อิทธิฤทธิ์กับศาสนาพุทธ
ขอเรียนถามอาจารย์ครับ ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าพูดถึงเรื่องการปล่อยวาง การละ แต่พอมีการนำไปเขียนหรือไปเป็นสื่ออื่น ๆ ทำไมต้องอ้างอิงถึงเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ ทั้ง ๆ ที่มันเหมือนจะเป็นคนละทางกับคำสอนของพระพุทธเจ้าหล่ะครับ
จะว่าคนละทางก็ไม่ใช่ จะว่าทางเดียวกันก็ไม่เชิงอีกเช่นกัน
คืออย่างนี้ ยกตัวอย่าง แก้วน้ำถ้าเราแบกอยู่เราจัดการอะไรกับมันไม่ได้ แต่พอเราปล่อยวางเราจัดการกับมันได้ ร่างกายตอนที่เรายึดถืออยู่เราจัดการอะไรกับมันไม่ค่อยได้ แล้วพอเราปล่อยวางเราพอจัดการได้ อารมณ์ก็เช่นกัน โลกก็เช่นกัน งานก็เช่นกัน ธรรมชาติก็เช่นกัน ตอนที่เรายึดธรรมชาติเราก็หลงใหลธรรมชาติ พอเราปล่อยวางธรรมชาติเราจะเป็นอิสระเหนือ อิสระทำให้เกิดภาวะแห่งอิสโร อิสโรคือผู้เป็นใหญ่ พอเราปล่อยวางธรรมชาติแล้วก็เลยมีอำนาจเหนือธรรมชาติ จิตที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติก็เลยมีฤทธิ์ไปในตัว พระอรหันต์จึงมีอริยฤทธิ์ทุกท่านไม่มียกเว้น นี่เป็นฤทธิ์อันเกิดจากอานุภาพจิต เป็นผลของพุทธศาสนา
แม้พระสารีบุตรผู้เป็นเลิศทางปัญญา ท่านก็เป็นหนึ่งในสี่ที่มีมหาอภิญญา อภิญญาแปลว่าอภิปัญญา คือ
1) อิทธิวิธี แปลงธาตุปรับสถานะธาตุได้ตามปรารถนา
2) ทิพโสต มีหูทิพย์
3) เจโตปริยญาณ กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้
4) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้
5) ทิพพจักขุ มีตาทิพย์
6) อาสวักขยญาณ รู้การทำอาสวะให้สิ้นไป
นั่นคืออภิปัญญา หรือ อภิญญาหก ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นญาณ คือปัญญาพร้อมการเห็นแจ้ง ไม่ใช่ความคิดซึ่งเป็นสังขารลูกของอวิชชา ส่วนมหาอภิญญาคือสามารถแปลงร่างให้เป็นอะไรก็ได้ตามปรารถนา
พระไตรปิฎกสยามรัฐ ในโสณทัณฑสูตรเมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงอภิญญาแต่ละตัว ก็สรุปท้ายว่า “แม้นี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง” และในมหาสีหนาทสูตร ก็ทรงระบุอภิญญาแต่ละตัวว่า “นี้เป็นปัญญาสัมปทาของเธอประการหนึ่ง”
ดังนั้น ปัญญากับฤทธิ์เป็นเรื่องเดียวกัน อยู่ใน Operating System เดียวกัน แต่ต่างกันที่ application การใช้เพื่อกิจต่าง ๆ
เรื่องการใช้ปัญญา พระสารีบุตรเป็นเลิศ เรื่องการใช้ฤทธิ์ พระโมคคัลลนานะเป็นเลิศ นี่คือโครงสร้างพระศาสนา
แต่ที่เล่นอิทธิปาฏิหาริย์กันในทำนองของคุณไสยอันนั้นเป็นอีก school หนึ่ง พระพุทธเจ้าเรียกว่าเดรัจฉานวิชา ทรงห้ามยุ่งนะ เพราะมันเป็นทางแห่งความเสื่อม การไปข้องเกี่ยวกับคุณไสยทำให้เกิดกรรมอย่างนี้ คุณไสยจะเป็นการใช้อำนาจของเปรตชนิดหนึ่ง เปรตบางจำพวกเค้าอดอยาก เมื่อเค้าอดอยากเค้าก็มาทำงานให้มนุษย์เพื่อให้มนุษย์ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เค้า การทำงานให้มนุษย์ก็คือแล้วแต่มนุษย์จะใช้ทำอะไร ก็ค่อย ๆ พัฒนาระบบเงื่อนไขมันขึ้นมา ว่าถ้าทำอย่างนี้ไปที่คนนี้ ให้ไปจัดการอย่างนี้ สัญลักษณ์ที่เราเห็นกันเป็นตุ๊กตาบ้าง เป็นหนังหมาหนังควาย เป็นตะปูนั่นแหละ แล้วพอเปรตทำงานให้ คนที่เป็นเจ้าของวิชาก็จะต้องเอาเงินที่ได้มาส่วนหนึ่งไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เปรต เปรตก็จะมีอาหารกิน ดังนั้นการที่เปรตไปทำอย่างนั้นก็เลยเป็นการ interfere มนุษย์ เป็นการบีบจิต บีบชีวิตมนุษย์ ซึ่งกรรมนั้นจะทำให้คนที่ทำวันหนึ่งจะต้องเป็นบ้า กรรมมันจะมาบีบให้ต้องเป็นบ้า ฉะนั้น เรื่องอิทธิฤทธิ์ประเภทคุณไสย พระพุทธเจ้าห้ามเด็ดขาด
