อนิยตสิกขาบทที่ ๑
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
ท่านพระอุทายีเข้าไปหาสตรีแห่งสกุลอุปัฏฐากของท่านพระอุทายี เป็นสตรีที่มารดาบิดายกให้แก่หนุ่มของสกุลหนึ่ง
เมื่อพระอุทายีพบสตรีนั้นแล้ว เข้าไปหาสตรีซึ่งนั่งอยู่ในห้อง แล้วนั่งในที่ลับคือในที่อาสนะกำบังพอจะทำการได้กับสาวน้อยนั้น หนึ่งต่อหนึ่ง เจรจากล่าวธรรมอยู่
นางวิสาขาได้เห็นพระอุทยายีนั่งหนึ่งต่อหนึ่งกับหญิงสาวนั้นในที่ลับ จึงกล่าวกะท่านพระอุทายีว่า การที่ท่านนั่งในที่ลับ ซึ่งพอจะทำการได้กับมาตุคามหนึ่งต่อหนึ่งเช่นนี้ ไม่เหมาะ ไม่ควร แม้ท่านจะไม่ต้องการการนั้น ถึงอย่างนั้น พวกชาวบ้านผู้ที่ไม่เลื่อมใส จะบอกให้เชื่อได้ยาก
แม้ถูกนางวิสาขา กล่าวอยู่อย่างนี้ พระอุทายีมิได้เชื่อฟัง เมื่อนางวิสาขากลับไปแล้ว ได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขาต่างพากันเพ่งโทษ ติเตียน และได้กราบทูลเรื่องนี้แก่พระผู้มีพระภาค
ด้วยเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ทรงรับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ทรงสอบถาม แล้วทรงติเตียนว่า การกระทำนั้นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ไม่ควรทำ เหตุไฉนจึงได้สำเร็จการนั่งในที่ลับซึ่งพอจะทำการได้กับมาตุคามหนึ่งต่อหนึ่ง การกระทำนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของเธอนั้น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
แล้วตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียรโดยอเนกปริยาย แล้วทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น
เพราะเหตุนั้น ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลายอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑
เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑
เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑
เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑
แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า
ภิกษุใดรูปเดียวสำเร็จการนั่งในที่ลับ คือในอาสนะกำบัง พอจะทำการได้กับมาตุคามผู้เดียว อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้ เห็นภิกษุกับมาตุคามนั้นนั่นแล้ว พูดขึ้นด้วยธรรม ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือด้วยปาราชิกก็ดี ด้วยสังฆาทิเสสก็ดี ด้วยปาจิตตีย์ก็ดี ภิกษุปฏิญาณซึ่งการนั่ง พึงถูกปรับด้วยธรรม ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้นั้น กล่าวด้วยธรรมใด ภิกษุนั้นพึงถูกปรับด้วยธรรมนั้น ธรรมนี้ชื่อ อนิยต
อ่าน อนิยต สิกขาบทที่ ๑