Main navigation

เหตุให้สาวกเคารพ บูชา แล้วพึ่งพระพุทธเจ้าอยู่

Q ถาม :

ดูกรอุทายี ก็ท่านพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลายกี่อย่างในเรา อันเป็นเหตุให้สาวกของเราสักการะ เคารพ นับถือ บูชา แล้วอาศัยอยู่

A พระพุทธเจ้า ตอบ :

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ปริพาชกที่มีชื่อเสียงเป็นอันมาก คือ อันนภารปริพาชกหนึ่ง วรตรปริพาชกหนึ่ง สกุลุทายิปริพาชกหนึ่ง และปริพาชกเหล่าอื่นอีก ล้วนมีชื่อเสียง อาศัยอยู่ในปริพาชการาม อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้วทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า

การที่เราจะเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ก็ยังเช้านัก อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปหาสกุลุทายิปริพาชก ยังปริพาชการาม อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูงเถิด

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังปริพาชการาม

ก็สมัยนั้น สกุลุทายิปริพาชกนั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ ซึ่งกำลังพูดถึงติรัจฉานกถาหลายอย่าง ด้วยเสียงอื้ออึงอึกทึก คือ พูดถึงเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องช้าง เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องหญิงคนใช้ตักน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้น ๆ

สกุลุทายิปริพาชกได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล ครั้นแล้ว จึงห้ามบริษัทของตนให้สงบว่า

ขอท่านทั้งหลายจงเบา ๆ เสียงหน่อย อย่าส่งเสียงอึงนัก นี่พระสมณโคดมกำลังเสด็จมา พระองค์ท่านโปรดเสียงเบา และทรงกล่าวสรรเสริญคุณของเสียงเบา บางทีพระองค์ท่านทรงทราบว่าบริษัทเสียงเบา พึงทรงสำคัญจะเข้ามาก็ได้

ลำดับนั้น พวกปริพาชกเหล่านั้นพากันนิ่งอยู่ ครั้งนั้นแลพระผู้มีพระภาคจึงเสด็จเข้าไปหาสกุลุทายิปริพาชกจนถึงที่ใกล้ สกุลุทายิปริพาชกได้ทูลเชิญพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระผู้มีพระภาคเสด็จมาเถิด พระผู้มีพระภาคเสด็จมาดีแล้ว นานทีเดียวที่พระผู้มีพระภาคจะได้ทรงกระทำปริยายนี้ คือเสด็จมาถึงที่นี่ได้ ขอเชิญพระผู้มีพระภาคประทับนั่งเถิด นี่อาสนะปูไว้ถวายแล้ว

พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้ถวาย ส่วนสกุลุทายิปริพาชกถือเอาอาสนะต่ำอันหนึ่ง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

ดูกรอุทายี เมื่อกี้นี้ท่านทั้งหลายประชุมสนทนาอะไรกัน และเรื่องอะไรที่ท่านทั้งหลายหยุดค้างไว้ในระหว่าง

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องที่ข้าพเจ้าทั้งหลายประชุมสนทนาเมื่อกี้นี้นั้น ของดไว้ก่อนเถิด เรื่องนั้นพระผู้มีพระภาคจักได้ทรงสดับแม้ในภายหลังโดยไม่ยาก

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันก่อน ๆ หลายวันมาแล้ว พวกสมณพราหมณ์เจ้าลัทธิต่าง ๆ ประชุมกันในโรงแพร่ข่าวสนทนากันถึงเรื่องนี้ว่า

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เป็นลาภของชนชาวอังคะและมคธเขาหนอ ชาวอังคะและชาวมคธได้ดีแล้วหนอ ที่สมณพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากสมมติกันว่าดี เข้าไปจำพรรษายังกรุงราชคฤห์แล้ว คือ ครูปูรณกัสสป... ครูมักขลิโคสาล... ครูอชิตเกสกัมพล... ครูปกุทธกัจจายนะ... ครูสญชัยเวลัฏฐบุตร... ครูนิครนถ์นาฏบุตร... แม้พระสมณโคดมผู้เป็นเจ้า พระองค์ก็เสด็จเข้าจำพรรษายังกรุงราชคฤห์ บรรดาท่านสมณพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากสมมติกันว่าดีเหล่านี้ ใครเล่าหนอที่สาวกทั้งหลายสักการะเคารพนับถือบูชา ก็และใครเล่าที่สาวกทั้งหลายสักการะเคารพอาศัยอยู่

