Main navigation

เวลาของแต่ละภพภูมิเป็นอย่างไร

Q ถาม :

มนุษย์มีอายุ 60 ปี แล้วที่บอกว่าพรหมก็มีอายุ เทพก็มีอายุว่ากี่ปี ๆ รบกวนอาจารย์ให้ความกระจ่างเรื่องเวลาด้วย

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

เวลาเนี่ยเราใช้หน่วย คือเราเอาระยะของการเปลี่ยนแปลงของวัตถุหรือการเคลื่อนของวัตถุมาเป็นหน่วยของเวลา อย่างการที่โลกหมุนรอบตัวเองหรือหมุนรอบดวงอาทิตย์ ดังนั้น ถ้าเป็นเช่นนี้ ระยะเวลาบนโลกของเรากับระยะเวลาบนโลกอังคารก็ไม่เท่ากัน  ทีนี้ ระยะเวลาจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลง  ยิ่งภพภูมิสูงๆ นี่ การเปลี่ยนแปลงเขาช้า อย่างพรหมเนี่ย ว่ากันว่าพรหมหายใจหนึ่งเฮือก หนึ่งฟืด หายใจเข้าแล้วออกเนี่ย มนุษย์เกิดและตายไปแล้วหนึ่งชีวิต หนึ่งชาติ หรือประมาณ 100 ปี บวกลบ  พรหมหายใจแค่ครั้งเดียว

ดังนั้นเราจะสังเกตได้ว่าเวลาเราเข้าฌาน ลมหายใจมันรวยริน เพราะการเปลี่ยนแปลงเขาช้า เวลาเขาเลยยาวมาก อยู่บนพรหมอยู่กันหลายกัป ทีนี้เวลาตรงนั้นมันเกิดขึ้นได้อย่างไร เวลาตรงนั้นเกิดขึ้นได้เพราะการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน แต่ว่าตัวที่กำกับอายุขัยคือกรรม กรรมของพรหมซึ่งก็เป็นกรรมดี ทีนี้ที่ว่า จิตเดียว จิตไร้กาลเวลา คือตัวจิตเองมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับกาลเวลา แต่ตัวกาลเวลามีอยู่ในสิ่งที่มีวัตถุ มีอยู่ในสิ่งที่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง มีอยู่ในสิ่งที่พัวพันกับกรรม กาลเวลาของอายุขัยพัวพันกับกรรม กาลเวลาของโลกที่เราเอามาวัดกันเป็นชั่วโมงพัวพันกับการเคลื่อนไหวของวัตถุ จึงเป็นเรื่องสมมุติ หรือการเคลื่อนที่ของแสง การเคลื่อนที่ของพลังงาน เราก็เอามาเป็นหน่วยวัดได้

ประเด็นที่เราควรฝึกกันดังนั้นก็คือว่า ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนอย่างไร ธรรมชาติจะเปลี่ยนอย่างไร กรรมจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่จิตสามารถสม่ำเสมอได้ เมื่อจิตอยู่เหนือกาลเวลา จิตไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของวัตถุสิ่งของ หรือแม้กระทั่งอายุขัย สมมุติว่าอายุขัยคือกาลเวลาของกรรมที่กรรมกำหนดไว้ เมื่อเราเปลี่ยนอายุขัย จิตก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนก็ได้ และจิตมันอยู่เหนือกาลเวลา และจิตที่อยู่เหนือกาลเวลา จะสังเกตได้ว่าอยู่ในสมาธิโดยธรรมชาติ  เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียด ลองเข้าไปสัมผัสความจริง แต่เราจะสังเกตได้ว่าเวลาเราเข้าไปสู่สภาวะที่ beyond space and time นิดหน่อย จิตมันจะสงบและใหญ่ พร้อม ๆ กัน  

 

 

ที่มา
Best of All CD, Track 26, เวลา 1:20

คำที่เกี่ยวข้อง :

ภพภูมิ