Main navigation

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๓

ว่าด้วย
การเก็บจีวรไว้ได้เดือนหนึ่งเป็นอย่างยิ่ง
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรเห็นอกาลจีวรเกิดแก่ภิกษุรูปหนึ่ง จะทำจีวร ก็ไม่พอ จึงเอาจีวรนั้นจุ่มน้ำ ตาก แล้วดึงเป็นหลายครั้ง เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบ ทรงบัญญัติสิกขาบทว่า อกาลจีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ถ้าผ้านั้นมีไม่พอ เมื่อความหวังว่าจะได้มีอยู่ ภิกษุนั้นเก็บจีวรนั้นไว้ได้เดือนหนึ่งเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจีวรที่ยังบกพร่องจะได้พอกัน ถ้าเก็บไว้ยิ่งกว่ากำหนดนั้น แม้ความหวังว่าจะได้มีอยู่ ก็เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น อกาลจีวรเกิดแก่ภิกษุรูปหนึ่ง จะทำจีวร ก็ไม่พอ จึงเอาจีวรนั้นจุ่มน้ำ ตาก แล้วดึงเป็นหลายครั้ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปทอดพระเนตรเห็น จึงตรัสถามเรื่องราว เมื่อทรงทราบว่าภิกษุยังมีหวังจะได้จีวรมาเพิ่ม ทรงกระทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่าทรงอนุญาตให้รับอกาลจีวร แล้วเก็บไว้ได้ โดยมีหวังว่าจะได้จีวรใหม่มาเพิ่มเติม

เมื่อภิกษุทั้งหลายทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้รับอกาลจีวรแล้วเก็บไว้ได้ โดยมีหวังว่าจะได้จีวรใหม่มาเพิ่มเติม จึงรับอกาลจีวรแล้วเก็บไว้เกินหนึ่งเดือน ภิกษุเหล่านั้นห่อแขวนจีวรไว้ที่สายระเดียง เมื่อท่านพระอานนท์ได้เห็นจีวรที่ห่อแขวนไว้ จึงถามภิกษุ และได้ความว่าภิกษุห่อแขวนไว้โดยมีความหวังว่าจะได้จีวรใหม่มาเพิ่มเติม และได้เก็บจีวรไว้นานกว่าหนึ่งเดือนแล้ว

ท่านพระอานนท์จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาภิกษุเหล่านั้น แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคทรงรับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น ทรงสอบถามภิกษุ แล้วทรงติเตียนว่า

การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงได้รับอกาลจีวร แล้วเก็บไว้เกินหนึ่งเดือน การกระทำนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของ ชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น เป็นไปเพื่อความ ไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว

พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้นโดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียรโดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควร ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งว่า

พระองค์จักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ

เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ 
เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ 
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑
เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ 
เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑
เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ 
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ 
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ 
เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑
เพื่อถือตามพระวินัย ๑  

แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ดังนี้

จีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว กฐินเดาะเสียแล้ว อกาลจีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ภิกษุหวังอยู่ก็พึงรับ

ครั้นรับแล้ว พึงรีบทำ ถ้าผ้านั้นมีไม่พอ เมื่อความหวังว่าจะได้มีอยู่ ภิกษุนั้นพึงเก็บจีวรนั้นไว้ได้เดือนหนึ่งเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจีวรที่ยังบกพร่องจะได้พอกัน ถ้าเก็บไว้ยิ่งกว่ากำหนดนั้น แม้ความหวังว่าจะได้มีอยู่ ก็เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

 

อ่าน จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๓

 

อ้างอิง
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๓ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒ ข้อที่ ๓๒-๔๑
ลำดับที่
7

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรมวินัย

ธรรมวินัย