ในที่ประชุมนั้น สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่าครูปูรณกัสสปนี้ ถึงจะเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากสมมติกันว่าดี แต่สาวกทั้งหลายไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชา และจะได้สักการะเคารพแล้วอาศัยครูปูรณกัสสปอยู่ก็หามิได้

เรื่องเคยมีมาแล้ว ครูปูรณกัสสปแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อย ในบริษัทนั้น สาวกคนหนึ่งของครูปูรณกัสสปได้ส่งเสียงขึ้นว่า

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย อย่าถามเนื้อความนี้กะครูปูรณกัสสปเลย ครูปูรณกัสสปนี้ไม่รู้เนื้อความนี้ พวกเรารู้เนื้อความนี้ ท่านทั้งหลายจงถามพวกเราเถิด พวกเราจักพยากรณ์ให้ท่าน

ครูปูรณกัสสปจะยกแขนทั้งสองขึ้นคร่ำครวญว่า

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงเงียบเสียง อย่าส่งเสียงไป ท่านพวกนี้จะถามกะพวกท่านไม่ได้ จะถามกะเราได้ เราจักพยากรณ์แก่ท่านพวกนี้ ดังนี้ ก็ย่อมไม่ได้

อนึ่ง สาวกของท่านครูปูรณกัสสปเป็นอันมาก พากันยกโทษว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ เรารู้ทั่วถึง ท่านจะรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด เราปฏิบัติถูก ถ้อยคำของเราเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชอง มาผันแปรไปแล้ว เราจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว เราข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ ดังนี้ แล้วพากันหลีกไป

พวกสาวกไม่สักการะเคารพ นับถือ บูชาครูปูรณกัสสป ด้วยประการดังนี้ แล้วจะได้สักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่ก็หามิได้ ก็แลครูปูรณกัสสปก็ถูกติเตียนด้วยคำติเตียนโดยธรรม

สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า ครูมักขลิโคสาล... ครูอชิตเกสกัมพล... ครูปกุทธกัจจายนะ... ครูสญชัยเวลัฏฐบุตร... ครูนิครนถนาฏบุตร... ถึงจะเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากสมมติกันว่าดี แต่สาวกทั้งหลายไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชา และจะได้สักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่ก็หามิได้

เรื่องเคยมีมาแล้ว ครูนิครนถนาฏบุตรแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อย ในบริษัทนั้น สาวกคนหนึ่งของครูนิครนถนาฏบุตรได้ส่งเสียงขึ้นว่า

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย อย่าถามเนื้อความนี้กะครูนิครนถนาฏบุตรเลย ครูนิครนถนาฏบุตรนี้ไม่รู้เนื้อความนี้ พวกเรารู้เนื้อความนี้ ท่านทั้งหลายจงถามพวกเราเถิด เราจักพยากรณ์ให้ท่าน.

ครูนิครนถนาฏบุตรยกแขนทั้งสองขึ้นคร่ำครวญว่า

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงเงียบเสียง อย่าส่งเสียงไป ท่านพวกนี้จะถามกะพวกท่านไม่ได้ จะถามกะเราได้ เราจักพยากรณ์แก่ท่านพวกนี้ ดังนี้ ก็ย่อมไม่ได้

อนึ่ง สาวกของครูนิครนถนาฏบุตรเป็นอันมาก พากันยกโทษว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ เรารู้ทั่วถึง ท่านจะรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด เราปฏิบัติถูก ถ้อยคำของเราเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชอง ผันแปรไปแล้ว เราจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว เราข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้น จงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ ดังนี้ แล้วพากันหลีกไป

