Main navigation

วิธีตรวจสอบพระพุทธเจ้า

Q ถาม :

ภิกษุผู้พิจารณา เมื่อไม่รู้วาระจิตของผู้อื่น พึงทำการตรวจดูในตถาคตเพื่อทราบว่า พระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่

A พระพุทธเจ้า ตอบ :

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี

ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์กับภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณา เมื่อไม่รู้วาระจิตของผู้อื่น พึงทำการตรวจดูในตถาคตเพื่อทราบว่าพระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์มีพระผู้มีพระภาคเป็นต้นเค้า มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พำนัก

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอเนื้อความแห่งพระภาษิตนั้น จงแจ่มแจ้งแก่พระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกเธอจงฟัง จงจำไว้ในใจให้ดี เราจักกล่าว

ตรวจดูธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอันภิกษุผู้พิจารณา เมื่อไม่รู้วาระจิตของผู้อื่น พึงตรวจดูในธรรม ๒ ประการ คือ ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยตาและหูว่า

ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยตาและหูอันเศร้าหมองของตถาคต มีอยู่หรือไม่

เมื่อตรวจดูตถาคตนั้น ก็จะรู้ว่า ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุและโสตอันเศร้าหมองของตถาคต มิได้มี

เมื่อใด รู้อย่างนี้ว่า ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยตาและหูอันเศร้าหมองของตถาคต มิได้มี แต่นั้นก็ตรวจดูตถาคตต่อไปว่า

ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยตาและหูอันเจือกัน (ดำบ้าง ขาวบ้าง คือเป็นอกุศลบ้าง กุศลบ้าง) ของตถาคต มีอยู่หรือไม่

เมื่อตรวจดูตถาคตนั้นก็จะรู้ว่า ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยตาและหูอันเจือกันของตถาคต มิได้มี

เมื่อใด รู้อย่างนี้ว่าธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยตาและหูอันเจือกันของตถาคต มิได้มี แต่นั้นก็ตรวจดูตถาคตต่อไปว่า

ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยตาและหูอันผ่องแผ้วของตถาคต มีอยู่หรือไม่

เมื่อตรวจดูตถาคตนั้นก็จะรู้ว่า ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยตาและหูอันผ่องแผ้วของตถาคต มีอยู่

เมื่อใด ตรวจดูตถาคตนั้นรู้อย่างนี้ว่า ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยตาและหูอันผ่องแผ้วของตถาคตมีอยู่ แต่นั้น ก็ตรวจดูตถาคตนั้นต่อไปว่า

พระศาสดานี้ถึงพร้อมกุศลธรรมสิ้นกาลนาน หรือว่าสิ้นกาลนิดหน่อย

เมื่อตรวจดูตถาคตนั้นก็จะรู้ว่า พระศาสดาถึงพร้อมกุศลธรรมนี้สิ้นกาลนาน มิใช่ว่าสิ้นกาลนิดหน่อย

เมื่อรู้อย่างนี้ว่า พระศาสดาผู้มีอายุนี้ถึงพร้อมกุศลธรรมนี้สิ้นกาลนาน ก็ตรวจดูตถาคตต่อไปว่า

ภิกษุผู้มีอายุนี้ถึงความปรากฏ (มีชื่อเสียง) ถึงความมียศแล้ว โทษบางชนิดในโลกนี้ของภิกษุนั้นมีอยู่บ้างหรือไม่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังไม่มีโทษบางชนิดในโลกนี้ ชั่วเวลาที่ตนไม่ถึงความมีชื่อเสียง ถึงความมียศ แต่เมื่อใด ภิกษุถึงความมีชื่อเสียง ถึงความมียศแล้ว เมื่อนั้น จึงมีโทษบางชนิดในโลกนี้

ภิกษุผู้พิจารณาเมื่อตรวจดูตถาคตนั้นก็รู้ว่า ภิกษุผู้มีอายุนี้ถึงความมีชื่อเสียง ถึงความมียศแล้ว มิได้มีโทษบางชนิดในโลกนี้

เมื่อใด รู้อย่างนี้ว่า ภิกษุผู้มีอายุนี้ถึงความปรากฏ ถึงความมียศแล้ว มิได้มีโทษบางชนิดในโลกนี้ แต่นั้น ก็ตรวจดูตถาคตต่อไปว่า

ผู้มีอายุนี้ ไม่ประกอบด้วยภัย หาประกอบด้วยภัยไม่ เพราะมีราคะไปปราศแล้ว ไม่เสพกามทั้งหลาย เพราะสิ้นราคะ

เมื่อตรวจดูตถาคตนั้น ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุนี้ ประกอบด้วยความไม่มีภัย หาเป็นผู้ประกอบด้วยภัยไม่ เพราะมีราคะไปปราศแล้ว ไม่เสพกามทั้งหลาย เพราะสิ้นราคะ

