Main navigation

อุดมมงคลสากล

Q ถาม :

มนุษย์และเทวทั้งหลายในหมื่นจักรวาลถามว่า อะไรหนอแล เป็นมงคล

A พระพุทธเจ้า ตอบ :

ครั้งนั้น มนุษย์ทั้งหลายในชมพูทวีปทั้งสิ้น รวมกันเป็นพวก ๆ คิดมงคลทั้งหลายกันว่า "อะไรหนอแล เป็นมงคล" แม้อารักขเทวดาทั้งหลาย ภุมมเทวดา อากาสัฏฐเทวดา เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา จนถึงอกนิษฐเทวดา ก็คิดมงคลทั้งหลาย การคิดเรื่องมงคลเกิดขึ้นในที่ทุกแห่งจนถึงหมื่นจักวาล คิดกันอยู่สิ้นเวลา ๑๒  ปี พวกมนุษย์ พวกเทวดา และพวกพรหมทั้งปวง เว้นพระอริยสาวกทั้งหลาย แตกกันเป็น ๓ พวก คือ พวกทิฏฐมังคลิกะ พวกสุตมังคลิกะ พวกมุตมังคลิกะ 

พวกทิฏฐมังคลิกะ พูดว่า “ข้าพเจ้าย่อมรู้จักมงคล สิ่งที่เห็นแล้ว ชื่อว่าเป็นมงคลในโลก รูปที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่ง ชื่อว่าสิ่งที่เห็นแล้ว คือ คนบางคนในโลกนี้ตื่นแต่เช้าตรู่ เห็นนกแอ่นลมบ้าง เห็นต้นมะตูมหนุ่มบ้าง หญิงมีครรภ์บ้าง กุมารทั้งหลายซึ่งประดับตกแต่งแล้วบ้าง หม้อน้ำที่เต็มบ้าง ปลาตะเพียนสดบ้าง ม้าอาชาไนยบ้าง รถเทียมม้าอาชาไนยบ้าง โคอุสภะบ้าง แม่โคบ้าง สีแดงบ้าง ก็หรือว่าเห็นรูปแม้อื่นใดที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่งเห็นปานนี้ นี้เขาเรียกกันว่า ทิฏฐมงคล”

คำของชายคนนั้น บางพวกก็ยอมรับ บางพวกก็ไม่ยอมรับ ชนพวกใดไม่ยอมรับ ชนพวกนั้นก็ถกเถียงกับนายทิฏฐมังคลิกะนี้
 
พวกสุตมังคลิกะพูดว่า “แน่ะผู้เจริญ ชื่อว่าจักษุนี้ เห็นรูปที่ดีบ้าง ที่งามบ้าง ไม่งามบ้าง ที่ชอบใจบ้าง ที่ไม่ชอบใจบ้าง ถ้าหากว่ารูปที่ตานั้นเห็นแล้วจักพึงเป็นมงคลไซร้ แม้รูปทุกชนิดก็พึงเป็นมงคล รูปที่เห็นแล้วจึงไม่ใช่เป็นมงคล

แต่อีกอย่างหนึ่งแล เสียงที่ฟังแล้วต่างหากเป็นมงคล เพราะว่าเสียงที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่ง ชื่อว่าสิ่งที่ได้ฟังแล้ว คือ คนบางคนในโลกนี้ลุกขึ้นแต่เช้าแล้ว ย่อมฟังเสียงว่า วัฑฒะ เจริญบ้าง ว่า วัฑฒมานะ เจริญอยู่บ้าง ปุณณะ เต็มบ้าง ปุสสะ ขาวบ้าง สุมนา ดอกมะลิบ้าง สิริ มิ่งขวัญบ้าง สิริวัฒน์ เจริญด้วยมิ่งขวัญบ้าง หรือว่าวันนี้ฤกษ์ดี ยามดี วันดี มงคลดี หรือฟังเสียงที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่งอย่างใดอย่างหนึ่งเห็นปานนี้ นี้เขาเรียกกันว่า สุตมงคล”

คำของสุตมังคลิกะนั้น บางพวกก็ยอมรับ บางพวกก็ไม่ยอมรับ พวกใดไม่ยอมรับ พวกนั้นก็ถกเถียงกับนายสุตมังคลิกะนั้น
 
พวกมุตมังคลิกะพูดว่า “ท่านผู้เจริญ สิ่งที่ได้ฟังนี้ บุคคลย่อมได้ฟังสิ่งที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ถ้าหากสิ่งที่ได้ฟังนั้นเป็นมงคลไซร้ แม้ทุกสิ่งที่ได้ฟังก็เป็นมงคลหมด เพราะฉะนั้น สิ่งที่ได้ฟังหาเป็นมงคลไม่