พระสมัยพุทธกาลมีฤทธิ์กันเป็นปกติ ก็มีเศรษฐีอยากชมฤทธิ์จะจะ เลยออกอุบายเอาบาตรไม้จันทน์หอมอย่างดีไปแขวนไว้บนยอดไม้ไผ่สูง 30 เมตร แล้วให้ประกาศว่า ใครสามารถขึ้นไปเอาไม้จันทน์ได้จะถวายบาตรนี้ ปรากฏว่าไม่มีสมณพราหมณ์หรือเจ้าลัทธิท่านใดทำได้เลย ผู้คนจึงโจษขานกันว่าโลกนี้ไม่มีพระอรหันต์ พระอรหันต์ไม่มีในโลกนี้ วันหนึ่ง ท่านพระโมคคัลลานะและท่านพระปิณโฑลภารทวาชได้ออกบิณฑบาตไปพบ ก็หารือกันว่า การที่ผู้คนเข้าใจอย่างนี้เป็นการลบหลู่พระอรหันต์ซึ่งมีอยู่จริง จะเป็นกรรมต่อพวกเขา ท่านพระปิณโฑลภารทวาชจึงอาสาเหาะขึ้นไปเอาบาตรลงมา เศรษฐีชาวบ้านต่างก็ตื่นเต้นยินดีโพนทะนา เศรษฐีก็มอบบาตรไม้จันทน์ให้ท่านปิณโฑลภารทวาช
เมื่อกลับมาเวฬุวัน พระพุทธเจ้าทรงเรียกประชุมเพราะเหตุนั้น และบัญญัติสิกขาบท “ห้ามภิกษุแสดงฤทธิ์เพื่อลาภ ผู้ใดแสดงต้องอาบัติทุกกฎ” แต่ไม่ทรงห้ามใช้เพื่อการอื่น เช่น
เพื่อการแสดงธรรม เช่นที่พระพุทธเจ้าและ ๔ อรหันต์ขึ้นไปแก้มิจฉาทิฏฐิให้ท่านพกาพรหมบนพรหมโลก
เพื่อการปราบวิญญาณเกเร เช่นกรณีที่พระโมคคัลลานะใช้ฤทธิ์ปราบพญานาค
เพื่อการยังศรัทธาให้เกิด เช่นท่านพระสารีบุตรคุยกับพระอินทร์พระพรหมเพื่อให้มารดาศรัทธา และโปรดมารดาให้เข้ามรรคผล
เพื่อสังฆานุสติ เช่นที่พระพุทธเจ้าทรงให้พระอรหันต์ทุกท่านแสดงฤทธิ์ชุดใหญ่ก่อนทิ้งขันธ์เข้านิพพาน
และเพื่ออื่น ๆ อีกมาก ทรงห้ามเฉพาะฤทธิ์เพื่อลาภเท่านั้น และปรับอาบัติเล็กน้อยที่สุด คือทุกกฎ
จริง ๆ แล้วฤทธิ์อยู่คู่กับพระอรหันต์และพระศาสนาตลอด ทั้งเป็นส่วนสำคัญของพระศาสนา โครงสร้างพระศาสนาจึงมีทั้งผู้เป็นเลิศทางปัญญาและผู้เป็นเลิศทางฤทธิ์ หากเอาฤทธิ์ออกจากพระศาสนาก็เหมือนตัดร่างออกไปครึ่งตัว พระศาสนาจะไม่สมประกอบและอ่อนแอทันที เพียงแต่นักปฏิบัติต้องระวังนิดหนึ่ง คือ ต้องมุ่งบรรลุธรรมให้ถึงแก่นก่อน แล้วฤทธิ์เป็นผลจากการบรรลุธรรมตามธรรมชาติ จะเป็นของแท้แน่นอนและไม่เสื่อม อย่าไปมุ่งมั่นเอาฤทธิ์ก่อนการบรรลุธรรม ความเสี่ยงสูง ถ้าเอาฤทธิ์ไปสนองกิเลสตนหรือกิเลสคนอื่น จะต้องเสื่อมในที่สุด
ประเด็นของคนที่ปฏิเสธฤทธิ์นี่ มาจาก 1) พวกที่ไม่สามารถสำเร็จอรหันต์ได้ 2) พวกขี้เกียจเข้าสมาธิ 3) พวกเมามันกับข้อมูล คิดว่าข้อมูลคือปัญญา จึงเข้าใจว่าฉันเข้าถึงศาสนาแล้ว แต่พระพุทธเจ้าทรงเรียกผู้รู้คัมภีร์แต่ไม่มีสภาวะจริงว่า ภิกษุใบลานเปล่า พวกนี้เลยพยายาม defend ความไม่เอาไหนของตัวเอง โดยการป่าวประกาศว่า พระพุทธเจ้าห้ามฤทธิ์ ฤทธิ์ไม่ใช่พุทธศาสนา นั้นเป็นบาปทั้งต่อพระพุทธเจ้า ต่อพระอรหันต์ทั้งหลาย ต่อพระศาสนา ต่อประชาชนที่หลงผิดตาม และต่อตนเอง เพราะกรรมนั้นจะทำให้ตนเองไม่บรรลุธรรม และไร้ฤทธิ์โดยสิ้นเชิงอีกนานแสนนาน น่าสงสารไปเลย