Main navigation
ขันธ์ ๕
Share:

(๑) ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เพราะอะไรจึงเรียกว่ารูป

เพราะสลายไป จึงเรียกว่า รูป

สลายไปเพราะอะไร

สลายไปเพราะหนาวบ้าง เพราะร้อนบ้าง เพราะหิวบ้าง เพราะกระหายบ้าง เพราะสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานบ้าง

เพราะอะไร จึงเรียกว่า เวทนา

เพราะเสวย จึงเรียกว่า เวทนา

เสวยอะไร

เสวยอารมณ์สุขบ้าง เสวยอารมณ์ทุกข์บ้าง เสวยอารมณ์ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง

เพราะอะไร จึงเรียกว่า สัญญา

เพราะจำได้หมายรู้ จึงเรียกว่า สัญญา

จำได้หมายรู้อะไร

จำได้หมายรู้สีเขียวบ้าง สีเหลืองบ้าง สีแดงบ้าง สีขาวบ้าง

เพราะอะไรจึงเรียกว่า สังขาร

เพราะปรุงแต่งสังขตธรรม จึงเรียกว่า สังขาร

ปรุงแต่งสังขตธรรมอะไร

- ปรุงแต่งสังขตธรรม คือ รูป โดยความเป็นรูป
- ปรุงแต่ง สังขตธรรม คือ เวทนา โดยความเป็นเวทนา
- ปรุงแต่งสังขตธรรมคือ สัญญา โดยความเป็นสัญญา
- ปรุงแต่งสังขตธรรม คือ สังขาร โดยความเป็นสังขาร
- ปรุงแต่งสังขตธรรม คือ วิญญาณ โดยความเป็นวิญญาณ

เพราะอะไรจึงเรียกว่า วิญญาณ

เพราะรู้แจ้ง จึงเรียกว่า วิญญาณ

รู้แจ้งอะไร รู้แจ้งรสเปรี้ยวบ้าง รสขมบ้าง รสเผ็ดบ้าง รสหวานบ้าง รสขื่นบ้าง รสไม่ขื่นบ้าง รสเค็มบ้าง รสไม่เค็มบ้าง

(๒)  ภิกษุผู้มีจักษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเห็นขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้วโดยความเป็น (ขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว) จริง  ครั้นเห็นขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้วโดยความเป็นจริง  ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย  เพื่อคลายกำหนัด  เพื่อดับขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว  

อริยสาวกใดเห็นขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว และธรรมเป็นเครื่องก้าวล่วงขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้วโดยความเป็นจริง  ย่อมน้อมไปในนิพพานตามความเป็นจริง  เพราะภวตัณหาหมดสิ้นไป  ถ้าว่าอริยสาวกนั้นกำหนดรู้ขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว  ปราศจากตัณหา ในภพน้อยและภพใหญ่แล้วไซร้  ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่มาสู่ภพใหม่  เพราะความไม่เกิดแห่งอัตภาพที่เกิดแล้ว

(๓)  ขันธ์ทั้งหลาย ย่อมมีชื่อเรียกว่าขันธ์ ด้วยเหตุเหล่านี้

รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม นี่เป็นรูปขันธ์

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปภายในหรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม นี่เป็นเวทนาขันธ์

สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม นี่เป็นสัญญาขันธ์

สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม นี่เป็นสังขารขันธ์

วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม นี่เป็นวิญญาณขันธ์

เหตุ เป็นปัจจัยแห่งการบัญญัติขันธ์ทั้ง ๕

มหาภูตรูป ๔ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติรูปขันธ์

ผัสสะเป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติเวทนาขันธ์

ผัสสะเป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติสัญญาขันธ์

ผัสสะเป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติสังขารขันธ์

นามรูปเป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติวิญญาณขันธ์ 

คุณ โทษ ทางสลัดออกในขันธ์ทั้ง ๕ 

อาการที่สุขโสมนัสอาศัยรูปเกิดขึ้น นี้เป็นคุณในรูป
อาการที่รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษในรูป
อาการที่กำจัดฉันทราคะ ละฉันทราคะในรูปได้ นี้เป็นทางสลัดออกในรูป

อาการที่สุขโสมนัสอาศัยเวทนาเกิดขึ้น นี้เป็นคุณในเวทนา
อาการที่เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษในเวทนา
อาการที่กำจัดฉันทราคะ ละฉันทราคะในเวทนาได้ นี้เป็นทางสลัดออกในเวทนา

อาการที่สุขโสมนัสอาศัยสัญญาเกิดขึ้น นี้เป็นคุณในสัญญา
อาการที่สัญญาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษในสัญญา
อาการที่กำจัดฉันทราคะ ละฉันทราคะในสัญญาได้ นี้เป็นทางสลัดออกในสัญญา

อาการที่สุขโสมนัส อาศัยสังขารเกิดขึ้น นี้เป็นคุณในสังขาร
อาการที่สังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษในสังขาร
อาการที่กำจัดฉันทราคะ ละฉันทราคะในสังขารได้ นี้เป็นทางสลัดออกในสังขาร