พวกสาวกไม่สักการะเคารพ นับถือ บูชานิครนถนาฏบุตร ด้วยประการดังนี้ จะได้สักการะ เคารพ แล้วอาศัยอยู่ก็หามิได้ ก็แล ครูนิครนถนาฏบุตรก็ถูกติเตียนด้วยคำติเตียนโดยธรรม

สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมพระองค์นี้ทรงเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ ทรงเป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากสมมติกันว่าดี สาวกทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระองค์และสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่

เรื่องเคยมีมาแล้ว พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อย ในบริษัทนั้น สาวกของพระสมณโคดมองค์หนึ่งไอขึ้น เพื่อนพรหมจรรย์องค์หนึ่งเอาเข่ากะตุ้นเธอ เพื่อจะให้รู้ว่า ท่านจงเงียบเสียง อย่าส่งเสียงไป พระผู้มีพระภาคผู้เป็นศาสดาของเราทั้งหลายกำลังทรงแสดงธรรม

ในเวลาที่พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อย จะมีเสียงที่สาวกของพระสมณโคดมจามหรือไอหามิได้เลย หมู่มหาชนมีแต่คอยหวังตั้งหน้าเฉพาะพระสมณโคดมว่า เราทั้งหลายจักได้ฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคจักตรัสแก่พวกเรา เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงให้น้ำผึ้งหวี่ที่ปราศจากตัวอ่อน ที่ทางใหญ่สี่แพร่ง หมู่มหาชนก็คอยหวังตั้งหน้าเฉพาะบุรุษนั้น ฉันนั้น

สาวกของพระสมณโคดมเหล่าใดแม้บาดหมางกับเพื่อนพรหมจรรย์แล้ว ลาสิกขาสึกไป แม้สาวกเหล่านั้นก็ยังกล่าวสรรเสริญคุณพระศาสดา พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นแต่ติเตียนตนเอง ไม่ติเตียนผู้อื่นว่า

ถึงพวกเราจักได้มาบวชในธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วอย่างนี้ แต่ไม่อาจจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ให้บริบูรณ์จนตลอดชีวิตได้ เป็นคนไม่มีบุญ มีบุญน้อยเสียแล้ว

สาวกของพระสมณโคดมเหล่านั้น จะเป็นอารามิกก็ดี เป็นอุบาสกก็ดี ก็ยังประพฤติมั่นอยู่ในสิกขาบทห้า สาวกทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระสมณโคดม ด้วยประการดังนี้ และสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่

ดูกรอุทายี ก็ท่านพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลายกี่อย่างในเรา อันเป็นเหตุให้สาวกของเราสักการะ เคารพ นับถือ บูชา แล้วอาศัยอยู่

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นธรรม ๕ อย่างในพระผู้มีพระภาคอันเป็นเหตุให้สาวกสักการะ เคารพ นับถือ บูชา แล้วอาศัยอยู่ ธรรม ๕ อย่างเป็นไฉน

พระผู้มีพระภาคทรงมีพระอาหารน้อย และทรงสรรเสริญคุณในความเป็นผู้มีอาหารน้อย

อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้

อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้

อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้

อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้สงัด และทรงสรรเสริญความสงัด

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นธรรม ๕ ประการนี้แล ในพระผู้มีพระภาคอันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชา แล้วอาศัยอยู่

ดูกรอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงเป็นผู้มีอาหารน้อย และทรงสรรเสริญความเป็นผู้มีอาหารน้อย อุทายี แต่สาวกทั้งหลายของเรามีอาหารเพียงเท่าโกสะ (จุในผลกระเบา) หนึ่งก็มี เพียงกึ่งโกสะก็มี เพียงเท่าเวลุวะ (จุในผลมะตูม) หนึ่งก็มี เพียงกึ่งเวลุวะก็มี

