Main navigation

เหตุให้คนสองคน คนหนึ่งประพฤติพรหมจรรย์ คนหนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นผู้มีคติเสมอกัน

Q ถาม :

มิคสาลาอุบาสิกาถามพระอานนท์ว่า ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วอันเป็นเหตุให้คนสองคน คือ คนหนึ่งประพฤติพรหมจรรย์ คนหนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์ จักเป็นผู้มีคติเสมอกันในสัมปรายภพ วิญญูชนจะพึงรู้ทั่วถึงได้อย่างไร

A พระพุทธเจ้า ตอบ :

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังที่อยู่ของมิคสาลาอุบาสิกา แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดถวาย

ครั้งนั้น มิคสาลาอุบาสิกาเข้าไปหาท่านพระอานนท์ กราบไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้ว ได้ถามท่านพระอานนท์ว่า

ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ธรรมนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อันเป็นเหตุให้คนสองคน คือ คนหนึ่งประพฤติพรหมจรรย์ คนหนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์จักเป็นผู้มีคติเสมอกันในสัมปรายภพ อันวิญญูชนจะพึงรู้ทั่วถึงได้อย่างไร คือ

บิดาของดิฉันชื่อปุราณะเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล งดเว้นจากเมถุนอันเป็นธรรมของชาวบ้าน ท่านกระทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า เป็นสกทาคามีบุคคล เข้าถึงชั้นดุสิต

บุรุษชื่ออิสิทัตตะ ผู้เป็นที่รักของบิดาของดิฉัน ไม่เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ (แต่) ยินดีด้วยภรรยาของตน แม้เขาทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์ว่า เป็นสกทาคามีบุคคล เข้าถึงชั้นดุสิต

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

ดูกรน้องหญิง ก็ข้อนี้พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ไว้อย่างนั้นแล

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์รับบิณฑบาตที่นิเวศน์ของมิคสาลาอุบาสิกา ลุกจากอาสนะกลับไปแล้ว

 

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดแก่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรอานนท์ ก็มิคสาลาอุบาสิกาเป็นพาล ไม่ฉลาด มีปัญญาทึบ มิคสาลาอุบาสิกาเป็นอะไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอะไร ในญาณเครื่องกำหนดรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินรีย์ของบุคคล

ดูกรอานนท์ บุคคล ๑๐ จำพวกนี้มีอยู่ในโลก ๑๐ จำพวกเป็นไฉน

บุคคล ๑๐ จำพวก

๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทุศีล และไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ บุคคลนั้นไม่กระทำกิจด้วยการฟัง ไม่กระทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดด้วยทิฐิ ย่อมไม่ได้วิมุตติ เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไปทางเจริญ ย่อมถึงความเสื่อม ไม่ถึงความเจริญ

๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทุศีล แต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ บุคคลนั้นกระทำกิจแม้ด้วยการฟัง กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ย่อมได้วิมุตติ เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม

พวกคนผู้ถือประมาณย่อมประมาณว่า ธรรมของคนนี้ก็เหล่านั้นแหละ ธรรมของคนอื่นก็เหล่านั้นแหละ เพราะเหตุไรในสองคนนั้น คนหนึ่งเลว คนหนึ่งดี

ก็การประมาณของคนผู้ถือประมาณเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ตลอดกาลนาน     

ในสองคนนั้น บุคคลใดเป็นผู้ทุศีล แต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความเป็นผู้ทุศีล ของเขาตามความเป็นจริง บุคคลนั้นกระทำกิจแม้ด้วยการฟัง กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ ย่อมได้วิมุตติอันเกิดในสมัย

บุคคลนี้ดีกว่าและประณีตกว่าบุคคลที่กล่าวข้างต้น เพราะกระแสแห่งธรรมย่อมถูกต้องบุคคลนี้ ใครจะรู้เหตุนั้นได้ นอกจากตถาคต

๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีล แต่ไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ บุคคลนั้นไม่ทำกิจด้วยการฟัง ไม่กระทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดด้วยทิฐิ ย่อมไม่ได้วิมุตติ เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไปทางเจริญ ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียว ไม่ถึงความเจริญ

๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีล และรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ บุคคลนั้นกระทำกิจด้วยการฟัง กระทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ย่อมได้วิมุติ เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม

พวกคนผู้ถือประมาณย่อมประมาณว่า ธรรมของคนนี้ก็เหล่านั้นแหละ ธรรมของคนอื่นก็เหล่านั้นแหละ เพราะเหตุไรในสองคนนั้น คนหนึ่งเลว คนหนึ่งดี

ก็การประมาณของคนผู้ถือประมาณเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ตลอดกาลนาน     

ในสองคนนั้น บุคคลใดเป็นผู้มีศีล และรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความเป็นผู้ทุศีล ของเขาตามความเป็นจริง บุคคลนั้นกระทำกิจแม้ด้วยการฟัง กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ ย่อมได้วิมุตติอันเกิดในสมัย

