Main navigation
ดิรัจฉานกถา
Share:

(๑) ดิ(ติ)รัจฉานกถา คือ การพูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้น ๆ

ซึ่งเป็นเรื่องเลวทราม เป็นเรื่องของชาวบ้าน เป็นเรื่องของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ภิกษุพึงเว้นขาดจากการพูดติรัจฉานกถา (มัชฌัมศีล)

(๒) เธอทั้งหลายจงอย่าพูดดิรัจฉานกถา ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะถ้อยคำนี้ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ก็เมื่อเธอทั้งหลายจะพูด พึงพูดว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะถ้อยคำนี้ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลาย พึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

 

อ้างอิง:
(๑) สามัญผลสูตร มัชฌิมศีล พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๑๑๐ หน้า ๖๓
(๒) ติรัจฉานกถาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๖๖๓ หน้า ๔๑๗-๔๑๘

 

คำต่อไป