หากชนเหล่าอื่นพึงถามภิกษุนั้นว่า ก็อาการกิริยาที่ส่อแสดงของท่านผู้มีอายุเป็นอย่างไรที่เป็นเหตุให้ท่านกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุนี้ไม่ประกอบด้วยภัย หาประกอบด้วยภัยไม่ เพราะมีราคะไปปราศแล้ว ไม่เสพกามทั้งหลาย เพราะสิ้นราคะ

ภิกษุเมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ก็จริงอย่างนั้น ท่านผู้มีอายุนี้ บางทีก็อยู่ในหมู่ บางทีก็อยู่ผู้เดียวในหมู่นั้น พวกที่ดำเนินดีก็มี พวกที่สั่งสอนคณะก็มี พวกที่ดำเนินชั่วก็มี บางพวกที่ติดอยู่ในอามิสทั้งหลายในโลกนี้ก็มี บางพวกที่ไม่ติดเพราะอามิสในโลกนี้ก็มี ท่านผู้มีอายุนี้หาดูหมิ่นบุคคลนั้นด้วยเหตุนั้นไม่ เราได้สดับรับข้อนี้มาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า เราเป็นผู้ไม่ประกอบด้วยภัย เราหาเป็นผู้ประกอบด้วยภัยไม่ เพราะมีราคะไปปราศแล้ว ไม่เสพกามทั้งหลาย เพราะสิ้นราคะ

การสอบถาม

ในพวกภิกษุผู้พิจารณานั้น ภิกษุผู้พิจารณารูปหนึ่งควรสอบถามตถาคตต่อไปว่า ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยตาและหูอันเศร้าหมองของตถาคต มีอยู่หรือไม่

ตถาคตเมื่อจะพยากรณ์ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุและโสตอันเศร้าหมองของตถาคต มิได้มี

เมื่อรู้แล้วว่า มิได้มี พึงสอบถามตถาคตต่อไปว่า ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยตาและหูอันเจือกัน ของพระตถาคต มีอยู่หรือไม่

ตถาคตเมื่อจะพยากรณ์ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยตาและหูอันเจือกันของตถาคต มิได้มี

เมื่อรู้แล้วว่า มิได้มี พึงสอบถามตถาคตต่อไปว่า ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยตาและหูที่ผ่องแผ้วของตถาคต มีอยู่หรือไม่

ตถาคตเมื่อจะพยากรณ์ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุและโสตที่ผ่องแผ้วของตถาคต มีอยู่ เราเป็นผู้มีธรรมที่ผ่องแผ้วนั้นเป็นทาง มีธรรมที่ผ่องแผ้วนั้นเป็นโคจร เพราะเหตุนั้นเราจึงไม่ใช่เป็นผู้มีตัณหา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สาวกควรจะเข้าหาศาสดาผู้มีวาทะอย่างนี้เพื่อฟังธรรม ศาสดาย่อมแสดงธรรมอันยิ่ง ๆ อันประณีต ๆ อันเปรียบด้วยส่วนดำ ส่วนขาว แก่สาวกนั้น

ศาสดาย่อมแสดงธรรมอันยิ่ง ๆ อันประณีต ๆ อันเปรียบด้วยส่วนดำส่วนขาวแก่ภิกษุด้วยประการใด ๆ ภิกษุนั้นรู้ยิ่งธรรมบางอย่างในธรรมนั้นด้วยประการนั้น ๆ ย่อมถึงความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย ย่อมเลื่อมใสในศาสดาว่า พระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว

หากชนพวกอื่นพึงถามภิกษุนั้นอีกอย่างนี้ว่า ก็อาการกิริยาที่ส่อแสดงของท่านผู้มีอายุเป็นอย่างไรที่เป็นเหตุให้ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว

ภิกษุนั้นเมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า

ดูกรท่านผู้มีอายุ เราเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อจะฟังธรรม พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดงธรรมอันยิ่ง ๆ อันประณีต ๆ อันเปรียบด้วยส่วนดำส่วนขาวแก่เรานั้น

พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดงธรรมอันยิ่ง ๆ อันประณีต ๆ อันเปรียบด้วยส่วนดำส่วนขาวแก่เราด้วยประการใด ๆ เรารู้ยิ่งธรรมบางอย่างในธรรมนั้นด้วยประการนั้น ๆ ถึงแล้วซึ่งความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย เลื่อมใสแล้วในพระศาสดาว่า พระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาของบุคคลใดบุคคลหนึ่งตั้งมั่นแล้วในพระตถาคต มีมูล มีที่อาศัย ด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ ศรัทธานี้ เรากล่าวว่า มีเหตุ มีทัสสนะ (โสดาปัตติมรรค) เป็นมูลมั่นคง อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆ ในโลกไม่พึงให้กวัดแกว่งได้

การตรวจดูธรรมในตถาคตย่อมมีอย่างนี้แล ก็แหละตถาคตอันภิกษุผู้พิจารณาตรวจดูดีแล้วโดยธรรมเป็นอย่างนี้

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล

 

 

 

ที่มา
วีมังสกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๕๓๕-๕๓๙

คำที่เกี่ยวข้อง :

คุณสมบัติของพระพุทธเจ้า