Main navigation

ภิกษุที่ปฏิบัติเพื่อสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์สุขของเทวดาและมนุษย์ ๑

Q ถาม :

ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์ เพื่อมิใช่สุข เพื่อความฉิบหายแก่ชนมาก เพื่อมิใช่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน

A พระพุทธเจ้า ตอบ :

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์ เพื่อมิใช่สุข เพื่อความฉิบหายแก่ชนมาก เพื่อมิใช่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุผู้เถระเป็นรัตตัญญู บวชนาน ๑ เป็นผู้มีชื่อเสียง มียศ มีชนหมู่มากเป็นบริวาร ปรากฏแก่พวกคฤหัสถ์และบรรพชิต ๑

เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ๑

เป็นพหูสูต ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมสุตะเป็นผู้ได้สดับมาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ๑

เป็นมิจฉาทิฐิ มีความเห็นวิปริต เธอย่อมยังชนหมู่มากให้ห่างเหินจากสัทธรรม ให้ตั้งอยู่ในอสัทธรรม ชนหมู่มาก ย่อมยึดถือทิฏฐานุคติของเธอว่า เธอเป็นภิกษุผู้เถระ
รัตตัญญู บวชนาน ดังนี้บ้าง เธอเป็นภิกษุผู้เถระ มีชื่อเสียง มียศ มีชนหมู่มากเป็นบริวาร ปรากฏแก่พวกคฤหัสถ์และบรรพชิต ดังนี้บ้าง เธอเป็นภิกษุผู้เถระได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ดังนี้บ้าง เธอเป็นภิกษุผู้เถระ ผู้เป็นพหูสูต ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมสุตะ ดังนี้บ้าง ๑

ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ เพื่อมิใช่สุข เพื่อความฉิบหายแก่ชนมาก เพื่อมิใช่เกื้อกูล เพื่อ
ทุกข์ แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่อความเจริญ แก่ชนมาก เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุผู้เถระย่อมเป็นพระเถระ รัตตัญญู บวชนาน ๑

เป็นผู้มีชื่อเสียง มียศ มีชนหมู่มากเป็นบริวาร ปรากฏแก่พวกคฤหัสถ์และบรรพชิต ๑

เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ๑

เป็นพหูสูต ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ๑

เป็นสัมมาทิฐิ มีความเห็นไม่วิปริต เธอย่อมยังชนหมู่มากให้ห่างเหินจากอสัทธรรมให้ตั้งอยู่ในสัทธรรม ชนหมู่มากย่อมยึดถือทิฏฐานุคติของเธอว่า เธอเป็นภิกษุผู้เถระ รัตตัญญู บวชนานดังนี้บ้าง เธอเป็นภิกษุผู้เถระ มีชื่อเสียง มียศ มีชนหมู่มากเป็นบริวาร ปรากฏแก่พวกคฤหัสถ์และบรรพชิต ดังนี้บ้าง เธอเป็นภิกษุผู้เถระ ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ดังนี้บ้าง เธอเป็นภิกษุผู้เถระ ผู้เป็นพหูสูต ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมสุตะ ดังนี้บ้าง ๑

ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่อความเจริญ แก่ชนมาก เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

 

 

ที่มา
เถรสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๘๘

คำที่เกี่ยวข้อง :

ปฏิปทา มิจฉาทิฏฐิ