แต่อีกประการหนึ่งแล สิ่งที่ได้ทราบ จัดว่าเป็นมงคล กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่ง ชื่อว่า สิ่งที่ได้ทราบเป็นมงคล คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ตื่นแต่เช้าสูดกลิ่นดอกไม้มีกลิ่นดอกปทุมบ้าง เคี้ยวไม้ชำระฟันสีขาวบ้าง จับต้องแผ่นดินบ้าง จับต้องข้าวกล้าที่เขียวสดบ้าง จับต้องโคมัยสดบ้าง จับต้องเต่าบ้าง จับต้องเกวียนบรรทุกงาบ้าง ดอกไม้บ้าง ผลไม้บ้าง หรือว่าย่อมลูบไล้ร่างกายอย่างดีด้วยดินขาว (ดินสอพอง) นุ่งผ้าสาฏกสีขาวบ้าง โพกผ้าขาวบ้าง ก็หรือว่าสูดกลิ่นแม้อื่นอย่างใดอย่างหนึ่งที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่งเห็นปานนี้ หรือว่าลิ้มรส…. หรือว่าถูกต้องโผฏฐัพพะ…. นี้เขาเรียกกันว่า มุตมงคล”

คำของนายมุตมังคลิกะแม้นั้น บางพวกก็เชื่อถือ บางพวกไม่เชื่อถือ
 
ในบรรดาคนเหล่านั้น นายทิฏฐมังคลิกะไม่อาจจะให้นายสุตมังคลิกะและนายมุตมังคลิกะยินยอมได้ นายสุตมังคลิกะก็ไม่อาจจะให้นายทิฏฐมังคลิกะและนายสุตมังคลิกะยินยอมได้ นายทิฏฐมังคลิกะและนายสุตมังคลิกะนอกนี้ก็ไม่อาจให้นายมุตมังคลิกะยินยอมได้

ก็ในบรรดามนุษย์เหล่านี้ มนุษย์เหล่าใดเชื่อถือคำของนายทิฏฐมังคลิกะ มนุษย์เหล่านั้นก็ลงสันนิษฐานกันว่า สิ่งที่เห็นแล้วเท่านั้นเป็นมงคล

มนุษย์เหล่าใดเชื่อคำของนายสุตมังคลิกะ มนุษย์เหล่านั้นก็ลงสันนิษฐานว่าสิ่งที่ได้ฟังแล้วเท่านั้นเป็นมงคล

มนุษย์เหล่าใดเชื่อคำของนายมุตมังคลิกะ มนุษย์เหล่านั้นก็ลงสันนิษฐานว่า สิ่งที่ได้ทราบแล้วเท่านั้นเป็นมงคล

ไม่มีใครแม้คนเดียวที่ชื่อว่าถึงการตัดสินใจได้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้เท่านั้นเป็นมงคล ความโกลาหลเรื่องมงคลเกิดขึ้นแล้วในโลก  

ท้าวสักกะเทวราชจึงตรัสสั่งเทพบุตรองค์หนึ่งให้ไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า

เทพบุตรองค์นั้นประดับองค์ด้วยเครื่องอลังการตามสมควร โชติช่วงอยู่ประดุจสายฟ้า มีหมู่เทพแวดล้อม มายังพระมหาวิหารเชตวัน ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

เทวดาและมนุษย์เป็นอันมากผู้หวังความสวัสดี ได้พากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์ได้โปรดตรัสอุดมมงคล

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ ความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้แล้วในกาลก่อน ๑ การตั้งตนไว้ชอบ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

พาหุสัจจะ ๑ ศิลป ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาสุภาษิต ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

การบำรุงมารดาบิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑ การงานอันไม่อากูล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

ทาน ๑ การประพฤติธรรม ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑ กรรมอันไม่มีโทษ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

การงดเว้นจากบาป ๑ ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

ความเคารพ ๑ ความประพฤติถ่อมตน ๑ ความสันโดษ ๑ ความกตัญญู ๑ การฟังธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การได้เห็นสมณะทั้งหลาย ๑ การสนทนาธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

ความเพียร ๑  พรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ ๑ การกระทำนิพพานให้แจ้ง ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก ปราศจากธุลี เป็นจิตเกษม นี้เป็นอุดมมงคล

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายทำมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น
 


มงคลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๓๑๗-๓๑๘ หน้า ๒๘๘-๒๘๙ และอรรถกถา

 

คำที่เกี่ยวข้อง :

มงคล