ปาราชิกสิกขาบท สิกขาบทที่ ๑
สุทินน์กลันทบุตรผู้ปราราถนาจะออกบวช ได้ร้องขออนุญาตจากบิดามารดาถึง 3 ครั้ง โดยพวกสหายช่วยเจรจาจึงได้บวชเป็นบรรพชิต
ครั้นพระสุทินน์อุปสมบทไม่นาน ก็ถืออรัญญิกธุดงค์ ปิณฑปาติกธุดงค์ ปังสุกูลิกธุดงค์ สปทานจาริกธุดงค์ พำนักอยู่ใกล้หมู่บ้านชาววัชชีตำบลหนึ่ง เวลาต่อมา วัชชีชนบทอัตคัดอาหาร ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง และภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย
พระสุทินน์จึงดำริเข้าไปพำนักอยู่ใกล้หมู่ญาติ แม้หมู่ญาติก็จักได้ให้ทานทำบุญ และภิกษุทั้งหลายก็จักได้ลาภ ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต จึงเที่ยวจาริกไป ถึงพระนครเวสาลีแล้วพำนักอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี
ครั้นเมื่อบิดามารดาของท่านพระสุทินน์ได้ทราบข่าวก็พากันไปต้อนรับและวิงวอนให้สึกถึง 3 ครา ในครั้งที่ 3 มารดาของพระสุทินน์ได้กล่าวขอให้พระสุทินน์ให้บุตรไว้สืบสกุล ท่านจึงรับปากด้วยเห็นว่าไม่มีโทษ เพราะสิกขาบทยังมิได้ทรงบัญญัติ เหล่าภุมเทพได้กระจายเสียงไปถึงพรหมโลกว่า พระสุทินน์กลันทบุตรก่อเสนียดขึ้นแล้ว ก่อโทษขึ้นแล้ว
ภายหลังภรรยาเก่าและบุตรของท่านพระสุทินน์ ได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แล้วได้ทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัต
ฝ่ายพระสุทินน์ ความรำคาญ เดือดร้อนได้เกิดแก่ท่าน ผิวพรรณหมองคล้ำ ทุกข์โทมนัส มีวิปฏิสาร ด้วยไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิต ภิกษุสหายได้กล่าวติเตียนท่านพระสุทินน์แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคทรงประชุมสงฆ์ แล้วสอบถามและติเตียนท่านพระสุทินน์ว่า ธรรมอันพระองค์ทรงแสดงแล้วโดยเอนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อมีความถือมั่น เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อเป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความกระหาย เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่ดับแห่งตัณหา เพื่อออกไปจากตัณหาชื่อวานะ
การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความกระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าในปากอสรพิษที่มีพิษร้าย ยังดีกว่า อันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคามไม่ดีเลย เพราะบุคคลผู้สอดองค์กำเนิดเข้าในปากอสรพิษเป็นต้นนั้น พึงถึงความตาย หรือความทุกข์เพียงแค่ตาย ซึ่งมีการกระทำนั้นเป็นเหตุ และเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัย เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป ไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนบุคคลผู้ทำการสอดองค์กำเนิดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคามนั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ซึ่งมีการกระทำนี้เป็นเหตุ
ด้วยเหตุแรกเกิดนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติ พระปฐมบัญญัติสิกขาบท ว่าดังนี้
ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
อนุบัญญัติ การเสพเมถุนกับสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย
ภิกษุรูปหนึ่งอาศัยอยู่ในป่าหิมวัน เขตพระนครเวสาลี ให้อาหารและเสพเมถุนธรรมในลิงตัวเมียอยู่เสมอ ภิกษุหลายรูปได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคจึงกล่าวติเตียนและบัญญัติ พระอนุบัญญัติ ๑ ว่าดังนี้
ภิกษุใดเสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย เป็น ปาราชิก หาสังวาสมิได้
อนุบัญญัติ การบอกคืนสิกขา
ภิกษุวัชชีบุตรชาวพระนครเวสาลีหลายรูป ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง แล้วเสพเมถุน เมื่อถูกความพินาศ ความวอดวาย ความเสื่อมแห่งโรคเบียดเบียนแล้วบ้าง ได้เข้าหาพระอานนท์เพื่อขอโอกาสบรรพชา พระอานนท์กราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ผู้ใดเป็นภิกษุ ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง เสพเมถุนธรรม ผู้นั้นมาแล้ว สงฆ์ไม่พึงอุปสมบทให้
ส่วนผู้ใดแล เป็นภิกษุ บอกคืนสิกขา ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง แล้วเสพเมถุนธรรม ผู้นั้นมาแล้ว สงฆ์พึงอุปสมบทให้”
แล้วทรงบัญญัติ พระอนุบัญญัติ ๒ ว่าดังนี้
ภิกษุใดถึงพร้อมซึ่งสิกขาบทและสาชีพของภิกษุทั้งหลายแล้ว ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง เสพเมถุนธรรม โดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย เป็นปาราชิก หาสังวาส มิได้
อ่าน ปาราชิกสิกขาบท สิกขาบทที่ ๑