Main navigation
ราคะ
Share:

(๑) ราคะคือ ความกำหนัด ความยินดี ความชอบใจ ความเพลิน ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน  ความที่จิตกำหนัดนัก อภิชฌา โลภะ

(๒) วิตกอันลามกด้วยการยึดถือนิมิตว่างาม ประกอบด้วยราคะ ย่อมเบียดเบียนแม้ผู้มีปัญญายินดีแล้วในคุณธรรมของฤาษี.

ราคะนี้เกิดขึ้นในสรีระ เกิดขึ้นมาแล้วเป็นของทำลายวรรณะ กามเหล่านั้นทำแต่ความมืดให้ มีทุกข์มาก มีพิษใหญ่หลวง

(๓) สัตว์อันลูกศรราคะปักติดแล้ว ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ

ย่อมฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง ตัดที่ต่อบ้าง ปล้นโดยไม่เหลือบ้าง ปล้นเฉพาะเรือนหลังเดียวบ้าง ดักแย่งชิงที่ทางเปลี่ยวบ้าง คบชู้ภรรยาบุรุษอื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง

สัตว์อันลูกศรราคะปักติดแล้ว ย่อมแล่น แล่นพล่าน วนเวียน ท่องเที่ยวไป เมื่อแสวงหาโภคทรัพย์ ย่อมแล่นไปสู่มหาสมุทรด้วยเรือ ฝ่าหนาว ฝ่าร้อน ถูกสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลานเบียดเบียน ถูกความหิวกระหายเบียดเบียน

เดินทางที่ต้องไปด้วยเข่า ด้วยแพะ ด้วยแกะ โหนไปด้วยเชือกและหลัก โดดลงด้วยร่มหนังแล้วจึงเดินไปได้ ด้วยพะองไม้ไผ่ เดินทางตามทางนก ตามทางหนู ตามซอกภูเขา ตามลำธารที่ต้องไต่ไปตามเส้นหวาย

เมื่อแสวงหาไม่ได้ ก็เสวยทุกข์โทมนัสมีความไม่ได้เป็นมูล

เมื่อแสวงหาได้ ก็เสวยทุกข์โทมนัสมีความรักษาเป็นมูล ด้วยวิตกอยู่ว่า ด้วยอุบายอะไรหนอ พระราชาจึงจะไม่ริบทรัพย์ของเราไป พวกโจรจะไม่ลักไป ไฟจะไม่ไหม้ น้ำจะไม่พัดไป พวกทายาทอัปรีย์ไม่เอาไปได้. เมื่อเขารักษาคุ้มครองอยู่อย่างนี้ ทรัพย์เหล่านั้นย่อมวิบัติไป.

เขาก็เสวยทุกข์โทมนัสแม้มีการพลัดพรากทรัพย์เป็นมูล

สัตว์อันลูกศรราคะปักติดแล้ว ย่อมแล่น แล่นพล่านวงเวียน ท่องเที่ยวไปอย่างนี้

(๔) เพื่อรู้ราคะด้วยปัญญาอันยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไปรอบ เพื่อละ เพื่อความสิ้นไป เพื่อความเสื่อมไป เพื่อความสำรอก เพื่อความดับ เพื่อความสละคืนราคะ จึงควรเจริญธรรม ๓ ประการ คือ สุญญตสมาธิ ๑ อนิมิตตสมาธิ ๑ อัปปณิหิตสมาธิ ๑  

(๕) ธรรม ๔ ประการควรเจริญ เพื่อความรู้ เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละ เพื่อความเสื่อม เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสละ เพื่อสละคืน ซึ่งราคะยิ่งราคะ

สติปัฏฐาน ๔

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ๑
ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ๑
ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิต ๑
ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม ๑

มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ 

สัมมัปธาน ๔

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้

เพื่อไม่ให้อกุศลบาปธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ๑
เพื่อละอกุศลบาปธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑
เพื่อให้กุศลที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ๑
เพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน เพื่อความมียิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑

อิทธิบาท ๔

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วย

ฉันทสมาธิ และปธานสังขาร ๑
วิริยสมาธิ และปธานสังขาร๑
จิตตสมาธิ และปธานสังขาร ๑
วิมังสาสมาธิ และปธานสังขาร ๑

(๖) เธอทั้งหลายพึงเจริญธรรม ๙ ประการ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละ เพื่อความเสื่อม เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสละ เพื่อสละคืน ซึ่งราคะ คือ

อสุภสัญญา ๑
มรณสัญญา ๑
อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑
สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๑
อนิจจสัญญา ๑
อนิจเจทุกขสัญญา ๑
ทุกเขอนัตตสัญญา ๑
ปหานสัญญา ๑
วิราคสัญญา ๑

เธอทั้งหลายพึงเจริญธรรม ๙ ประการนี้เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละ เพื่อความเสื่อม เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสละ เพื่อสละคืน ซึ่งราคะ คือ

ปฐมฌาน ๑
ทุติยฌาน ๑
ตติยฌาน ๑
จตุตถฌาน ๑
อากาสานัญจายตนฌาน ๑
วิญญาณัญจายตนฌาน ๑
อากิญจัญญายตนฌาน ๑
เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ๑
สัญญาเวทยิตนิโรธ ๑

 

 

(๒) หริตจชาดก พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๗ ข้อที่ ๑๒๕๑-๑๒๕๓ หน้า ๒๔๒
(๓) มหานิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๙ ข้อที่ ๘๑๐ หน้า ๓๙๔-๓๙๕

 

คำต่อไป