Main navigation

เหตุให้กล่าวโอ้อวดการบรรลุคุณวิเศษ

Q ถาม :

เพราะเหตุอะไรหนอ ท่านผู้นี้จึงเป็นผู้มีปกติกล่าวโอ้อวดในการบรรลุคุณวิเศษทั้งหลายว่า เราเข้าปฐมฌานก็ได้ ออกก็ได้ ฯลฯ เราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธก็ได้ ออกก็ได้

A พระสาวกสมัยพุทธกาล ตอบ :

สมัยหนึ่ง ท่านพระมหาจุนทะอยู่ที่สหชาติวัน ในแคว้นเจตี ณ ที่นั้นแล ท่านพระมหาจุนทะเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ผู้มีปกติกล่าวโอ้อวดในการบรรลุคุณวิเศษทั้งหลายว่า

เราเข้าปฐมฌานก็ได้ ออกก็ได้
เข้าทุติยฌานก็ได้ ออกก็ได้
เข้าตติยฌานก็ได้ ออกก็ได้
เข้าจตุตถฌานก็ได้ ออกก็ได้
เข้าอากาสานัญจายตนฌานก็ได้ ออกก็ได้
เข้าวิญญาณัญจายตนฌานก็ได้ ออกก็ได้
เข้าอากิญจัญญายตนฌานก็ได้ ออกก็ได้
เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานก็ได้ ออกก็ได้
เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธก็ได้ ออกก็ได้

พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ฉลาดในสมาบัติ ฉลาดในจิตของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น ย่อมไล่เลียง สอบถาม ซักถามภิกษุนั้น

ภิกษุนั้นเมื่อถูกไล่เลียง สอบถามอยู่ ถึงความเป็นผู้เปล่า ไม่มีคุณ ไม่เจริญ ถึงความพินาศ ถึงความไม่เจริญและความพินาศ

พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน... ผู้ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น กำหนดใจด้วยใจแล้ว กระทำไว้ในใจซึ่งภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า

เพราะเหตุอะไรหนอ ท่านผู้นี้จึงเป็นผู้มีปกติกล่าวโอ้อวดในการบรรลุคุณวิเศษทั้งหลายว่า เราเข้าปฐมฌานก็ได้ ออกก็ได้ ฯลฯ เราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธก็ได้ ออกก็ได้

พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนั้น ย่อมรู้ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า

ท่านผู้นี้เป็นผู้กระทำศีลให้ขาด กระทำศีลให้ทะลุ กระทำศีลให้ด่าง กระทำศีลให้พร้อย ไม่กระทำความเพียรติดต่อ ไม่ประพฤติติดต่อในศีลทั้งหลาย ท่านผู้นี้เป็นผู้ทุศีลตลอดกาลนาน

ก็ความเป็นผู้ทุศีลนี้ เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว

ท่านผู้นี้เป็นผู้ไม่มีศรัทธา มีความประพฤติไม่สมควร

ก็ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธานี้ เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว

ท่านผู้นี้เป็นผู้มีการสดับน้อย มีความประพฤติไม่สมควร

ก็ความเป็นผู้มีการสดับน้อยนี้ เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว

ท่านผู้นี้เป็นผู้ว่ายาก มีความประพฤติไม่สมควร

ก็ความเป็นผู้ว่ายากนี้ เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว

ท่านผู้นี้เป็นผู้มีมิตรชั่ว

ก็ความเป็นผู้มีมิตรชั่วนี้ เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว

ท่านผู้นี้เป็นผู้เกียจคร้าน

ก็ความเป็นผู้เกียจคร้านนี้ เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว

ท่านผู้นี้เป็นผู้มีสติหลงลืม

ก็ความเป็นผู้มีสติหลงลืมนี้ เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว

ท่านผู้นี้เป็นผู้หลอกลวง

ก็ความเป็นผู้หลอกลวงนี้ เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว

ท่านผู้นี้เป็นผู้เลี้ยงยาก

ก็ความเป็นผู้เลี้ยงยากนี้ เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว

ท่านผู้นี้เป็นผู้มีปัญญาทราม

ก็ความเป็นผู้มีปัญญาทรามนี้แล เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว

ภิกษุนั้นไม่ละธรรม ๑๐ ประการนี้ แล้วจักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้

ภิกษุนั้นละธรรม ๑๐ ประการนี้แล้ว  จึงจักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้

เปรียบเหมือนสหายพึงกล่าวกะสหายอย่างนี้ว่า

ดูกรสหาย เมื่อใด กิจที่ควรกระทำด้วยทรัพย์มีอยู่แก่ท่าน ท่านพึงบอกเราให้ทราบ เราจะให้ทรัพย์แก่ท่าน

สหายอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เมื่อมีกิจที่ควรกระทำด้วยทรัพย์บางอย่างเกิดขึ้นแล้ว จึงบอกกับสหายอย่างนี้ว่า

ดูกรสหาย เราต้องการทรัพย์ ขอท่านจงให้ทรัพย์แก่เรา

สหายนั้นก็ตอบอย่างนี้ว่า

ดูกรสหาย ถ้าเช่นนั้นท่านจงขุดลงไปในที่นี้

สหายอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เมื่อขุดลงไปในที่นั้น ไม่พึงพบทรัพย์ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า

ดูกรสหาย ท่านได้พูดพล่อย ๆ กะเรา ได้กล่าวคำเท็จกะเราว่า ท่านจงขุดลงไปในที่นี้

สหายนั้นจึงพูดอย่างนี้ว่า

ดูกรสหาย เราหาได้พูดพล่อย ๆ ไม่ หาได้กล่าวคำเท็จไม่ ท่านจงขุดลงไปในที่นี้เถิด

สหายอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เมื่อขุดลงไปแม้ในที่นั้นก็ยังไม่พบทรัพย์ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า

ท่านได้พูดพล่อย ๆ กะเราได้กล่าวคำเท็จกะเราว่า จงขุดลงไปในที่นี้

สหายนั้นตอบอย่างนี้ว่า

เราหาได้พูดพล่อย ๆ ไม่ หาได้กล่าวคำเท็จไม่ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงขุดลงไปในที่นี้

สหายอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เมื่อขุดลงไปแม้ในที่นั้นก็ไม่พบทรัพย์ จึงพูดอย่างนี้ว่า

ดูกรสหาย ท่านพูดพล่อย ๆ แก่เรา ท่านได้กล่าวคำเท็จกะเราว่า จงขุดลงไปในที่นี้

สหายนั้นก็ตอบอย่างนี้ว่า

ดูกรสหาย เราหาได้พูดพล่อย ๆ ไม่ หาได้กล่าวคำเท็จไม่ แต่ว่าเราถึงความเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านไป ซึ่งมิใช่กำหนดรู้ด้วยใจ แม้ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีปกติกล่าวโอ้อวดในคุณวิเศษทั้งหลาย

 

 

ที่มา
กัตถีสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๘๕ หน้า ๑๓๘-๑๔๐

คำที่เกี่ยวข้อง :

อวดอุตตริมนุสสธรรม