ส่วนเราแลบางครั้งบริโภคอาหารเสมอขอบปากบาตรนี้ก็มี ยิ่งกว่าก็มี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพนับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่าพระสมณโคดมทรงมีอาหารน้อย และทรงสรรเสริญความเป็นผู้มีอาหารน้อยไซร้ บรรดาสาวกของเราผู้มีอาหารเพียงเท่าโกสะหนึ่งบ้าง เพียงกึ่งโกสะบ้าง เพียงเท่าเวลุวะบ้าง เพียงกึ่งเวลุวะบ้าง ก็จะไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราโดยธรรมนี้ แล้วพึ่งเราอยู่

ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ อุทายี แต่สาวกของเราเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุล ทรงจีวรเศร้าหมอง เธอเหล่านั้นเลือกเก็บเอาผ้าเก่าแต่ป่าช้าบ้าง แต่กองหยากเยื่อบ้าง แต่ที่เขาทิ้งไว้ตามที่ต่าง ๆ บ้างมาทำเป็นผ้าสังฆาฏิใช้ก็มีอยู่

ส่วนเราแล บางคราวก็ใช้คหบดีจีวรที่เนื้อแน่น ระกะด้วยเส้นด้ายมั่นคง มีเส้นด้าย เช่นกับขนน้ำเต้า (มีเส้นด้ายละเอียด) ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่าพระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ไซร้ บรรดาสาวกของเราที่ทรงผ้าบังสุกุล ใช้จีวรเศร้าหมอง เลือกเก็บเอาผ้าเก่าแต่ป่าช้าบ้าง แต่กองหยากเยื่อบ้าง แต่ที่เขาทิ้งไว้ตามที่ต่าง ๆ บ้าง มาทำเป็นผ้าสังฆาฏิใช้ ก็จะไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือบูชาเราโดยธรรมนี้ แล้วพึ่งเราอยู่

ดูกรอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ไซร้ อุทายี แต่สาวกทั้งหลายของเราเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร ยินดีในภัตตาหารทั้งสูงทั้งต่ำ เธอเหล่านั้นเมื่อเข้าไปถึงละแวกบ้านแล้ว ถึงใครจะนิมนต์ด้วยอาสนะก็ไม่ยินดีมีอยู่

ส่วนเราแล บางครั้งก็ฉันในที่นิมนต์ แต่ล้วนเป็นข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่เขาเก็บเมล็ดดำออกแล้ว มีแกงและกับหลายอย่าง ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่าพระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ บรรดาสาวกของเราที่ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร ยินดีในภัตตาหารทั้งสูงทั้งต่ำ เมื่อเข้าไปยังละแวกบ้านแล้ว ถึงใครจะนิมนต์ด้วยอาสนะก็ไม่ยินดี ก็จะไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราโดยธรรมนี้ แล้วพึ่งเราอยู่

ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ไซร้ อุทายี แต่สาวกทั้งหลายของเราถือโคนไม้เป็นวัตร ถืออยู่กลางแจ้งเป็นวัตร เธอเหล่านั้นไม่เข้าสู่ที่มุงตลอดแปดเดือนมีอยู่

ส่วนเราแล บางครั้งอยู่ในเรือนยอดที่ฉาบทาทั้งข้างในข้างนอก ลมเข้าไม่ได้ มีลิ่มชิดสนิท มีหน้าต่างเปิดปิดได้ ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ไซร้ บรรดาสาวกของเราที่ถืออยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร ถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร ไม่เข้าสู่ที่มุงตลอดแปดเดือน ก็จะไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราโดยธรรมนี้ แล้วพึ่งเราอยู่

ดูกรอุทายี สาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นผู้สงัด และทรงสรรเสริญความสงัด อุทายี แต่สาวกทั้งหลายของเรา ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือเสนาสนะอันสงัด คือป่าชัฏอยู่ เธอเหล่านี้ย่อมมาประชุมในท่ามกลางสงฆ์ เฉพาะเวลาสวดปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน มีอยู่

ส่วนเราแล บางคราวก็อยู่เกลื่อนกล่นไปด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นผู้สงัด และทรงสรรเสริญความสงัดไซร้ บรรดาสาวกของเราที่ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือเสนาสนะอันสงัด คือป่าชัฏอยู่ มาประชุมในท่ามกลางสงฆ์เฉพาะเวลาสวดปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน ก็จะไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราโดยธรรมนี้แล้วพึ่งเราอยู่

