Main navigation

ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมหาสติปัฏฐาน ๔ แก่ชาวกุรุ - ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

นีวรณบรรพ

ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือนิวรณ์ ๕ อย่างไรเล่า  

พิจารณาเห็นการมีอยู่ หรือ การไม่มีอยู่ภายในจิต การเกิดขึ้น การละเสีย การไม่ให้เกิดขึ้นต่อไป ของกามฉันท์  พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา

ขันธบรรพ

ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คืออุปาทานขันธ์ ๕ อย่างไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นดังนี้ว่า   

- อย่างนี้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ขันธ์ห้า )
- อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งขันธ์ห้า
- อย่างนี้ความดับแห่งขันธ์ห้า

อายตนบรรพ

ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อายตนะภายในและภายนอก ๖ อย่างไรเล่า 

ภิกษุในธรรมวินัยนี้

- ย่อมรู้จักนัยน์ตา รู้จักรูป รู้จักหู, รู้จักเสียง รู้จักจมูก, รู้จักกลิ่น รู้จักลิ้น, รู้จักรส, รู้จักกาย รู้จักสิ่งที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย, รู้จักใจ รู้จักธรรมารมณ์
- และรู้จักแต่ละคู่นั้นว่า เป็นที่อาศัยบังเกิดของสังโยชน์   
- สังโยชน์ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
- สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย   
- สังโยชน์ที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย 

โพชฌงคบรรพ

ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือ โพชฌงค์ ๗ - สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์  วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ - อย่างไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้

- เมื่อสัมโพชฌงค์ มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า สัมโพชฌงค์ มีอยู่ ณ ภายในจิต     
- หรือเมื่อสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า สัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต    
- สัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย     
- สัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

สัจจบรรพ

ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออริยสัจ ๔ อยู่ อย่างไรเล่า 

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา 

ทุกขอริยสัจ คือ     

- ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นทุกข์  
- ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์     

โดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ 

ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ

ตัณหาอันมีความเกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา 

ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ

ความสำรอก และความดับโดยไม่เหลือ ความสละ ความส่งคืน ความปล่อยวาง ความไม่มีอาลัย ในตัณหานั้น     

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ

มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

ดังพรรณนามาฉะนี้ 

- ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง     
- พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง      
- พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง     
- พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง     
- พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรมบ้าง     
- พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง 

สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่

 

อ่าน มหาสติปัฏฐานสูตร

อ้างอิง
มหาสติปัฏฐานสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๗๓-๓๐๐ หน้า ๒๑๖-๒๓๓
ลำดับที่
12

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