็นท่ามกลาง

นัยยะที่ ๕

พระสูตรที่มีอนุสนธิมาก มีอนุสนธิแรกเป็นเบื้องต้น มีอนุสนธิในตอนท้ายเป็นที่สุด อนุสนธิหนึ่ง หรือสอง หรือมากในท่ามกลาง เป็นท่ามกลางทั้งนั้น

นัยยะที่ ๖

สำหรับศาสนา มีศีลสมาธิและวิปัสสนาชื่อว่าเป็นเบื้องต้น สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ก็อะไรเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ศีลที่บริสุทธิ์ดีและทิฏฐิที่ตรงเป็นเบื้องต้น

ก็อริยมรรคที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มัชฌิมาปฏิปทาที่ตถาคตตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้วมีอยู่ ดังนี้ ชื่อว่าเป็นท่ามกลาง

ผลและนิพพานชื่อว่าเป็นที่สุด จริงอยู่ ผลท่านกล่าวว่าเป็นที่สุด ในประโยคนี้ว่า แน่ะพราหมณ์ เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ นั่นเป็นสาระ นั่นเป็นที่สุด ดังนี้ นิพพานกล่าวว่าเป็นที่สุด ในประโยคนี้ว่า ดูก่อนท่านวิสาขะ บุคคลอยู่จบพรหมจรรย์ซึ่งหยั่งลงสู่นิพพาน มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด

แท้จริง ผลในคำว่า “พราหมณ์ ... พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุตติอันไม่กำเริบเป็นเป้าหมายเป็นแก่นเป็นที่สุด” นี้ ท่านเรียกว่าที่สุด

นิพพานในคำว่า “ท่านวิสาขะ ... เพราะพรหมจรรย์นี้มีนิพพานเป็นที่หยั่งลง มีนิพพานเป็นจุดหมาย มีนิพพานเป็นที่สุด” นี้ ท่านเรียกว่าที่สุด

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงธรรม ทรงแสดงศีลในเบื้องต้น ทรงแสดงมรรคในท่ามกลาง ทรงแสดงนิพพานในที่สุด ฉะนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ดังนี้

เพราะฉะนั้น ธรรมกถึกแม้อื่น เมื่อแสดงธรรมพึงแสดงศีลในเบื้องต้น แสดงมรรคในท่ามกลาง และแสดงนิพพานในที่สุด นี้เป็นหลักของธรรมกถึก


(๒) อรรถกถาติกนิทเทส ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ

ย่อมแสดงธรรมให้งาม ให้เจริญ คือให้ไม่มีโทษ คือปราศจากโทษในเบื้องต้น แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน

ภิกษุทั้งหลายเมื่อแสดงธรรมแก่เรา ย่อมแสดงธรรมให้งาม ให้เจริญ ให้ไม่มีโทษนั่นเทียว ทั้งในคำที่เริ่มต้นครั้งแรก ทั้งในคำที่มีในท่ามกลาง ทั้งในคำที่กล่าวไว้ในที่สุด

อนึ่ง ในที่นี้ ความงามแห่งพระธรรมเทศนาอันเป็นเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดมีอยู่ และความงามทั้ง ๓ อย่างนั้นแห่งศาสนาก็มีอยู่ ในบรรดาความงามแห่งเทศนา และความงามแห่งพระศาสนานั้น พึงทราบความงามแห่งเทศนาก่อน คือ

พระคาถา ๔ บทแห่งเทศนา บทแรกเรียกว่า เป็นความงามในเบื้องต้น สองบทต่อมาเรียกว่า เป็นความงามในท่ามกลาง บทสุดท้ายเรียกว่า เป็นความงามในที่สุด

สำหรับพระสูตรที่มีเรื่องเดียว นิทานเป็นความงามในเบื้องต้น อนุสนธิ คือการสืบต่อ เป็นความงามในท่ามกลาง วาจาที่กล่าวสุดท้ายว่า "อิทมโวจ" เป็นความงามในที่สุด

สำหรับพระสูตรที่มีอนุสนธิมาก คือมีเรื่องมาก (อเนกานุสนธิ) อนุสนธิแรกเป็นความงามในเบื้องต้น ต่อจากนั้นอนุสนธิหนึ่งก็ดี หลาย ๆ อนุสนธิก็ดี เป็นความงามในท่ามกลาง อนุสนธิสุดท้ายเป็นความงามในที่สุด. พึงทราบนัยแห่งพระธรรมเทศนาเพียงเท่านี้ก่อน