อาการที่สุขโสมนัส อาศัยวิญญาณเกิดขึ้น นี้เป็นคุณในวิญญาณ
อาการที่วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษในวิญญาณ
อาการที่กำจัดฉันทราคะ ละฉันทราคะในวิญญาณได้ นี้เป็นทางสลัดออกในวิญญาณ

บุคคลเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงดังนี้ว่า

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม ทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา

เมื่อรู้ เมื่อเห็น อย่างนี้ จึงไม่มีอนุสัยคือความถือตัวว่าเป็นเราว่าของเราในกายอันมีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งหมดในภายนอก

อริยสาวกผู้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้วรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

(๔)  รูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย และวิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์  มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่ควรจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเรา

สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ ย่อมเห็นเบญจขันธ์นั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่ล่วงไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่มาถึง ทั้งเกิดขึ้นเฉพาะในบัดนี้ ที่เป็นภายในก็ดี ที่เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี ทั้งหมดก็เป็นแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา

ด้วยเหตุเท่านี้แหละ สาวกของเราจึงชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอน ทำถูกตามโอวาท ข้ามความสงสัยเสียได้ ปราศจากความแคลงใจอันเป็นเหตุให้กล่าวว่า ข้อนี้เป็นอย่างไร ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น อยู่ในคำสอนของศาสดาตน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นเบญจขันธ์ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ จึงพ้นแล้วเพราะไม่ถือมั่น 

ด้วยเหตุเท่านี้แหละ ภิกษุชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว มีประโยชน์ตนถึงแล้วโดยลำดับ มีสัญโญชน์อันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ


ขันธ์ ๕ ไม่เป็นไปในอำนาจ

(๕) ใคร ๆ ย่อมไม่ได้อำนาจในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ

ใคร ๆ ย่อมไม่ได้แก่นสารในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ


การพิจารณาขันธ์ ๕

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร โดยสาระว่าความเที่ยง เป็นแก่นสาร โดยสาระว่าความสุขเป็นแก่นสาร โดยสาระว่าตนเป็นแก่นสาร โดยความเที่ยง โดยความยั่งยืน โดยความมั่นคง หรือโดยมีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา

พิจารณาเห็นสังขารโดยเป็นของว่างเปล่าอย่างนี้

บุคคลย่อมเห็นรูป เวทนา สัญญาณ สังขาร วิญญาณ
โดยความที่ตนไม่เป็นใหญ่ ๑
โดยทำตามความชอบใจไม่ได้ ๑
โดยเป็นที่ตั้งแห่งความไม่สบาย ๑
โดยไม่เป็นไปในอำนาจ ๑
โดยเป็นไปตามเหตุ ๑
โดยว่างเปล่า ๑

บุคคลย่อมพิจารณาเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
โดยความว่าง ๑
โดยความเปล่า ๑
โดยความสูญ ๑
โดยไม่ใช่ตน ๑
โดยไม่เป็นแก่นสาร ๑
โดยเป็นดังผู้ฆ่า ๑
โดยความเสื่อม ๑
โดยเป็นมูลแห่งทุกข์ ๑
โดยมีอาสวะ ๑
โดยความเป็นขันธ์อันปัจจัยปรุงแต่ง ๑

ย่อมพิจารณาเห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ไม่ใช่สัตว์ ๑
ไม่ใช่ชีวิต ๑
ไม่ใช่บุรุษ ๑
ไม่ใช่คน ๑
ไม่ใช่มาณพ ๑
ไม่ใช่หญิง ๑
ไม่ใช่ชาย ๑
ไม่ใช่ตน ๑
ไม่ใช่ของที่เนื่องกับตน ๑
ไม่ใช่เรา ๑
ไม่ใช่ของเรา ๑
ไม่มีใคร ๆ ๑


พิจารณาขันธ์ ๕ ด้วยอาการ ๔๐

(๖) ภิกษุพิจารณาเห็นเบญจขันธ์

โดยความเป็นของไม่เที่ยง ๑
เป็นทุกข์ ๑
เป็นโรค ๑
เป็นดังหัวฝี ๑
เป็นดังลูกศร ๑
เป็นความลำบาก ๑
เป็นอาพาธ ๑
เป็นอย่างอื่น ๑
เป็นของชำรุด ๑
เป็นเสนียด ๑
เป็นอุบาทว์ ๑
เป็นภัย ๑
เป็นอุปสรรค ๑
เป็นความหวั่นไหว ๑
เป็นของผุพัง ๑
เป็นของไม่ยั่งยืน ๑
เป็นของไม่มีอะไรต้านทาน ๑
เป็นของไม่มีอะไรป้องกัน ๑
เป็นของไม่เป็นที่พึ่ง ๑
เป็นของว่าง ๑
เป็นของเปล่า ๑
เป็นของสูญ ๑
เป็นอนัตตา ๑
เป็นโทษ ๑
เป็นของมีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ๑
เป็นของหาสาระมิได้ ๑
เป็นมูลแห่งความลำบาก ๑
เป็นดังเพชฌฆาต ๑
เป็นความเสื่อมไป ๑
เป็นของมีอาสวะ ๑
เป็นของอันปัจจัยปรุงแต่ง ๑
เป็นเหยื่อแห่งมาร ๑
เป็นของมีความเกิดเป็นธรรมดา ๑
เป็นของมีความแก่เป็นธรรมดา ๑
เป็นของมีความป่วยไข้เป็นธรรมดา ๑
เป็นของมีความตายเป็นธรรมดา ๑
เป็นของมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ๑
เป็นของมีความร่ำไรเป็นธรรมดา ๑
เป็นของมีความคับแค้นใจเป็นธรรมดา ๑
เป็นของมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ๑

