Main navigation
โลก
Share:

(๑)  โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือ จิต

(๒)  โลกอันตัณหาย่อมนำไป  อันตัณหาย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือตัณหา

(๓)  โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้ วิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละตัณหาเสียได้ จึงต้ดเครื่องผูกไว้หมด

โลกมีความเพลิดเพลินประกอบไว้ ความตรึกไปต่างๆ เป็นเครื่องพิจารณา (เป็นเครื่องสัญจร) ของโลกนั้น เพราะละตัณหาได้เด็ดขาด ท่านจึงกล่าวว่า นิพพาน

(๔)  โลกอันมฤตยูปิดไว้ โลกตั้งอยู่แล้วในทุกข์ โลกอันตัณหาดักไว้ อันชราล้อมไว้

(๕)  โลกอันความอยากผูกไว้ เพราะกำจัดความอยากเสียได้จึงหลุดพ้น เพราะละความอยากได้ขาด จึงตัดเครื่องผูกได้ทั้งหมด

(๖)  เมื่ออายตนะ ๖ เกิดขึ้น โลกจึงเกิดขึ้น โลกย่อมทำความชมเชยในอายตนะ ๖ โลกยึดถืออายตนะ ๖ นั่นแหละ โลกย่อมเดือดร้อนเพราะอายตนะ ๖

(๗) โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้ โลกไม่แจ่มแจ้งเพราะความตระหนี่ เรากล่าวตัณหาว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น

(๘) โลกอันชรานำเข้าไป มิได้ยั่งยืน... โลกไม่มีที่ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่... โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป... โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่มเป็นทาสแห่งตัณหา

โลกอันชรานำเข้าไปไม่ยั่งยืน ก็เนื้อความแห่งภาษิตนี้จะพึงเห็นได้อย่างไร

เมื่อมีอายุ ๒๐ ปีก็ดี ๒๕ ปีก็ดี ในเพลงช้างก็ดี เพลงม้าก็ดี เพลงรถก็ดี เพลงธนูก็ดี เพลงอาวุธก็ดี ได้ศึกษาอย่างคล่องแคล่ว มีกำลังขา มีกำลังแขน มีตนสามารถ เคยเข้าสงครามมาแล้ว บางครั้งชสำคัญว่ามีฤทธิ์ ไม่เห็นใครจะเสมอด้วยกำลังของตน

เมื่อแก่แล้ว เจริญวัยแล้ว เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับแล้ว วัยล่วงเข้าแปดสิบ บางครั้งคิดว่า จักย่างเท้าที่นี้ ก็ไพล่ย่างไปทางอื่น

เนื้อความนี้แล ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงหมายถึง ตรัสธัมมุทเทสข้อที่หนึ่งว่า โลกอันชรานำเข้าไปไม่ยั่งยืน

โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน ก็เนื้อความแห่งภาษิตนี้จะพึงเห็นได้อย่างไร

เมื่อเจ็บหนัก บรรดามิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตแวดล้อมอยู่ ด้วยสำคัญว่า จักสวรรคต จะเรียกร้องให้ใครช่วยแบ่งเวทนานี้ไป เพื่อให้ได้เสวยเวทนาเบาลง ก็ไม่สามารถ ต้องเสวยเวทนานั้นเองแต่ผู้เดียว

เนื้อความนี้แล ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงหมายถึงตรัสธัมมุทเทสข้อที่สองว่า โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน

โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป ก็เนื้อความแห่งภาษิตนี้จะพึงเห็นได้อย่างไร

เดี๋ยวนี้ เอิบอิ่ม พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ ฉันใด จักไม่ได้ความประสงค์ว่า แม้ในโลกหน้า เราจะเป็นผู้เอิบอิ่ม พรั่งพร้อมกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ ฉันนั้น ที่แท้ ชนเหล่าอื่นจักปกครองโภคสมบัตินี้ ส่วนตนก็จักไปตามยถากรรม นี้แลคือโลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป

เนื้อความนี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงหมายถึงตรัสธัมมุทเทสข้อที่สามว่า โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป

โลกบกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา ก็เนื้อความแห่งภาษิตนี้จะพึงเห็นได้อย่างไร

