(๑) อย่างไร อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่น
อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้
- เวลากลางวันชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการเดิน การนั่ง
- เวลากลางคืน ในปฐมยาม ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการเดิน การนั่ง
- เวลากลางคืน ในมัชฌิมยาม สำเร็จสีหไสยาสน์โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ มนสิการสัญญาในอันที่จะลุกขึ้น
- เวลากลางคืน ในปัจฉิมยาม ลุกขึ้นแล้ว ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการเดิน การนั่ง
อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่น
(๒) ความเพียร ๔ ประการ เป็นไฉน คือ
สังวรปธาน ๑
ปหานปธาน ๑
ภาวนาปธาน ๑
อนุรักขนาปธาน ๑
ก็สังวรปธานเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัส ครอบงำได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงด้วยหู... ดูดกลิ่นด้วยจมูก... ลิ้มรสด้วยลิ้น... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย... รู้ธรรมารมณ์ ด้วยใจแล้ว ไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์
นี้เรา เรียกว่าสังวรปธาน
ก็ปหานปธานเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมครอบงำ ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้พินาศ ย่อมให้ถึงความไม่มี ซึ่งกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว... ซึ่งพยาบาทวิตกเกิดขึ้นแล้ว... ซึ่งวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแล้ว... ซึ่งอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว
นี้เราเรียกว่าปหานปธาน
ก็ภาวนาปธานเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์... ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์... ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์... ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์... ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์... ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละ
นี้เราเรียกว่าภาวนาปธาน
ก็อนุรักขนาปธานเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมตามรักษาสมาธินิมิตอันเจริญที่เกิดขึ้นแล้ว คือ อัฏฐิกสัญญา ปุฬวกสัญญา วินีลกสัญญา วิปุพพกสัญญา วิจฉิทกสัญญา อุทธุมาตกสัญญา นี้เราเรียกว่าอนุรักขนาปธาน
ความเพียร ๔ ประการนี้ เป็นเครื่องให้ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้มีความเพียร พึงถึงความสิ้นทุกข์ได้
(๓) อารัพภธาตุ ความเพียรเป็นเหตุปรารภ การที่เมื่ออารัพภธาตุมีอยู่ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความปรารภย่อมปรากฏ
นิกกมธาตุ ความเพียรเป็นเครื่องก้าวออก การที่เมื่อนิกกมธาตุมีอยู่ สัตว์ทั้งหลายผู้มีเครื่องก้าวออกย่อมปรากฏ
ปรักกมธาตุ ความเพียรเป็นเครื่องก้าวไปข้างหน้า การที่เมื่อปรักกมธาตุมีอยู่ สัตว์ทั้งหลายผู้มีเครื่องก้าวไปข้างหน้าย่อมปรากฏ
ถามธาตุ ความเพียรเป็นกำลัง การที่เมื่อถามธาตุมีอยู่ สัตว์ทั้งหลายผู้มีกำลังย่อมปรากฏ
ธิติธาตุ ความเพียรเป็นเครื่องทรงไว้ การที่เมื่อธิติธาตุมีอยู่ สัตว์ทั้งหลายผู้มีเครื่องทรงไว้ย่อมปรากฏ
อุปักกมธาตุ ความพยายาม การที่เมื่ออุปักกมธาตุมีอยู่ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความพยายามย่อมปรากฏ
(๔) บุคคลปรารภความเพียรอันย่อหย่อน ปรารภความเพียรด้วยกำลังน้อย ไม่พึงบรรลุพระนิพพานอันเป็นเครื่องปลดเปลื้องกิเลสทั้งปวงได้
อ้างอิง
(๑) เสขปฏิปทาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๓๐ หน้า ๒๔
(๒) สังวรสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๑๔ หน้า ๑๕
(๓) อัตตการีสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๐๙ หน้า ๓๐๗-๓๐๘
(๔) นวสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๖๙๙