สังคมที่อยู่ร่วมกันโดยไม่ขัดแย้งกันเลยมีบ้างไหม
เรียนถามอาจารย์ครับ ตอนนี้บ้านเมืองมีปัญหามากมายเหลือเกิน ถ้าอาจารย์เป็นนายกรัฐมนตรี อาจารย์จะแก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างไรครับ
อย่าถ้าเลย ถ้า..คือ ไม่เป็นอยู่จริง อย่าไปเสียเวลากับสิ่งที่ไม่จริงเลย อยู่กับความเป็นจริง ณ ปัจจุบันดีกว่า ตอนนี้ยังขี้เหม็นอยู่เลย กำลังหาทางทิ้งสังขารทั้งหลายให้เด็ดขาดถาวรอยู่ อันนี้เป็นของจริงแท้
ผู้ถาม
งั้นขอเปลี่ยนคำถามใหม่ครับเพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม คำถามคือ ทำไมความขัดแย้งในโลกเยอะเหลือเกิน เป็นไปได้ไหมครับที่เราจะอยู่ร่วมกันโดยไม่ต้องขัดแย้งกันเลย สังคมอย่างนั้นมีไหมครับ
อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ
โลกขัดแย้งกันเพราะมีความต่างเป็นปัจจัย มีความความคาดหวังเป็นเหตุ มีการละเมิดเป็นกลไก
ปัจจัยแห่งความขัดแย้ง
ปัจจัยแห่งความขัดแย้ง คือ แต่ละคนให้ความสำคัญกับสิ่งต่าง ๆ ต่างกัน เช่น
บางคนให้ความสำคัญกับความรู้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
บางคนให้ความสำคัญกับครอบครัวว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
บางคนให้ความสำคัญกับทรัพย์สินเงินทองว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
บางคนให้ความสำคัญกับชื่อเสียงเกียรติยศว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
บางคนให้ความสำคัญกับความสำเร็จว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
บางคนให้ความสำคัญกับความสุขว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
บางคนให้ความสำคัญกับความเจริญว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
บางคนให้ความสำคัญกับความสงบว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
บางคนให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
บางคนให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งที่มีอยู่ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
บางคนให้ความสำคัญกับชัยชนะว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
บางคนให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
บางคนให้ความสำคัญกับความยั่งยืนถึงรุ่นต่อไปว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
บางคนให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
บางคนให้ความสำคัญกับความเรียบง่ายตามธรรมชาติว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
บางคนให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
บางคนให้ความสำคัญกับการยอมส่วนรวมว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่หมู่มนุษย์ยึดถือเป็นสิ่งสำคัญต่าง ๆ กัน
ความแตกต่างทั้งหมดเป็นเพียงปัจจัย ยังไม่ใช่ความขัดแย้ง
เหตุแห่งความขัดแย้ง
เหตุแห่งความขัดแย้ง คือ เมื่อใครก็ตามเริ่มคาดหวังว่าคนอื่นจะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตนเห็นว่าสำคัญ ถ้าเขาไม่เห็นความสำคัญในสิ่งนั้น ก็เริ่มไม่พอใจว่าตนไม่ได้รับการยอมรับ และเริ่มรู้สึกเป็นทุกข์ที่ถูกปฏิเสธ และอยากจะให้คนอื่นยอมรับตนและสิ่งที่ตนเห็นว่าสำคัญให้ได้ มิเช่นนั้นจะไม่เป็นสุข
กลไกแห่งความขัดแย้ง
กลไกแห่งความขัดแย้งเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์คนหนึ่งไปแซงแทรก ข่มขืนความคิด ความเชื่อ และการให้ความสำคัญของคนอื่น เพื่อจะให้เขายอมรับตนและสิ่งที่ตนเห็นว่าสำคัญ การแทรกแซง ข่มขืนจิตใจกันนั้นคือการละเมิด การละเมิดคือกลไกสร้างความขัดแย้งโดยตรง
สังคมจะอยู่ร่วมโลกกันโดยไม่ขัดแย้งได้ไหม
คำตอบคือได้ เมื่อมนุษย์พากันปฏิบัติดังนี้
1. เลิกปรารถนาความสุขจากการยอมรับของคนอื่น หันมายอมรับตนเอง เป็นสุขในจิตใจตน ในสิ่งที่ตนมี ตนเป็น
2. เคารพสิทธิของตนและคนอื่นที่จะแตกต่าง ทุกคนมีสิทธิ์จะเห็นความสำคัญ ให้ความสำคัญ คิด เชื่อ และเป็นต่างจากเรา เราก็มีสิทธิ์ที่จะแตกต่างจากทุกคน
สังคมที่ปราศจากความขัดแย้งมีไหม
มี สังคมผู้บริสุทธิ์ ไม่มีความขัดแย้งใดในหมู่พระอรหันต์เพราะทุกท่านเป็นสุขอย่างยิ่ง ว่างอย่างยิ่ง บริบูรณ์ในตน ไม่ปรารถนาสิ่งใดจากกัน จึงปราศจากเหตุสร้างกลไกแห่งความขัดแย้ง แม้แต่ละท่านจะแตกต่างกันโดยอัธยาศัย กรรมฐานที่ถนัด ปฏิปทา คุณวิเศษ และวิหารธรรมแห่งจิต ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไร้ปัญหาโดยสิ้นเชิง
อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงให้หลักการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ปราศจากความขัดแย้งแตกแยก แต่มีความสัมพันธ์อันดีอย่างยั่งยืนตลอดกาล คือ ให้อยู่กับคนที่ ๑) มีศรัทธาเสมอกัน ๒) มีศีลเสมอกัน ๓) มีการสละเกื้อกูลเสมอกัน ๔) มีปัญญาเสมอกัน
เคล็ดสำคัญที่จะไม่มีความขัดแย้งกับใคร ๆ คือ อย่าแสวงหาความสุขจากคนอื่น เพราะเขาก็ยังทุกข์กันอยู่เลย จะผิดหวัง จงเป็นสุขจากความบริสุทธิ์ภายใน จนถึงความสุขบริสุทธิ์อมตะ แล้วจะไม่ปรารถนาสิ่งใด ๆ อีกเลย
เมื่อรู้แล้วเอาไปทำให้ได้นะ แล้วจะหายสงสัย เลิกแสวงหาตลอดกาล