เมื่อครอบครองกุรุรัฐอันเจริญอยู่ เมื่อมีราชบุรุษ กราบทูลว่าในทิศต่าง ๆ มีชนบทใหญ่ มั่งคั่งและเจริญ มีชนมาก มีพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า สัตว์อชินะที่ฝึกแล้ว รวมถึงเงินทองมากมาย และในชนบทนั้นมีสตรีปกครอง พระองค์อาจ จะรบชนะได้ด้วยกำลังพลประมาณเท่านั้น พระองค์ก็จะรบเพื่อเอาชนบทนั้นมาครอบครอง

เนื้อความนี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงหมายถึงตรัสธัมมุทเทสข้อที่สี่ว่า โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา


ความเกิดและความดับแห่งโลก

(๙) ก็ความเกิดแห่งโลกเป็นไฉน

ความเกิดแห่งโลกนั้น คือ

อาศัยจักษุและรูป
เกิดจักขุวิญญาณ
รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิดภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงเกิดชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะทุกข์ โทมนัส และอุปายาส

นี้เป็นความเกิดแห่งโลก

อาศัยหูและเสียง
เกิดโสตวิญญาณ
รวมธรรมทั้ง ๓ ประการเป็นผัสสะ ฯลฯ

อาศัยจมูกและกลิ่น
เกิดฆานวิญญาณ
รวมธรรมทั้ง ๓ ประการเป็นผัสสะ ฯลฯ

อาศัยลิ้นและรส
เกิดชิวหาวิญญาณ
รวมธรรมทั้ง ๓ ประการเป็นผัสสะ ฯลฯ

อาศัยกายและโผฏฐัพพะ
เกิดกายวิญญาณ
รวมธรรมทั้ง ๓ ประการเป็นผัสสะ ฯลฯ

อาศัยใจและธรรมารมณ์
เกิดมโนวิญญาณ 
รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิดภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย  จึงเกิดชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงเกิด

นี้แลเป็นความเกิดแห่งโลก

ก็ความดับแห่งโลกเป็นไฉน

ความดับแห่งโลกนั้น คือ

อาศัยจักษุและรูป
เกิดจักขุวิญญาณ
รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา 

เพราะตัณหานั้นแลดับเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้

นี้เป็นความดับแห่งโลก

อาศัยหูและเสียง
เกิดโสตวิญญาณ
รวมธรรมทั้ง ๓ ประการเป็นผัสสะ ฯลฯ

อาศัยจมูกและกลิ่น
เกิดฆานวิญญาณ
รวมธรรมทั้ง ๓ ประการเป็นผัสสะ ฯลฯ

อาศัยลิ้นและรส
เกิดชิวหาวิญญาณ
รวมธรรมทั้ง ๓ ประการเป็นผัสสะ ฯลฯ

อาศัยกายและโผฏฐัพพะ
เกิดกายวิญญาณ
รวมธรรมทั้ง ๓ ประการเป็นผัสสะ ฯลฯ

อาศัยใจและธรรมารมณ์
เกิดมโนวิญญาณ
รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา

เพราะตัณหานั้นแลดับเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการ
อย่างนี้

นี้แลเป็นความดับแห่งโลก

คุณของโลก โทษของโลก

(๑๐) เมื่อก่อนตรัสรู้ เราเป็นพระโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ได้คิดว่า อะไรหนอเป็นคุณในโลก อะไรหนอเป็นโทษในโลก อะไรหนอเป็นอุบายเครื่องออกไป

เรานั้นได้คิดว่า สุขโสมนัสอาศัยสภาพใดเกิดขึ้นในโลก สภาพนี้เป็นคุณในโลก

โลกไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษในโลก

การปราบปรามฉันทราคะ การละฉันทราคะได้เด็ดขาดในโลก นี้เป็นอุบายเครื่องออกไปในโลก

(๑๐) เราได้เที่ยวแสวงหาคุณของโลก ได้พบคุณในโลกนั้นแล้ว คุณในโลกมีประมาณเท่าใด เราได้เห็นคุณประมาณเท่านั้นด้วยปัญญาแล้ว

เราได้เที่ยวแสวงหาโทษของโลก เราได้พบโทษในโลกนั้นแล้ว โทษในโลกมีประมาณเท่าใด เราได้เห็นโทษประมาณเท่านั้นด้วยปัญญาแล้ว

