Main navigation

เหตุให้ฟังธรรมแล้วไม่หลงลืม

Q ถาม :

ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุได้ฟังธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เคยฟังแล้ว ย่อมไม่ถึงความหลงลืม ธรรมทั้งหลายที่เธอได้เคยถูกต้องด้วยใจในกาลก่อน ย่อมขึ้นใจ และเธอย่อมทราบชัดธรรมที่ยังไม่ทราบชัด

A พระสาวกสมัยพุทธกาล ตอบ :

ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า
 


ดูกรท่านสารีบุตร ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล ภิกษุจึงได้ฟังธรรมที่ยังไม่เคยฟังธรรมทั้งหลายที่เธอได้ฟังแล้ว ย่อมไม่ถึงความหลงลืม ธรรมทั้งหลายที่เธอได้เคยถูกต้องด้วยใจในกาลก่อน ย่อมขึ้นใจ และเธอย่อมทราบชัดธรรมที่ยังไม่ทราบชัด

ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า

ท่านพระอานนท์เป็นพหูสูต ขอเนื้อความแห่งธรรมข้อนั้นจงแจ่มแจ้งกะท่านพระอานนท์เถิด

เหตุให้ฟังธรรมแล้วไม่หลงลืม

ดูกรท่านสารีบุตร ถ้าอย่างนั้นท่านจงฟังธรรม จงทำไว้ในใจให้ดี เราจักกล่าว

ดูกรท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ

เธอ ย่อมแสดงธรรม ตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร

ย่อมบอกสอนธรรม ที่ได้ฟังมาได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร

ย่อมทำการสาธยายธรรม ตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาโดยพิสดาร

ย่อมตรึกตรอง เพ่งด้วยใจซึ่งธรรม ตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา

ย่อมจำพรรษาอยู่ในอาวาสที่มีภิกษุผู้เถระเป็นพหูสูตชำนาญคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกาอยู่ ย่อมเข้าไปหาภิกษุผู้เถระเหล่านั้นโดยกาลอันควร แล้วไต่ถามสอบสวน ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความของภาษิตนี้อย่างไร ภิกษุผู้เถระเหล่านั้นย่อมเปิดเผยภาษิตที่ยังไม่แจ่มแจ้ง ย่อมทำภาษิตที่ยากให้ง่ายแก่เธอ และย่อมบรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมีประการต่าง ๆ

ดูกรท่านสารีบุตร ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงได้ฟังธรรมที่ยังไม่เคยฟังธรรมทั้งหลายที่เธอได้ฟังแล้ว ย่อมไม่ถึงความหลงลืม ธรรมทั้งหลายที่เธอได้เคยถูกต้องด้วยใจในกาลก่อน ย่อมขึ้นใจ และเธอย่อมทราบชัดธรรมที่ยังไม่ทราบชัด

ดูกรท่านอานนท์ น่าอัศจรรย์ เรื่องไม่เคยมีได้มีแล้ว เรื่องนี้ท่านอานนท์ได้กล่าวดีแล้ว และพวกผมจะทรงจำท่านพระอานนท์ว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้

เพราะว่าท่านอานนท์ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ

ท่านอานนท์ย่อมแสดงธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร

ท่านอานนท์ย่อมบอกสอนธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร

ท่านอานนท์ย่อมทำการสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาโดยพิสดาร

ท่านอานนท์ย่อมตรึกตรอง เพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา

ท่านอานนท์ย่อมจำพรรษาอยู่ในอาวาสที่มีภิกษุผู้เถระผู้เป็นพหูสูต ชำนาญคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา อยู่ ท่านอานนท์ย่อมเข้าไปหาภิกษุผู้เถระเหล่านั้นโดยกาลอันควร แล้วไต่ถามสอบสวนว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความของภาษิตนี้เป็นอย่างไร

ภิกษุผู้เถระเหล่านั้นย่อมเปิดเผยภาษิตที่ยังไม่แจ่มแจ้ง ย่อมทำภาษิตที่ยากให้ง่ายแก่ท่านอานนท์ และย่อมบรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมีประการต่าง ๆ

 

 

 

ที่มา
อานันทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๒๒ หน้า ๓๒๘-๓๒๙

คำที่เกี่ยวข้อง :

การฟังธรรม