การพิจารณาเห็นเบญจขันธ์โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นอนิจจานุปัสนา

โดยความเป็นทุกข์ เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นโรค เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นดังหัวฝี เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นดังลูกศรเป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นความลำบาก เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นอาพาธ เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นอย่างอื่น เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นของชำรุด เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นเสนียด เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นอุบาทว์ เป็นทุกขาปัสนา

โดยความเป็นภัย เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นอุปสรรค เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นของหวั่นไหว เป็นอนิจจานุปัสนา

โดยความเป็นของผุพัง เป็นอนิจจานุปัสนา

โดยความเป็นของไม่ยั่งยืน เป็นอนิจจานุปัสนา

โดยความเป็นของไม่มีอะไรต้านทาน เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นของไม่มีอะไรป้องกัน เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นของไม่มีที่พึ่ง เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นของว่าง เป็นอนัตตานุปัสนา

โดยความเป็นของเปล่า เป็นอนัตตานุปัสนา

โดยความเป็นของสูญ เป็นอนัตตานุปัสนา

โดยความเป็นอนัตตา เป็นอนัตตานุปัสนา

โดยความเป็นโทษ เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นของมีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เป็นอนิจจานุปัสนา

โดยความเป็นของหาสาระมิได้ เป็นอนัตตานุปัสนา

โดยความเป็นมูลแห่งความลำบาก เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นดังเพชฌฆาต เป็นทุกขานุปัสนา

โดยเป็นความเสื่อมไป เป็นอนิจจานุปัสนา

โดยความเป็นของมีอาสวะ เป็นทุกขานุปัสนา

โดยเป็นของมีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นอนิจจานุปัสนา

โดยความเป็นเหยื่อแห่งมาร เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นของมีความเกิดเป็นธรรมดา เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นของมีความแก่เป็นธรรมดา เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นของมีความป่วยไข้เป็นธรรมดา เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นของมีความตายเป็นธรรมดา เป็นอนิจจานุปัสนา

โดยความเป็นของมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นของมีความร่ำไรเป็นธรรมดา เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นของมีความคับแค้นเป็นธรรมดา เป็นทุกขานุปัสนา

โดยความเป็นของมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา เป็นทุกขานุปัสนา


ไม่บัญญัติว่าสัตว์เพราะละขันธ์ ๕ ได้แล้ว

(๗) บุคคลเมื่อจะบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยรูปใด รูปนั้นอันตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้ไม่มีที่
ตั้ง ดุจตาลยอดด้วน กระทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา

ตถาคตพ้นจากการบัญญัติว่าเป็นรูป เป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยากดุจมหาสมุทร

บุคคลเมื่อจะบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยเวทนาใด เวทนานั้นอันตถาคตละได้แล้ว... ตถาคตพ้นจากการบัญญัติว่าเป็นเวทนา...

เมื่อบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยสัญญาใด สัญญานั้นอันตถาคตละได้แล้ว... ตถาคตพ้นจากการบัญญัติว่าเป็นสัญญา...

เมื่อบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยสังขารเหล่าใด สังขารนั้นอันตถาคตละได้แล้ว... ตถาคตพ้นจากการบัญญัติว่าเป็นสังขาร...

เมื่อบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยวิญญาณใดวิญญาณนั้นอันตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้ไม่มีที่ตั้ง ดุจตาล
ยอดด้วน กระทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา

ตถาคตพ้นแล้วจากการบัญญัติว่าเป็นวิญญาณ เป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก ดุจมหาสมุทร

ฉะนั้น คำว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็ดี ย่อมไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกและไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมไม่ควร

 

 

 

 

อ้างอิง: 
(๑)  ขัชชนิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๑๕๙ หน้า ๘๖-๘๗
(๒)  ทิฏฐิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๒๒๗ หน้า ๑๙๗
(๓)  มหาปุณณมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔  ข้อที่ ๑๒๓-๑๒๙ หน้า ๗๘-๘๔
(๔)  จูฬสัจจกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒  ข้อที่ ๓๙๘, ๔๐๑-๔๐๒ หน้า ๓๐๕, ๓๐๗
(๕) โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๐ ข้อที่ ๕๐๕
(๖) วิปัสสนากถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๗๓๕
(๗)  เขมาเถรีสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘  ข้อที่ ๗๖๐ หน้า ๓๗๙
 

คำต่อไป