เราเที่ยวแสวงหาอุบายเป็นเครื่องออกไปของโลก ได้พบอุบายเป็นเครื่องออกไปในโลกนั้นแล้ว อุบายเป็นเครื่องออกไปในโลกมีประมาณเท่าใด เราได้เห็นอุบายเครื่องออกไปประมาณเท่านั้นด้วยปัญญาแล้ว

(๑๐)(๑๑) ก็เรายังไม่รู้ยิ่งซึ่งคุณของโลกโดยเป็นคุณ ซึ่งโทษของโลกโดยความเป็นโทษ และซึ่งอุบายเป็นเครื่องออกไปของโลกโดยความเป็นอุบายเครื่องออกไป ตามความเป็นจริงเพียงใด เรายังไม่ปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์เพียงนั้น

ก็เมื่อใดเรารู้ยิ่งซึ่งคุณของโลกโดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษของโลกโดยความเป็นโทษ และซึ่งอุบายเป็นเครื่องออกไปของโลกโดยความเป็นอุบายเครื่องออกไป ตามความเป็นจริง เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ก็แหละญาณทัสสนะเกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้มีในที่สุด บัดนี้ภพใหม่ไม่มี

(๑๒) ก็ถ้าคุณในโลกนี้จักไม่มีแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงกำหนัดในโลก แต่เพราะคุณในโลกมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงกำหนัดอยู่ในโลก

ก็ถ้าโทษในโลกนี้ไม่มีแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายจะไม่พึงเบื่อหน่ายในโลก แต่เพราะโทษในโลกมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงเบื่อหน่ายในโลก

ก็ถ้าอุบายเครื่องออกไปในโลกนี้จักไม่มีแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงออกไปจากโลกได้ แต่เพราะอุบายเครื่องออกไปในโลกมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงออกไปจากโลกได้

สัตว์ทั้งหลายยังไม่รู้ซึ่งคุณของโลกโดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษของโลกโดยความเป็นโทษ และซึ่งอุบายเครื่องออกไปของโลกโดยเป็นอุบายเครื่องออกไปตามความเป็นจริงเพียงใด สัตว์ทั้งหลายจะออกไป หลุดไป พ้นไปจากโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก จากหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ มีใจปราศจากเขตแดนอยู่ ไม่ได้เพียงนั้น

ก็เมื่อใด สัตว์ทั้งหลายรู้ซึ่งคุณของโลกโดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษของโลกโดยความเป็นโทษ และซึ่งอุบายเครื่องออกไปของโลกโดยความเป็นอุบายเครื่องออกไป ตามความเป็นจริง เมื่อนั้น สัตว์ทั้งหลายย่อมออกไป หลุดไป พ้นไปจากโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก จากหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ มีใจปราศจากเขตแดนอยู่

(๑๓) สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดไม่ทราบชัดซึ่งคุณของโลกโดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษของโลกโดยความเป็นโทษและซึ่งอุบายเครื่องออกไปของโลกโดยความเป็นอุบายเครื่องออกไป ตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เราไม่ยกย่องว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ หรือว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ และท่านเหล่านั้น หาทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ และประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ไม่

ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดทราบชัดซึ่งคุณของโลกโดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษของโลกโดยความเป็นโทษ และซึ่งอุบายเครื่องออกไปของโลกโดยความเป็นอุบายเครื่องออกไป ตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เรายกย่องว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ หรือว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ และท่านเหล่านั้นย่อมทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ และประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

(๑๔) ผู้รู้แจ้งโลก

โลกตถาคตตรัสรู้แล้ว
ตถาคตพรากจากโลกแล้ว
เหตุเกิดแห่งโลกตถาคตตรัสรู้แล้ว
เหตุเกิดแห่งโลกตถาคตละได้แล้ว
ความดับแห่งโลกตถาคตตรัสรู้แล้ว
ความดับแห่งโลกตถาคตกระทำให้แจ้งแล้ว
ปฏิปทาอันยังสัตว์ให้ถึงความดับแห่งโลก ตถาคตตรัสรู้แล้ว
ปฏิปทาอันยังสัตว์ให้ถึงความดับแห่งโลกตถาคตให้เจริญแล้ว

ตถาคตเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์

(๑๕) ที่สุดแห่งโลก

ที่ใดเป็นที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ เราไม่พูดถึงที่นั้นอันเป็นที่สุดของโลกว่าควรรู้ ควรเห็น ควรบรรลุ ด้วยการเดินทาง

ก็ถ้าหากเรายังไม่บรรลุถึงที่สุดของโลกแล้ว ก็จะไม่กล่าวถึงการกระทำที่สุดทุกข์

ก็แต่ว่าเราบัญญัติเรียกว่าโลก เหตุให้เกิดโลก การดับของโลก และทางให้ถึงความดับโลก ในสรีระร่าง มีประมาณวาหนึ่งนี้ และพร้อมทั้งสัญญา พร้อมทั้งใจครอง

แต่ไหนแต่ไรมา ยังไม่มีใครบรรลุถึงที่สุดโลกด้วยการเดินทาง และเพราะที่ยังบรรลุถึงที่สุดโลกไม่ได้ จึงไม่พ้นไปจากทุกข์

เหตุนั้นแหละ คนมีปัญญาดี ตระหนักชัดเรื่องโลก ถึงที่สุดโลกได้ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว รู้จักที่สุดโลกแล้ว เป็นผู้ระงับแล้ว จึงไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า

(๑๖) โลกมีความแตกสลาย

ที่เรียกกันว่าโลก ๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอจึงเรียกกันว่า โลก

สิ่งใดมีความแตกสลายเป็นธรรมดา นี้เรียกว่าโลกในอริยวินัย (ที่เรียกว่าโลก เพราะจะต้องแตกสลาย)

ก็อะไรเล่ามีความแตกสลายเป็นธรรมดา

จักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส
มีความแตกสลายเป็นธรรมดา
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย
ก็มีความแตกสลายเป็นธรรมดา

โสตะ (หู) เสียง โสตวิญญาณ โสตสัมผัส
มีความแตกสลายเป็นธรรมดา
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะโสตสัมผัสเป็นปัจจัย
ก็มีความแตกสลายเป็นธรรมดา

ฆานะ (จมูก) กลิ่น ฆานวิญญาณ ฆานสัมผัส
มีความแตกสลายเป็นธรรมดา
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัสเป็นปัจจัย
ก็มีความแตกสลายเป็นธรรมดา

ชิวหา (ลิ้น) รส ชิวหาวิญญาณ ชิวหาสัมผัส
มีความแตกสลายเป็นธรรมดา
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัย
ก็มีความแตกสลายเป็นธรรมดา

กาย สัมผัส กายวิญญาณ กายสัมผัส
มีความแตกสลายเป็นธรรมดา
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัย
ก็มีความแตกสลายเป็นธรรมดา

ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส
มีความแตกสลายเป็นธรรมดา
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย
ก็มีความแตกสลายเป็นธรรมดา

สิ่งใดมีความแตกสลายเป็นธรรมดา นี้เรียกว่าโลกในอริยวินัย

(๑๗) โลกว่างเปล่า

ที่เรียกว่าโลกว่างเปล่า ๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า

เพราะว่างเปล่าจากตนหรือจากของ ๆ ตน ฉะนั้นจึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า

อะไรเล่าว่างเปล่าจากตนหรือจากของ ๆ ตน

จักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส
ว่างเปล่าจากตนหรือจากของ ๆ ตน
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย
ก็ว่างเปล่าจากตนหรือจากของ ๆ ตน

โสตะ (หู) เสียง โสตวิญญาณ โสตสัมผัส
ว่างเปล่าจากตนหรือจากของ ๆ ตน
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะโสตสัมผัสเป็นปัจจัย
ก็ว่างเปล่าจากตนหรือจากของ ๆ ตน

ฆานะ (จมูก) กลิ่น ฆานวิญญาณ ฆานสัมผัส
ว่างเปล่าจากตนหรือจากของ ๆ ตน
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัสเป็นปัจจัย
ก็ว่างเปล่าจากตนหรือจากของ ๆ ตน

ชิวหา (ลิ้น) รส ชิวหาวิญญาณ ชิวหาสัมผัส
ว่างเปล่าจากตนหรือจากของ ๆ ตน
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัย
ก็ว่างเปล่าจากตนหรือจากของ ๆ ตน