บุคคลนี้ดีกว่าและประณีตกว่าบุคคลที่กล่าวข้างต้น เพราะกระแสแห่งธรรมย่อมถูกต้องบุคคลนี้ ใครจะรู้เหตุนั้นได้ นอกจากตถาคต

๕. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีราคะกล้า ทั้งไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ บุคคลนั้นไม่กระทำกิจด้วยการฟัง ไม่กระทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ย่อมไม่ได้วิมุตติ เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไปทางเจริญ ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียวไม่ถึงความเจริญ

๖. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีราคะกล้า แต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ บุคคลนั้นกระทำกิจด้วยการฟัง กระทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ย่อมได้วิมุตติ เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียวไม่ถึงความเสื่อม

พวกคนผู้ถือประมาณย่อมประมาณว่า ธรรมของคนนี้ก็เหล่านั้นแหละ ธรรมของคนอื่นก็เหล่านั้นแหละ เพราะเหตุไรในสองคนนั้น คนหนึ่งเลว คนหนึ่งดี

ก็การประมาณของคนผู้ถือประมาณเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ตลอดกาลนาน     

ในสองคนนั้น บุคคลใดเป็นผู้มีราคะกล้า แต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งราคะ ของเขาตามความเป็นจริง บุคคลนั้นกระทำกิจแม้ด้วยการฟัง กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ ย่อมได้วิมุตติอันเกิดในสมัย

บุคคลนี้ดีกว่าและประณีตกว่าบุคคลที่กล่าวข้างต้น เพราะกระแสแห่งธรรมย่อมถูกต้องบุคคลนี้ ใครจะรู้เหตุนั้นได้ นอกจากตถาคต

๗. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ ทั้งไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุติ บุคคลนั้นไม่กระทำกิจ แม้ด้วยการฟัง ไม่กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ ย่อมไม่ได้วิมุตติ เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไปทางเจริญ ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียว ไม่ถึงความเจริญ

๘. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ แต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ บุคคลนั้นกระทำกิจด้วยการฟัง กระทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ ย่อมได้วิมุตติ เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม

พวกคนผู้ถือประมาณย่อมประมาณว่า ธรรมของคนนี้ก็เหล่านั้นแหละ ธรรมของคนอื่นก็เหล่านั้นแหละ เพราะเหตุไรในสองคนนั้น คนหนึ่งเลว คนหนึ่งดี

ก็การประมาณของคนผู้ถือประมาณเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ตลอดกาลนาน     

ในสองคนนั้น บุคคลใดเป็นผู้มักโกรธ แต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความโกรธ ของเขาตามความเป็นจริง บุคคลนั้นกระทำกิจด้วยการฟัง กระทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ย่อมได้วิมุตติอันเกิดในสมัย

บุคคลนี้ดีกว่าและประณีตกว่าบุคคลที่กล่าวข้างต้น เพราะกระแสแห่งธรรมย่อมถูกต้องบุคคลนี้ ใครจะรู้เหตุนั้นได้ นอกจากตถาคต

๙. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ทั้งไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ บุคคลนั้นไม่กระทำกิจด้วยการฟัง ไม่กระทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ย่อมไม่ได้วิมุตติ เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไปทางเจริญ ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียว ไม่ถึงความเจริญ

๑๐. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฟุ้งซ่าน แต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ บุคคลนั้นกระทำกิจด้วยการฟัง กระทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ย่อมได้วิมุติ เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม

พวกคนผู้ถือประมาณย่อมประมาณว่า ธรรมของคนนี้ก็เหล่านั้นแหละ ธรรมของคนอื่นก็เหล่านั้นแหละ เพราะเหตุไรในสองคนนั้น คนหนึ่งเลว คนหนึ่งดี

ก็การประมาณของคนผู้ถือประมาณเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ตลอดกาลนาน     

ในสองคนนั้น บุคคลใดเป็นผู้ฟุ้งซ่าน แต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความฟุ้งซ่าน ของเขาตามความเป็นจริง บุคคลนั้นกระทำกิจแม้ด้วยการฟัง กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ ย่อมได้วิมุตติอันเกิดในสมัย

บุคคลนี้ดีกว่าและประณีตกว่าบุคคลที่กล่าวข้างต้น เพราะกระแสแห่งธรรมย่อมถูกต้องบุคคลนี้ ใครจะรู้เหตุนั้นได้ นอกจากตถาคต

เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายอย่าได้เป็นผู้ชอบประมาณในบุคคล และอย่าได้ถือประมาณในบุคคล เพราะผู้ถือประมาณในบุคคล ย่อมทำลายคุณวิเศษของตน เราหรือผู้ที่เหมือนเราพึงถือประมาณในบุคคลได้

 

 

ที่มา
มิคสาลาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๗๕ หน้า ๑๒๒-๑๒๖

คำที่เกี่ยวข้อง :

ญาณหยั่งรู้ อินทรีย์ ๕