อุทายี สาวกทั้งหลายจะไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราโดยธรรม ๕ ประการนี้ แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยประการฉะนี้

ดูกรอุทายี มีธรรม ๕ ประการอย่างอื่นอันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่

ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน

ธรรมเป็นเหตุให้ทำความเคารพข้อที่ ๑

ดูกรอุทายี สาวกทั้งหลายของเราในธรรมวินัยนี้ ย่อมสรรเสริญในเพราะอธิศีลว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มีศีล ประกอบด้วยศีลขันธ์อย่างยิ่ง นี้แลธรรมข้อที่หนึ่งอันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเรา สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่

ธรรมเป็นเหตุให้ทำความเคารพข้อที่ ๒

อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเราย่อมสรรเสริญในเพราะความรู้ความเห็นที่แท้จริงว่า พระสมณโคดม เมื่อทรงรู้เองก็ตรัสว่ารู้ เมื่อทรงเห็นเองก็ตรัสว่าเห็น ทรงแสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง มิใช่ทรงแสดงเพื่อความไม่รู้ยิ่ง ทรงแสดงธรรมมีเหตุ มิใช่แสดงไม่มีเหตุ ทรงแสดงธรรมมีความอัศจรรย์ มิใช่ทรงแสดงไม่มีความอัศจรรย์ นี้แล ธรรมข้อที่สองอันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะเคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่

ธรรมเป็นเหตุให้ทำความเคารพข้อที่ ๓

อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเราย่อมสรรเสริญในเพราะปัญญาอันยิ่งว่า พระสมณโคดมทรงมีพระปัญญา ทรงประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันยิ่ง ข้อที่ว่าพระสมณโคดมจักไม่ทรงเล็งเห็นทางแห่งถ้อยคำอันยังไม่มาถึง หรือจักทรงข่มคำโต้เถียงของฝ่ายอื่นที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เป็นการข่มได้ด้วยดีพร้อมทั้งเหตุไม่ได้ ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้

อุทายี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สาวกทั้งหลายของเรา เมื่อรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้จะพึงคัดค้านถ้อยคำให้ตกไปในระหว่าง ๆ บ้างหรือหนอ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนี้ไม่มีเลย

ดูกรอุทายี ก็เราจะหวังการพร่ำสอนในสาวกทั้งหลายก็หาไม่ สาวกทั้งหลายย่อมหวังคำพร่ำสอนของเราโดยแท้ นี้แล ธรรมข้อที่สามอันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้วพึ่งเราอยู่

ธรรมเป็นเหตุให้ทำความเคารพข้อที่ ๔

อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเราผู้อันทุกข์ท่วมทับแล้ว อันทุกข์ครอบงำแล้ว เพราะทุกข์ใด เธอเหล่านั้นเข้ามาหาเราแล้ว ถามถึงทุกขอริยสัจ เราอันเธอเหล่านั้น ถามถึงทุกขอริยสัจแล้ว ก็พยากรณ์ให้ ยังจิตของเธอเหล่านั้นให้ยินดี ด้วยการพยากรณ์ปัญหา

เธอเหล่านั้นเข้ามาหาเรา แล้วถามถึงทุกขสมุทัยอริยสัจ... ทุกขนิโรธอริยสัจ... ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราอันเธอเหล่านั้นถามถึงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจแล้วก็พยากรณ์ให้ ยังจิตของเธอเหล่านั้นให้ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหา นี้แล ธรรมข้อที่สี่ อันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะ เคารพ นับถือ บูชา แล้วพึ่งเราอยู่

ธรรมเป็นเหตุให้ทำความเคารพข้อที่ ๕

อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญ สติปัฏฐานสี่

ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้ว เจริญสติปัฏฐานสี่นั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญา (พระอรหัต) อยู่

อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญ สัมมัปปธานสี่

ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ยังความพอใจให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้เริ่มตั้งความเพียร

