พระธรรมทินนาเถรี
ในสมัยพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ นางเกิดในเมืองหังสวดี ได้พบเห็นพระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งภิกษุณีรูปหนึ่งว่าเป็นเลิศทางธรรมกถึก นางจึงเปล่งวาจาปรารถนาตำแหน่งนี้ พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า ความปรารถนาของนางจะสำเร็จในพุทธสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม
ครั้งสมัยพระพุทธเจ้าปุสสะ นางอยู่ในเรือนของคนทำงานที่ถูกแต่งตั้งในตำแหน่งเป็นใหญ่เรื่องทาน เมื่อถูกสั่งว่าจงให้หนึ่ง แต่ก็ให้เสียสอง อย่างนี้ทุกครั้ง
ล่วงกัปที่ ๙๒ ในสมัยพระพุทธเจ้ากัสสปะ นางเป็นราชธิดาของพระเจ้ากิงกิ และได้ประพฤติพรหมจรรย์ถึง ๒๐,๐๐๐ ปี สร้างที่อยู่ถวายพระภิกษุสงฆ์ เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์พุทธันดรหนึ่ง
ในพุทธุปบาทกาลนี้ นางแต่งงานเป็นภรรยาของวิสาขเศรษฐี
ในครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จมายังกรุงราชคฤห์พร้อมกับหมู่ภิกษุขีณาสพชฏิลเก่า ได้ทรงแสดงธรรมถวายพระเจ้าพิมพิสารพร้อมกับบริษัทจำนวนแสนสองหมื่นคน ซึ่งวิสาขเศรษฐีก็เป็นหนึ่งในบริษัทนั้น เมื่อได้ฟังธรรมครั้งแรก วิสาขเศรษฐีสำเร็จโสดาปัตติผล และได้สำเร็จสกทาคามิผล และอนาคามิผลในการฟังธรรมวันถัดๆมา
เมื่อได้เป็นพระอนาคามีแล้ว พอกลับมาสู่เรือน ท่าทีของวิสาขเศรษฐีต่อนางธรรมทินนาก็เปลี่ยนแปลงไป ไม่ยิ้มแย้ม กลายเป็นคนสงบอินทรีย์ ไม่จับมือ ไม่รับประทานอาหารหรือนอนห้องเดียวกันกับนาง ทำให้นางคิดว่าวิสาขเศรษฐีมีความปรารถนาข้างนอก หรือคงถูกผู้ชอบยุแหย่ให้แตกกัน หรือตัวนางเองมีความผิดอะไร จึงได้ถามวิสาขเศรษฐี
วิสาขเศรษฐีคิดว่าโลกุตตรธรรมนี้เป็นภาระหนัก ไม่ควรเปิดเผย แต่หากไม่บอกนางธรรมทินนา นางอาจจะหัวใจแตกตายได้ จึงเล่าว่าตนได้ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วได้บรรลุโลกุตตรธรรม จึงไม่สามารถกระทำการแบบโลกๆ อย่างนี้ได้ และจะยกทรัพย์ที่มีทั้งหมดให้นางจัดการอย่างไรก็ได้ ให้นางอยู่ในตำแหน่งแม่ หรือน้องสาว หรือลูกสาว ส่วนตนจะขอเลี้ยงชีพด้วยก้อนข้าวที่นางให้เท่านั้น
นางธรรมทินนาจึงถามว่าผู้หญิงสามารถบรรลุโลกุตตรธรรมได้หรือไม่ ซึ่งวิสาขเศรษฐีตอบว่า ผู้ที่เป็นนักปฏิบัติ ย่อมเป็นทายาทของธรรมนั้น ผู้ที่มีอุปนิสัยก็ย่อมได้รับธรรมนั้น เมื่อได้ยินดังนั้น นางธรรมทินนาจึงขอบวช
ตั้งแต่วันที่นางบวชเป็นภิกษุณีแล้ว ลาภสักการะก็เกิดขึ้น ทำให้นางยุ่งจนไม่มีโอกาสทำสมณธรรม ดังนั้นพระเถรีที่เป็นอาจารย์และอุปัชฌาย์จึงพานางไปชนบท แล้วให้เรียนกัมมัฏฐานตามชอบใจในอารมณ์สามสิบแปดอย่าง เริ่มทำสมณธรรม นางซึ่งเป็นผู้มีอภินิหารสมบูรณ์จึงลำบากไม่นาน เพียงสองสามวันเท่านั้นก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
หลังจากนั้น ธรรมทินนาภิกษุณีได้พาภิกษุณีสงฆ์กลับมายังกรุงราชคฤห์ เพื่อให้พวกญาติได้ทำบุญ และภิกษุณีสงฆ์ก็ไม่ต้องลำบากด้วยปัจจัย
เมื่อวิสาขะเศรษฐีทราบข่าวว่า ธรรมทินนาภิกษุณีกลับมา จึงไปหานางที่สำนักนางภิกษุณี
ธรรมทินนาภิกษุณีได้แสดงธรรมแก่วิสาขอุบาสก ดังนี้
สักกายะ คือ อุปาทานขันธ์ ๕ ประกอบด้วย รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ และวิญญาณูปาทานขันธ์
สักกายสมุทัย คือ ตัณหาอันทำให้เกิดในภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัดยินดี เพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
สักกายนิโรธ คือ ความดับด้วยความคลายกำหนัดไม่มีเหลือ ความสละ ความสละคืน ความปล่อย ความไม่พัวพันด้วยตัณหานั้น
สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา คือ อริยะมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ปัญญาอันเห็น ชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ และความตั้งจิตไว้ชอบ
อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอย่างเดียวกันก็ไม่ใช่ จะเป็นคนละอย่างก็ไม่ใช่ แต่ความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอุปาทานในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นั้น
สักกายทิฏฐิ จะมีได้ โดยปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยะ และสัปบุรุษ ไม่ฉลาดและไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ และของสัปบุรุษ ย่อมตามเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณโดยความเป็นตนบ้าง ตามเห็นตนว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณบ้าง ตามเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณในตนบ้าง ตามเห็นตนในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณบ้าง อย่างนี้แล สักกายทิฏฐิจึงมีได้
สักกายทิฐิ จะไม่มีได้ โดยอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ ได้เห็นพระอริยะ และสัปบุรุษ ฉลาดและฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ และของสัปบุรุษ ย่อมไม่ตามเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณโดยความเป็นตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณบ้าง ไม่ตามเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณในตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณบ้าง อย่างนี้แล สักกายทิฏฐิจึงจะไม่มี
อริยะมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตะ ประกอบด้วย ปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ และความตั้งจิตไว้ชอบ
ส่วนขันธ์ ๓ ประกอบด้วย กองศีล กองสมาธิ กองปัญญา
อริยมรรคมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓ คือ
- วาจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ทรงสงเคราะห์ด้วย ศีลขันธ์
- ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งจิตไว้ชอบ ทรงสงเคราะห์ด้วย สมาธิขันธ์
- ปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ ทรงสงเคราะห์ด้วย ปัญญาขันธ์
ธรรมที่เป็นสมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว
ธรรมที่เป็นนิมิตของสมาธิ คือ สติปัฏฐาน ๔
ธรรมที่เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ คือ สัมมัปปธาน ๔
และการทำให้สมาธิเจริญ คือ ความเสพคุ้น ความเจริญ ความทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้น
สังขาร มี ๓ ประการ คือ กายสังขาร วจีสังขาร และจิตตสังขาร
1. กายสังขาร ได้แก่ ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า เนื่องจากเป็นธรรมมีในกาย เนื่องด้วยกาย
2. วจีสังขาร ได้แก่ วิตกและวิจาร เนื่องจากบุคคลย่อมตรึก ย่อมตรองก่อน แล้วจึงเปล่งวาจา
3. จิตตสังขาร ได้แก่ สัญญาและเวทนา เนื่องจากเป็นธรรมมีในจิต เนื่องด้วยจิต
การเข้าและออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ
ภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ไม่ได้มีความคิดว่าเราจะเข้า ว่าเรากำลังเข้าอยู่ หรือว่าเราเข้าแล้ว ซึ่งสัญ ญาเวทยิตนิโรธ ก็แต่ความคิดอันนำเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น อันท่านให้เกิดแล้วตั้งแต่แรก
โดยเมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ธรรม คือ วจีสังขารจะดับก่อน ต่อจากนั้นกายสังขารจะดับ ส่วนจิตตสังขารจะดับทีหลัง
ภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ไม่ได้มีความคิดว่าเราจะออก ว่าเรากำลังออก หรือว่าเราออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ก็แต่ความคิดอันนำเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น อันท่านให้เกิดแล้วแต่แรก
โดยเมื่อออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ธรรม คือ จิตตสังขารจะเกิดขึ้นก่อน ต่อ จากนั้นกายสังขารก็เกิดขึ้น ส่วนวจีสังขารจะเกิดขึ้นทีหลัง
ภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ย่อมถูกต้องด้วยผัสสะ ๓ ประการ ได้แก่
ผัสสะชื่อสุญญตะ (รู้สึกว่าว่าง) ผัสสะชื่ออนิมิตตะ (รู้สึกว่าไม่มีนิมิต) และผัสสะชื่ออัปปณิหิตะ (รู้สึกว่าไม่มีที่ตั้ง) และภิกษุนั้นมีจิตน้อมไปในวิเวก โอนไปในวิเวก เอนไปในวิเวก
เวทนามี ๓ ประการ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา
สุขเวทนา คือ ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขสำราญ อันเป็นไปทางกาย หรือเป็นไปทางจิต โดยสุขเวทนา เป็นสุขเพราะตั้งอยู่ เป็นทุกข์เพราะแปรไป
ทุกขเวทนา คือ ความเสวยอารมณ์ที่เป็นทุกข์ไม่สำราญ อันเป็นไปทางกาย หรือเป็นไปทางจิต โดยทุกขเวทนา เป็นทุกข์เพราะตั้งอยู่ เป็นสุขเพราะแปรไป
อทุกขมสุขเวทนา คือ ความเสวยอารมณ์ที่มิใช่ความสำราญ และมิใช่ความไม่สำราญ เป็นส่วนกลางมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ อันเป็นไปทางกาย หรือเป็นไปทางจิต โดยอทุกขมสุขเวทนา เป็นสุขเพราะรู้ชอบ เป็นทุกข์เพราะรู้ผิด
ราคานุสัย เป็นอนุสัยที่ตามนอนอยู่ในสุขเวทนาแต่ไม่ทั้งหมด และเป็นธรรมที่จะพึงละได้ในสุขเวทนาแต่ไม่ทั้งหมด
ปฏิฆานุสัย เป็นอนุสัยที่ตามนอนอยู่ในทุกขเวทนาแต่ไม่ทั้งหมด และเป็นธรรมที่จะพึงละได้ในทุกขเวทนาแต่ไม่ทั้งหมด
อวิชชา เป็นอนุสัยที่ตามนอนอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา และเป็นธรรมที่จะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนาแต่ไม่ทั้งหมด
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม จากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกมีวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกอยู่ ย่อมละราคานุสัยด้วยปฐมฌานนั้น ราคานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในปฐมฌานนั้น
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นอยู่ว่า เมื่อไร เราจะได้บรรลุอายตนะที่พระอริยะทั้งหลายบรรลุแล้วอยู่ในบัดนี้ เมื่อภิกษุนั้นเข้าไปตั้งความปรารถนาในวิโมกข์ทั้งหลายอันเป็นอนุตตรธรรมอย่างนี้ โทมนัสย่อมเกิดขึ้น เพราะความปรารถนาเป็นปัจจัย ท่านละปฏิฆะได้ด้วยความโทมนัสนั้น ปฏิฆานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในความโทมนัสนั้น
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ย่อมละอวิชชาได้ด้วยจตุตถฌานนั้น อวิชชานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในจตุตฌานนั้น
ราคะเป็นส่วนเปรียบแห่งสุขเวทนา
ปฏิฆะเป็นส่วนแห่งเปรียบแห่งทุกขเวทนา
อวิชชาเป็นส่วนเปรียบแห่งอทุกขมสุขเวทนา
วิชชาเป็นส่วนเปรียบแห่งอวิชชา
วิมุติเป็นส่วนเปรียบแห่งวิชชา
นิพพานเป็นส่วนเปรียบแห่งวิมุติ
ส่วนนิพพานไม่มีส่วนเปรียบ เพราะพรหมจรรย์หยั่งลงในพระนิพพาน มีพระนิพพานเป็นที่ถึงในเบื้องหน้า มีพระนิพพานเป็นที่สุด
ลำดับนั้น วิสาขอุบาสก ชื่นชม อนุโมทนา ภาษิตของธรรมทินนาภิกษุณี แล้วได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลเรื่องที่ตนสนทนาธรรมกถากับธรรมทินนาภิกษุณี
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ธรรมทินนาภิกษุณีเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก แม้เป็นพระองค์ก็พึงพยากรณ์เนื้อความนั้นเหมือนที่ธรรมทินนาภิกษุณีพยากรณ์แล้ว
อ่าน จูฬเวทัลลสูตร