กาย สัมผัส กายวิญญาณ กายสัมผัส
ว่างเปล่าจากตนหรือจากของ ๆ ตน
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัย
ก็ว่างเปล่าจากตนหรือจากของ ๆ ตน

ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส
ว่างเปล่าจากตนหรือจากของ ๆ ตน
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย
ก็ว่างเปล่าจากตนหรือจากของ ๆ ตน

เพราะว่างเปล่าจากตนหรือจากของ ๆ ตน ฉะนั้นจึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า

(๑๘) บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงจะไม่เห็น

ท่านจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ
พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่าเถิด
จงถอนความตามเห็นว่าเป็นตัวตนเสียแล้ว
พึงเป็นผู้ข้ามพ้นมัจจุราชได้ด้วยอาการอย่างนี้
บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชจึงจะไม่เห็น

(๑๙) คำว่า โลก คือ นิรยโลก ติรัจฉานโลก ปิตติวิสยโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลก พร้อมทั้งเทวโลก

บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ

ด้วยสามารถความกำหนดว่าไม่เป็นไปในอำนาจ ๑
ด้วยสามารถการพิจารณาเห็นสังขารโดยเป็นของว่างเปล่า ๑.

บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ด้วยการกำหนดว่า ไม่เป็นไปในอำนาจอย่างไร

ใคร ๆ ย่อมไม่ได้อำนาจในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ

กายนี้ไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ทั้งไม่ใช่ของผู้อื่น กรรมเก่านี้อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีเจตนาเป็นมูลเหตุ ท่านทั้งหลายพึงเห็นว่าเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา

ในกายนั้นอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วย่อมมนสิการโดยแยบคายด้วยดีถึงปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละว่า เพราะเหตุดังนี้ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ก็เกิด เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ

บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ด้วยสามารถการกำหนดว่าไม่เป็นไปในอำนาจอย่างนี้

บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ด้วยการพิจารณาเห็นสังขารโดยความเป็นของว่างเปล่าอย่างไร

ใคร ๆ ย่อมไม่ได้แก่นสารในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร โดยสาระว่าความเที่ยง เป็นแก่นสาร โดยสาระว่าความสุขเป็นแก่นสาร โดยสาระว่าตนเป็นแก่นสาร โดยความเที่ยง โดยความยั่งยืน โดยความมั่นคง หรือโดยมีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา

บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ด้วยสามารถการพิจารณาเห็นสังขารโดยเป็นของว่างเปล่าอย่างนี้

อีกประการหนึ่ง บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญโดยอาการ ๖ อย่าง คือ

บุคคลย่อมเห็นรูป เวทนา สัญญาณ สังขาร วิญญาณ
โดยความที่ตนไม่เป็นใหญ่ ๑
โดยทำตามความชอบใจไม่ได้ ๑
โดยเป็นที่ตั้งแห่งความไม่สบาย ๑
โดยไม่เป็นไปในอำนาจ ๑
โดยเป็นไปตามเหตุ ๑
โดยว่างเปล่า ๑

อีกประการหนึ่ง บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญโดยอาการ ๑๐ อย่าง คือ

บุคคลย่อมพิจารณาเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
โดยความว่าง ๑
โดยความเปล่า ๑
โดยความสูญ ๑
โดยไม่ใช่ตน ๑
โดยไม่เป็นแก่นสาร ๑
โดยเป็นดังผู้ฆ่า ๑
โดยความเสื่อม ๑
โดยเป็นมูลแห่งทุกข์ ๑
โดยมีอาสวะ ๑
โดยความเป็นขันธ์อันปัจจัยปรุงแต่ง ๑

อีกประการหนึ่ง บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญโดยอาการ ๑๒ อย่าง คือ

ย่อมพิจารณาเห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ไม่ใช่สัตว์ ๑
ไม่ใช่ชีวิต ๑
ไม่ใช่บุรุษ ๑
ไม่ใช่คน ๑
ไม่ใช่มาณพ ๑
ไม่ใช่หญิง ๑
ไม่ใช่ชาย ๑
ไม่ใช่ตน ๑
ไม่ใช่ของที่เนื่องกับตน ๑
ไม่ใช่เรา ๑
ไม่ใช่ของเรา ๑
ไม่มีใคร ๆ ๑