เพื่อยังอกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น

เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว

เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความมียิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความสมบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอก แล้วเจริญสัมมัปปธานสี่นั้นแล สาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่

อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญ อิทธิบาทสี่

ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิ และปธานสังขาร

เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิ และปธานสังขาร

เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยจิตสมาธิ และปธานสังขาร

เจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยวิมังสาสมาธิ และปธานสังขาร

ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอก แล้วเจริญอิทธิบาทสี่นั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่

อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญ อินทรีย์ห้า

ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสัทธินทรีย์ที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้

เจริญวิริยินทรีย์ที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้

เจริญสตินทรีย์ที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้

เจริญสมาธินทรีย์ที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้

เจริญปัญญินทรีย์ที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้

ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอก แล้วเจริญอินทรีย์ห้านั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญา

อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญ พละห้า

ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสัทธาพละ ที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้

เจริญวิริยพละ ที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้

เจริญสติพละ ที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้

เจริญสมาธิพละ ที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้

เจริญปัญญาพละ ที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้

ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้วเจริญพละห้านั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่

อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญ โพชฌงค์เจ็ด

ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละคืน

เจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละคืน

เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละคืน

เจริญปีติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละคืน

เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละคืน

เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละคืน

เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละคืน

ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้ว เจริญโพชฌงค์เจ็ดนั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่

อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญ อริยมรรคมีองค์แปด

ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญสัมมาทิฏฐิ เจริญสัมมาสังกัปปะ เจริญสัมมาวาจา เจริญสัมมากัมมันตะ เจริญสัมมาอาชีวะ เจริญสัมมาวายามะ เจริญสัมมาสติ เจริญสัมมาสมาธิ

ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอก แล้วเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่

อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายของเราแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้วย่อมเจริญ วิโมกข์ ๘ คือ

ผู้ได้รูปฌานย่อมเห็นรูป นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่หนึ่ง

ผู้ไม่มีรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปในภายนอก นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่สอง

ผู้น้อมใจเชื่อว่า กสิณเป็นของงามอย่างเดียว นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่สาม

ผู้ที่บรรลุอากาสานัญจายตนะด้วยมนสิการว่าอากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญาเพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจซึ่งนานัตตสัญญา โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่สี่

ผู้ที่บรรลุวิญญาณัญจายตนะด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ห้า

ผู้ที่บรรลุอากิญจัญญายตนะด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไร เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่หก

ผู้ที่บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่เจ็ด

ผู้ที่บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่แปด

ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้วเจริญวิโมกข์แปดนั้นแลสาวกของเราเป็นอันมาก จึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่

อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้วย่อมเจริญ อภิภายตนะ (คือเหตุเครื่องครอบงำธรรมอันเป็นข้าศึกและอารมณ์) ๘ ประการ คือ

ผู้หนึ่งมีความสำคัญในรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่เล็ก ซึ่งมีผิวพรรณดี และมีผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็นอภิภายตนะข้อที่หนึ่ง

ผู้หนึ่งมีความสำคัญในรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่ใหญ่  ซึ่งมีผิวพรรณดี และมีผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็นอภิภายตนะข้อที่สอง

ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่เล็ก ซึ่งมีผิวพรรณดี และมีผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็นอภิภายตนะข้อที่สาม

ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่ใหญ่ ซึ่งมีผิวพรรณดี และมีผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็นอภิภายตนะข้อที่สี่

ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันเขียว มีวรรณเขียว เขียวล้วน มีรัศมีเขียว ดอกผักตบอันเขียว มีวรรณเขียว เขียวล้วน มีรัศมีเขียว หรือว่า ผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสีมีเนื้อเกลี้ยงทั้งสองข้าง อันเขียว มีวรรณเขียว เขียวล้วน มีรัศมีเขียว แม้ฉันนั้น ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็นอภิภายตนะข้อที่ห้า

ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันเหลือง มีวรรณเหลือง เหลืองล้วนมีรัศมีเหลือง ดอกกรรณิการ์อันเหลือง มีวรรณเหลือง เหลืองล้วน มีรัศมีเหลือง หรือว่าผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสี มีเนื้อเกลี้ยงทั้งสองข้าง อันเหลือง มีวรรณเหลือง เหลืองล้วนมีรัศมีเหลือง ฉันนั้น ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็นอภิภายตนะข้อที่หก

ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันแดง มีวรรณแดง แดงล้วนมีรัศมีแดง ดอกบานไม่รู้โรยอันแดง มีวรรณแดง แดงล้วน มีรัศมีแดง หรือว่าผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสี มีเนื้อเกลี้ยงทั้งสองข้าง อันแดง มีวรรณแดง แดงล้วน มีรัศมีแดง ฉันนั้น ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็นอภิภายตนะข้อที่เจ็ด

ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันขาว มีวรรณขาว ขาวล้วนมีรัศมีขาว ดาวประกายพฤกษ์อันขาว มีวรรณขาว ขาวล้วน มีรัศมีขาว หรือว่าผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสี มีเนื้อเกลี้ยงทั้งสองข้าง อันขาว มีวรรณขาว ขาวล้วน มีรัศมีขาว ฉันนั้น ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็นอภิภายตนะข้อที่แปด.

ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอก แล้วเจริญอภิภายตนะ ๘ นั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมี อันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่

อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้วย่อมเจริญ กสิณายตนะ ๑๐ คือ

๑. ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง ปฐวีกสิณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมิได้

๒. ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง อาโปกสิณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมิได้

๓. ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง เตโชกสิณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมิได้

๔. ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง วาโยกสิณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมิได้

๕. ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง นีลกสิณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมิได้

๖. ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง ปิตกสิณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมิได้

๗. ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่งโลหิตกสิณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมิได้

๘. ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง โอทาตกสิณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมิได้

๙. ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง อากาสกสิณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมิได้

๑๐. ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง วิญญาณกสิณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมิได้

ก็เพราะสาวกทั้งหลายปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอก แล้วเจริญกสิณายตนะ ๑๐ นั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่

ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้วย่อมเจริญ ฌานสี่

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่

เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง

อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่

เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง

อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข

เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง

อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแล้ว ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่ใจบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง

ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้วเจริญฌานสี่นั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่

ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า

กายของเรานี้มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ เกิดแต่บิดามารดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้

เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ ๘ เหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใส แวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้าย เขียว เหลือง แดง ขาว หรือนวลร้อยอยู่ในนั้น บุรุษมีจักษุจะพึงหยิบแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณาเห็นว่า แก้วไพฑูรย์นี้งามเกิดเองอย่างบริสุทธิ์ ๘ เหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใส แวววาว สมส่วนทุกอย่างมีด้ายเขียว เหลือง แดง ขาว หรือนวลร้อยอยู่ในนั้น ฉันนั้น

ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราก็ฉันนั้น ปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้วย่อมรู้ชัดอย่างนี้แล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมี อันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่

ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมนิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง

เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้ไส้ นี้หญ้าปล้อง หญ้าปล้องอย่างหนึ่ง ไส้อย่างหนึ่ง ก็แต่ไส้ชักออกจากหญ้าปล้องนั่นเอง

อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงชักดาบออกจากฝัก เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้ดาบ นี้ฝัก ดาบอย่างหนึ่ง ฝักอย่างหนึ่ง ก็แต่ชักดาบออกจากฝักนั่นเอง

อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงชักงูออกจากคราบ เขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้งู นี้คราบ งูอย่างหนึ่ง คราบอย่างหนึ่ง ก็แต่งูชักออกจากคราบนั่นเอง

ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราก็ฉันนั้น ปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกนั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงบรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่

ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ

คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้
หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้
ทำให้ปรากฏก็ได้
ทำหายไปก็ได้
ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้
ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้
เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนดินบนแผ่นดินก็ได้
เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้
ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้
ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้

