Main navigation
ราคะ โทสะ โมหะ
Share:

(๑)  ราคะ โทสะ โมหะ เป็นของมีกำลังกล้าในโลก เมื่อกิเลสเหล่าใดรึงรัดแล้ว ปัญญาก็ย่อมหยั่งไม่ถึง

(๒)  ราคะ มีโทษน้อยคลายช้า โทสะ มีโทษมากคลายเร็ว โมหะ มีโทษมากคลายช้า

เหตุปัจจัยเครื่องทำให้เกิด ราคะ โทสะ โมหะ

เมื่อบุคคลทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคายถึง สุภนิมิต (ความกำหนดหมายว่างาม) ราคะ ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง

เมื่อบุคคลทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายถึง ปฏิฆนิมิต (ความกำหนดหมายว่ากระทบกระทั่ง) โทสะ ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง

เมื่อบุคคลทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) โมหะ ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง

เหตุปัจจัยเครื่องละ ราคะ โทสะ โมหะ

เมื่อบุคคลทำไว้ในใจโดยแยบคายถึง อสุภนิมิต (ความกำหนดหมายว่าไม่งาม) ราคะ ที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้

เมื่อบุคคลนั้นทำไว้ในใจโดยแยบคายถึง เมตตาเจโตวิมุติ โทสะ ที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้

เมื่อบุคคลนั้นทำไว้ในใจโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) โมหะ ที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้

(๓)  บุคคลผู้ถูกราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำ  ย่อมคิดจะเบียดเบียนตนเองบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นบ้าง   เสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางจิตบ้าง 

เมื่อละราคะ โมหะ โทสะได้แล้ว  ย่อมไม่คิดจะเบียดเบียนตนเอง ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น  ไม่คิดเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่เสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางจิต 

บุคคลผู้ถูกราคะ โมหะ โทสะ รัดรึงจิตไว้  ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ 

เมื่อละราคะ โมหะ โทสะ ได้แล้ว ย่อมไม่ประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ 

บุคคลผู้ถูกราคะ โมหะ โทสะ รัดรึงจิตไว้  ย่อมไม่รู้แม้ซึ่งประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ตามความเป็นจริง 

เมื่อละราคะ โมหะ โทสะได้แล้ว ย่อมรู้ซึ่งประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ตามความเป็นจริง  

ความกำหนัดทำให้เป็นคนมืด ทำให้เป็นคนไร้จักษุ ทำให้ไม่รู้อะไร ทำปัญญาให้ดับ เป็นไปในฝ่ายความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน

ปฏิปทาแห่งการละซึ่ง ราคะ โมหะ โทสะ คือ การเจริญมรรคมีองค์ 8

(๔)  ความกำจัดราคะ ความกำจัดโทสะ ความกำจัดโมหะ นี้เป็นชื่อแห่งนิพพานธาตุ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่าธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ

ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่าอมตะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เรียกว่าทางที่จะให้ถึงอมตะ

 

อ้างอิง:
(๑)  หริตจชาดก พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๗ ข้อที่ ๑๒๔๙ หน้า ๒๔๒
(๒)  ติตถิยสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๐๘ หน้า ๑๙๐-๕๐๙
(๓)  ฉันนสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐  ข้อที่ ๕๑๑ หน้า ๒๐๔-๒๐๗
(๔)  ภิกขุสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๓๑-๓๒ หน้า ๗-๘

คำต่อไป