ความเกิดและความดับแห่งโลก

(๒๐) ก็ความเกิดแห่งโลกเป็นไฉน

เพราะอาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ
ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิดภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงเกิดชราและมรณะ
โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส

นี้แลเป็นความเกิดแห่งโลก

เพราะอาศัยหูและเสียง...
เพราะอาศัยจมูกและกลิ่น...
เพราะอาศัยลิ้นและรส...
เพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ...
เพราะอาศัยใจและธรรม จึงเกิดมโนวิญญาณ
ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา ฯลฯ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงเกิดชราและมรณะ
โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส

นี้แลเป็นความเกิดแห่งโลก

ก็ความดับแห่งโลกเป็นไฉน

เพราะอาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ
ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา
เพราะตัณหานั้นเทียวดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

นี้แลเป็นความดับแห่งโลก

เพราะอาศัยหูและเสียง ...
เพราะอาศัยจมูกและกลิ่น...
เพราะอาศัยลิ้นและรส...
เพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ...
เพราะอาศัยใจและธรรม จึงเกิดมโนวิญญาณ
ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา
เพราะตัณหานั้นเทียวดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลืออุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ฯลฯ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

นี้แลเป็นความดับแห่งโลก

(๒๑) เมื่อวิญญาณมี นามรูปจึงมี
เมื่อนามรูปมี สฬายตนะจึงมี
เมื่อสฬายตนะมี ผัสสะจึงมี
เมื่อผัสสะมี เวทนาจึงมี
เมื่อเวทนามี ตัณหาจึงมี
เมื่อตัณหามี อุปาทานจึงมี
เมื่ออุปาทานมี ภพจึงมี
เมื่อภพมี ชาติจึงมี
เมื่อชาติมี ชราและมรณะจึงมี

อริยสาวกนั้นย่อมรู้ประจักษ์อย่างนี้ว่า โลกนี้ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้

เมื่อวิญญาณไม่มี นามรูปจึงไม่มี

เมื่อนามรูปไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี
เมื่อสฬายตนะไม่มี ผัสสะจึงไม่มี
เมื่อผัสสะไม่มี เวทนาจึงไม่มี
เมื่อเวทนาไม่มี ตัณหาจึงไม่มี
เมื่อตัณหาไม่มี อุปาทานจึงไม่มี
เมื่ออุปาทานไม่มี ภพจึงไม่มี
เมื่อภพไม่มี ชาติจึงไม่มี
เมื่อชาติไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี

อริยสาวกนั้นย่อมรู้ประจักษ์อย่างนี้ว่า โลกนี้ย่อมดับอย่างนี้

ในกาลใดแล อริยสาวกรู้ทั่วถึงเหตุเกิดและความดับไปแห่งโลกตามเป็นจริงอย่างนี้ ในกาลนั้น อริยสาวกนี้ เราเรียกว่าเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทิฐิบ้าง เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทัศนะบ้าง เป็นผู้มาถึงสัทธรรมนี้บ้าง เห็นสัทธรรมนี้บ้าง เป็นผู้ประกอบด้วยญาณอันเป็นเสขะบ้าง เป็นผู้ประกอบด้วยวิชชาอันเป็นเสขะบ้าง เป็นผู้บรรลุกระแสแห่งธรรมบ้าง เป็นพระอริยะมีปัญญาเครื่องชำแรกกิเลสบ้าง ว่าอยู่ชิดประตูอมตนิพพานบ้าง


(๒๒) บางพวกมักเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย บางพวกมักไม่เห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย

บุคคลผู้มีศรัทธาเป็นผู้มักเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย บุคคลผู้ไม่มีศรัทธาเป็นผู้มักไม่เห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย

บุคคลผู้มีความเพียรเป็นผู้มักเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย บุคคลผู้เกียจคร้านเป็นผู้มักไม่เห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย

บุคคลผู้มีสติตั้งมั่นเป็นผู้มักเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย บุคคลผู้มีสติหลงลืมเป็นผู้มักไม่เห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย

บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นเป็นผู้มักเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย บุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นเป็นผู้มักไม่เห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย

บุคคลผู้มีปัญญาดีเป็นผู้มักเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย บุคคลผู้มีปัญญาทรามเป็นผู้มักไม่เห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย

คำว่า โลก อธิบายว่า ขันธโลก (โลกคือขันธ์) ธาตุโลก (โลกคือธาตุ) อายตนโลก(โลกคืออายตนะ) วิปัตติภวโลก (โลกคือภพวิบัติได้แก่อบายโลก) วิปัตติสัมภวโลก (โลกคือสมภพวิบัติได้แก่กรรมที่ให้เกิดในอบายโลก) สัมปัตติภวโลก (โลกคือภพสมบัติได้แก่สุคติโลก) สัมปัตติสัมภวโล (โลกคือสมภพสมบัติได้แก่กรรมที่ให้เกิดในสุคติโลก)

โลก ๑ คือ สัตว์โลกทั้งปวงดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร
โลก ๒ คือ นาม ๑ รูป ๑
โลก ๓ คือ เวทนา ๓
โลก ๔ คือ อาหาร ๔
โลก ๕ คือ อุปาทานขันธ์ ๕
โลก ๖ คือ อายตนะภายใน ๖
โลก ๗ คือ วิญญาณัฏฐิติ ๗
โลก ๘ คือ โลกธรรม ๘
โลก ๙ คือ สัตตาวาส ๙
โลก ๑๐ คือ อายตนะ ๑๐
โลก ๑๒ คือ อายตนะ ๑๒
โลก ๑๘ คือ ธาตุ ๑๘


(๒๓)โลก มี ๓ คือ

สัตวโลก ๑
สังขารโลก ๑
โอกาสโลก ๑

หมู่สัตว์ทั้งหลายที่เนื่องด้วยอินทรีย์ที่เป็นไปด้วยสามารถแห่งการสืบต่อแห่งรูปธรรม อรูปธรรม และทั้งรูปธรรมและอรูปธรรม ชื่อว่าสัตวโลก

โลกที่แยกประเภทออกไปเป็น พื้นดินและภูเขาเป็นต้น ชื่อว่าโอกาสโลก

ขันธ์ทั้งหลายในโลกทั้งสอง ชื่อว่าสังขารโลก

 

 

อ้างอิง:
(๑)  จิตตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๑๘๑ หน้า ๔๖
(๒)  ตัณหาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๑๘๓ หน้า ๔๗
(๓)  พันธนสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๑๘๗ หน้า ๔๗
      อุทยปัญหา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๔๓๗ หน้า ๔๐๙
(๔)  ปิหิตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๑๙๓ หน้า ๔๘
(๕)  อิจฉาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๑๙๕ หน้า ๔๙
(๖)  โลกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๑๙๗ หน้า ๔๙
(๗) อชิตปัญหา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๔๒๕ หน้า ๓๙๗
(๘) มหากรุณาญาณนิทเทส ปฏิสัมภิทามรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๒๘๕ หน้า ๑๐๑
      ธัมมุทเทส ๔ รัฐปาลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๔๔๖-๔๕๐ หน้า ๓๐๙-๓๑๓
(๙) โลกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๑๕๖-๑๕๗ หน้า ๘๙-๙๐
      โลกนิโรธสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๑๖๔-๑๖๕
(๑๐)  ปุพพสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๔๓ หน้า ๒๔๕
(๑๑)  มนุสสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๔๔ หน้า ๒๔๕-๒๔๖
(๑๒) อัสสาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๔๕ หน้า ๒๔๖
(๑๓) สมณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๔๖ หน้า ๒๔๗
(๑๔) โลกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๒๓ หน้า ๒๓-๒๔
(๑๕) โรหิตัสสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๒๙๘ หน้า ๗๙
(๑๖) ปโลกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๑๐๑ หน้า ๕๓
      โลกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๙๘ หน้า ๕๑-๕๒
(๑๗) สุญญสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๑๐๒ หน้า ๕๓-๕๔
(๑๘) โมฆราชปัญหาที่ ๑๕ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๔๓๙
(๑๙) โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๐ ข้อที่ ๕๐๕
(๒๐) โลกนิโรธสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๑๖๔-๑๖๕ หน้า ๗๑-๗๒
(๒๑) อริยสาวกสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๑๗๘-๑๘๒ หน้า ๗๖-๗๗
(๒๒) อินทริยปโรปริยัตตญาณนิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๑๑๑-๑๑๒
 
 

คำต่อไป