เปรียบเหมือนช่างหม้อ หรือลูกมือของช่างหม้อผู้ฉลาด เมื่อนวดดินดีแล้ว ต้องการภาชนะชนิดใด ๆ พึงทำภาชนะชนิดนั้น ๆ ให้สำเร็จได้

อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างงา หรือลูกมือของช่างงาผู้ฉลาด เมื่อแต่งงาดีแล้ว ต้องการเครื่องงาชนิดใด ๆ พึงทำเครื่องงาชนิดนั้น ๆ ให้สำเร็จได้

อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างทอง หรือลูกมือของช่างทองผู้ฉลาด เมื่อหลอมทองดีแล้ว ต้องการทองรูปพรรณชนิดใด พึงทำทองรูปพรรณชนิดนั้น ๆ ให้สำเร็จได้

สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้ว ย่อมบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ

ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราก็ฉันนั้น ปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้วนั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่

ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์

เปรียบเหมือนบุรุษเป่าสังข์ผู้มีกำลัง จะพึงยังคนให้รู้ตลอดทิศทั้งสี่โดยไม่ยาก

สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้ว ย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์

ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราก็ฉันนั้น ปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้วนั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่

ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ

จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ
หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ

จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ
หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ

จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ
หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ

จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่
หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน

จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต
หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต

จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า
หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า

จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าเป็นสมาธิ
หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ

จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น
หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น

เปรียบเหมือนหญิงสาวชายหนุ่มที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงาหน้าของตนในกระจกอันบริสุทธิ์สะอาด หรือภาชนะน้ำอันใส หน้ามีไฝ ก็จะพึงรู้ว่าหน้ามีไฝ หรือหน้าไม่มีไฝ ก็จะพึงรู้ว่าหน้าไม่มีไฝ

สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้ว ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจ

ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราก็ฉันนั้น ปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้วนั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่

ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ

ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง... สิบชาติบ้าง... ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า

ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้น ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้

เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงจากบ้านตนไปบ้านอื่น แล้วจากบ้านแม้นั้นไปยังบ้านอื่นอีก จากบ้านนั้นกลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม เขาจะพึงระลึกได้อย่างนี้ว่า เราได้จากบ้านของเราไปบ้านโน้น ในบ้านนั้น เราได้ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น แล้วเรากลับจากบ้านนั้นมาสู่บ้านของตนตามเดิม ดังนี้

สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้ว ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้

ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราก็ฉันนั้น ปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้วนั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่

ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ว่า

สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์ ดังนี้

เปรียบเหมือนเรือนสองหลังที่มีประตูร่วมกัน บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่ตรงกลางที่เรือนนั้น จะพึงเห็นหมู่ชนกำลังเข้าไปบ้าง กำลังเดินวนเวียนอยู่บ้างที่เรือน

สาวกทั้งหลายของเราก็ฉันนั้นแล ปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้ว ย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้

ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราก็ฉันนั้น ปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้วนั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่

ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งของตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

เปรียบเหมือนสระน้ำบนยอดเขา ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนขอบสระนั้น จะพึงเห็นหอยโข่ง และหอยกาบต่าง ๆ บ้าง ก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง กำลังว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้างในสระน้ำนั้น เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า สระน้ำนี้ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอยกาบต่าง ๆ บ้าง ก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง เหล่านี้ กำลังว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้าง ในสระนั้นดังนี้

สาวกทั้งหลายของเราก็ฉันนั้น ปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งของตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่.

ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้วนั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่

นี้แลธรรมข้อที่ห้าอันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะเคารพ นับถือ บูชา แล้วพึ่งเราอยู่

ดูกรอุทายี ธรรมห้าประการนี้แล เป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะ เคารพ นับถือ บูชา แล้วพึ่งเราอยู่ ฉะนี้

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว สกุลุทายีปริพาชกยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ดังนี้แล

 

 

 

ที่มา
มหาสกุลุทายิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๓๑๔-๓๕๕

คำที่เกี่ยวข้อง :

ศรัทธา สิ่งที่ควรศรัทธา