Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

ดับความเพลิดเพลินในอาหาร ดับทุกข์

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
ดับความเพลิดเพลินในอาหาร
ดับทกุข์
อัตถิราคสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๖ ข้อ ๒๔๕-๒๔๙

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 6:47 นาที
เวลาปฏิบัติ: 15 นาที

____________

พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา ตรัสว่า 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างเพื่อความดำรงอยู่ของสัตวโลกที่เกิดมาแล้ว เพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด 

อาหาร ๔ อย่างนั้น คือ 
๑. กวฬิงการาหาร หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง 
๒. ผัสสาหาร 
๓. มโนสัญเจตนาหาร 
๔. วิญญาณาหาร 

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก มีอยู่ในกวฬิงการาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในกวฬิงการาหารนั้น

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากมีอยู่ในผัสสาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในผัสสาหารนั้น 

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก มีอยู่ในมโนสัญเจตนาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในมโนสัญเจตนาหารนั้น

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากมีอยู่ในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในวิญญาณาหารนั้น 

ในที่ใดวิญญาณตั้งอยู่งอกงาม 
ในที่นั้น ย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป 
ในที่ใดมีการหยั่งลงแห่งนามรูป 
ในที่นั้น ย่อมมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย 
ในที่ใดมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย 
ในที่นั้น ย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป 
ในที่ใด มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป 
ในที่นั้น ย่อมมีชาติ ชรา มรณะต่อไป 
ในที่ใดมีชาติ ชรา มรณะต่อไป 
เราเรียกที่นั้นว่ามีความโศก มีธุลี (คือ ราคะ) มีความคับแค้น 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีน้ำย้อม ครั่ง ขมิ้น สีเขียวหรือสีบานเย็น ช่างย้อมหรือช่างเขียนพึงเขียนรูปสตรีหรือรูปบุรุษให้มีอวัยวะน้อยใหญ่ได้ครบถ้วนที่แผ่นหินขาว แผ่นกระดาน ฝาผนัง หรือที่ผืนผ้า แม้ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก มีอยู่ในกวฬิงการาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร วิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในกวฬิงการาหาร ในผัสสาหาร ในมโนสัญเจตนาหาร ในวิญญาณาหารนั้น 

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ไม่มีอยู่ในกวฬิงการาหารไซร้ วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงามในกวฬิงการาหาร ในผัสสาหาร ในมโนสัญเจตนาหาร ในวิญญาณาหารนั้น 

ในที่ใดวิญญาณไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงาม 
ในที่นั้น ย่อมไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป 
ในที่ใดไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป 
ในที่นั้น ย่อมไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย 
ในที่ใดไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย 
ในที่นั้น ย่อมไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป 
ในที่ใด ไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป 
ในที่นั้น ย่อมไม่มีชาติชรามรณะต่อไป 
ในที่ใดไม่มีชาติชรามรณะต่อไป 
เราเรียกที่นั้นว่าไม่มีความโศก ไม่มีธุลี ไม่มีความคับแค้น 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรือนยอด [ปราสาท] หรือศาลามีสองยอด หน้าต่างด้านทิศตะวันออก อันบุคคลเปิดไปทางเหนือหรือทางใต้ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไปแสงสว่างส่องเข้าไปทางหน้าต่าง จะพึงตั้งอยู่ ณ ที่ไหน

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ตั้งอยู่ที่ฝาด้านตะวันตก พระเจ้าข้า

ถ้าฝาด้านตะวันตกไม่มีเล่า แสงสว่างนั้นจะพึงตั้งอยู่ ณ ที่ไหน 

ที่แผ่นดิน พระเจ้าข้า 

ถ้าแผ่นดินไม่มีเล่า แสงสว่างนั้นจะพึงตั้งอยู่ ณ ที่ไหน 

ที่น้ำ พระเจ้าข้า 

ถ้าน้ำไม่มีเล่า แสงสว่างนั้นจะพึงตั้งอยู่ ณ ที่ไหน 

ไม่ตั้งอยู่เลย พระเจ้าข้า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ไม่มีอยู่ในกวฬิงการาหาร ในผัสสาหาร ในมโนสัญเจตนาหาร ในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงามในกวฬิงการาหาร ในผัสสาหาร ในมโนสัญเจตนาหาร ในวิญญาณาหารนั้น

ในที่ใดวิญญาณไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงาม 
ในที่นั้น ย่อมไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป 
ในที่ใดไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป 
ในที่นั้น ย่อมไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย 
ในที่ใดไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย 
ในที่นั้น ย่อมไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป 
ในที่ใด ไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป 
ในที่นั้น ย่อมไม่มีชาติชรามรณะต่อไป 
ในที่ใดไม่มีชาติชรามรณะต่อไป 
เราเรียกที่นั้นว่าไม่มีความโศก ไม่มีธุลี ไม่มีความคับแค้น

 

ฟังพระสูตรเต็ม อัตถิราคสูตร

 

 

พระสูตร
อัตถิราคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อ ๒๔๕-๒๔๙