นัยยะที่ ๗

ก็สำหรับนัยแห่งพระศาสนา ศีลจัดเป็นความงามในเบื้องต้น สมาธิจัดเป็นความงามในท่ามกลาง วิปัสสนาจัดเป็นความงามในที่สุด

นัยยะที่ ๘

สมาธิเป็นความงามในเบื้องต้น วิปัสสนาเป็นความงามในท่ามกลาง มรรคเป็นความงามในที่สุด

นัยยะที่ ๙

อีกอย่างหนึ่ง วิปัสสนาเป็นความงามในเบื้องต้น มรรคเป็นความงามในท่ามกลาง ผลเป็นความงามในที่สุด

นัยยะที่ ๑๐

มรรคเป็นความงามในเบื้องต้น ผลเป็นความงามในท่ามกลาง นิพพานเป็นความงามในที่สุด

นัยยะที่ ๑๑

อีกอย่างหนึ่ง (ท่านจัดเป็นคู่) คือ ศีลกับสมาธิจัดเป็นความงามในเบื้องต้น วิปัสสนากับมรรคจัดเป็นความงามในท่ามกลาง ผลกับพระนิพพานจัดเป็นความงามในที่สุด


(๓) อรรถกถา เสลสูตร

ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย ทรงละความสุขเกิดแต่วิเวกแล้วทรงแสดงธรรม เมื่อทรงแสดงธรรมนั้นน้อยก็ตาม มากก็ตาม ทรงแสดงมีประการงามในเบื้องต้นเป็นอาทิ

ทรงแสดงอย่างไร เพราะแม้คาถาหนึ่งก็ทำความเจริญได้โดยรอบ งามในเบื้องต้นด้วยบทที่หนึ่งของธรรม งามในท่ามกลางด้วยบทที่สอง งามในที่สุดด้วยบทสุดท้าย

พระสูตรที่มีอนุสนธิเป็นอันเดียวกัน งามในเบื้องต้นด้วยนิทาน งามในที่สุดด้วยบทสรุป งามในท่ามกลางด้วยบทที่เหลือ

พระสูตรที่มีอนุสนธิต่างกัน งามในเบื้องต้นด้วยอนุสนธิต้น งามในที่สุดด้วยบทสุดท้าย งามในท่ามกลางด้วยบทที่เหลือ

ศาสนธรรมทั้งสิ้นงามในเบื้องต้นด้วยศีลอันเป็นประโยชน์ของตน งามในท่ามกลางด้วยสมถะวิปัสสนา มรรคและผล งามในที่สุดด้วยนิพพาน

นัยยะที่ ๑๒

อีกอย่างหนึ่ง งามในเบื้องต้นด้วยศีลและสมาธิ งามในท่ามกลางด้วยวิปัสสนาและมรรค งามในที่สุดด้วยผลและนิพพาน

งามในเบื้องต้นเพราะการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า งามในท่ามกลางเพราะพระธรรมเป็นธรรมที่ดี งามในที่สุดเพราะการปฏิบัติชอบของพระสงฆ์

นัยยะที่ ๑๓

งามในเบื้องต้นด้วยการตรัสรู้ยิ่ง เพราะฟังธรรมนั้นแล้วเห็นจริง เพราะผู้ปฏิบัติพึงบรรลุได้ งามในท่ามกลางด้วยการตรัสรู้ของพระปัจเจกพุทธเจ้า งามในที่สุดด้วยการตรัสรู้ของพระสาวก

นัยยะที่ ๑๔

อนึ่ง เมื่อฟังธรรมนั้นย่อมนำมาซึ่งความงามด้วยการฟัง เพราะข่มนิวรณ์เป็นต้นได้ เพราะฉะนั้น จึงงามในเบื้องต้น เมื่อปฏิบัติย่อมนำมาซึ่งความงามในการปฏิบัติ เพราะนำมาซึ่งความสุขอันเกิดแต่สมถะและวิปัสสนา เพราะฉะนั้น จึงงามในท่ามกลาง อนึ่ง ครั้นปฏิบัติอย่างนั้นแล้ว เมื่อสำเร็จผลแห่งการปฏิบัติ ย่อมนำมาซึ่งความงามด้วยผลแห่งการปฏิบัติ เพราะนำมาซึ่งความเป็นผู้คงที่ เพราะฉะนั้น จึงงามในที่สุด

นัยยะที่ ๑๕

อนึ่ง งามในเบื้องต้นเพราะเป็นแดนเกิดแห่งที่พึ่ง งามในท่ามกลางเพราะบริสุทธิ์ด้วยประโยชน์ งามในที่สุดเพราะบริสุทธิ์ด้วยกิจ

เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงธรรมน้อยก็ตามมากก็ตาม ย่อมทรงแสดงธรรมมีลักษณะอันงามในเบื้องต้น เป็นต้น


(๔) อรรถกถา เมตตคูมาณวกปัญหานิทเทส

งามในเบื้องต้น คือ เราแม้ละแล้วก็จักบอกธรรมอันเป็นความสุขเกิดแต่วิเวก หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้แก่ท่าน เมื่อเราบอกธรรมนั้นน้อยก็ตาม มากก็ตาม จักบอกประการมีธรรมงามในเบื้องต้นเป็นต้นแก่ท่าน

อธิบายว่า เราจักประกาศธรรมทำให้งามให้เจริญให้ไม่มีโทษในเบื้องต้น แม้ในท่ามกลาง แม้ในที่สุด เราก็จักประกาศธรรมทำให้เจริญ ทำให้ไม่มีโทษเหมือนกัน

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแม้คาถาหนึ่งใด คาถานั้นงามในเบื้องต้นด้วยบาทแรกของธรรม งามในท่ามกลางด้วยบาทที่สอง ที่สาม งามในที่สุดด้วยบาทที่สี่ เพราะเป็นคาถาที่เจริญครบถ้วน

พระสูตรที่มีอนุสนธิเป็นอันเดียวกัน งามในเบื้องต้นด้วยนิทาน งามในที่สุดด้วยบทสรุป งามในท่ามกลางด้วยบทที่เหลือ

พระสูตรที่มีอนุสนธิต่าง ๆ กัน งามในเบื้องต้นด้วยอนุสนธิที่หนึ่ง งามในที่สุดด้วยอนุสนธิสุดท้าย งามในท่ามกลางด้วยอนุสนธิที่เหลือ

นัยยะที่ ๑๖

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่างามในเบื้องต้น เพราะมีนิทานและมีเรื่องราวที่เกิดขึ้น ชื่อว่างามในท่ามกลาง เพราะมีอรรถไม่วิปริต และเพราะประกอบด้วยการยกเหตุขึ้นมาอ้าง โดยอนุรูปแก่เวไนยสัตว์ ชื่อว่างามในที่สุด เพราะทำให้ผู้ฟังทั้งหลายได้เกิดศรัทธา และเพราะบทสรุป

จริงอยู่ ศาสนธรรมทั้งสิ้นงามในเบื้องต้นด้วยศีลอันเป็นประโยชน์ของตน งามในท่ามกลางด้วยสมถะ วิปัสสนา มรรคและผล งามในที่สุดด้วยนิพพาน

หรืองามในเบื้องต้นด้วยศีลและสมาธิ งามในท่ามกลางด้วยวิปัสสนาและมรรค งามในที่สุดด้วยผลและนิพพาน

หรือชื่อว่างามในเบื้องต้น เพราะเป็นการตรัสรู้ดีของพระพุทธเจ้า ชื่อว่างามในท่ามกลาง เพราะพระธรรมเป็นธรรมดี ชื่อว่างามในที่สุด เพราะเป็นการปฏิบัติดีของสงฆ์.

ชื่อว่างามในเบื้องต้น เพราะอภิสัมโพธิญาณ อันผู้ฟังธรรมนั้นปฏิบัติ เพื่อความเป็นอย่างนั้นแล้วพึงบรรลุ ชื่อว่างามในท่ามกลาง เพราะปัจเจกโพธิญาณ (รู้เฉพาะตัว) ชื่อว่างามในที่สุด เพราะสาวกโพธิญาณ

ธรรมอันผู้ฟังนั้นย่อมนำความงามมาให้แม้ด้วยการฟัง เพราะข่มนิวรณ์เสียได้ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่างามในเบื้องต้น ธรรมอันผู้ปฏิบัติอยู่ ย่อมนำความงามมาให้แม้ด้วยการปฏิบัติ เพราะนำความสุขอันเกิดแต่สมถะและวิปัสสนามาให้ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่างามในท่ามกลาง เมื่อผลแห่งการปฏิบัติสำเร็จลงแล้ว ย่อมนำความงามมาให้แก่ผู้ปฏิบัติอย่างนั้น ๆ แม้ด้วยผลแห่งการปฏิบัติ เพราะนำมาซึ่งความเป็นผู้คงที่ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่างามในที่สุด

 

 

อ้างอิง :  
 
 

คำต่อไป