Main navigation

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๕

ว่าด้วย
การรับจีวรจากมือภิกษุณี
เหตุการณ์
พระอุทายีขอรับจีวรจากมือภิกษุณีอุปปลวัณณา ผู้มิใช่ญาติ ภิกษุและภิกษุณีทั้งหลายกล่าวเพ่งโทษ พระผู้มีพระภาคทรงประชุมสงฆ์และบัญญติสิกขาบท เว้นแต่รับจีวรแลกเปลี่ยนกันของสหธรรมิกทั้ง ๕ ได้

ภิกษุณีอุปปลวัณณาเหาะจากพระนครสาวัตถีมายังเวฬุวัน และนำเนื้อมาถวายแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคเสด็จไปบิณฑบาต นางได้พบแต่พระอุทายีอยู่เฝ้าพระวิหาร จึงฝากพระอุทายีถวายเนื้อแด่พระผู้มีพระภาค

พระอุทายีได้กล่าวกับภิกษุณีอุปปลวัณณาให้ถวายผ้าอัตรวาสกแก่เพราะตนจะพึงอิ่มเอิบด้วยผ้าอัตรวาสกเช่นเดียวกับที่พระผู้มีพระภาคจะพึงอิ่มเอิบกับเนื้อ

ภิกษุณีอุปปลวัณณาปฏิเสธ แต่ถูกพระอุทายีรบเร้า จึงได้ถวายผ้าอัตรวาสกไป และเมื่อกลับสู่สำนักถูกสอบถาม ภิกษุณีและภิกษุทั้งหลายต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา แล้วกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาค

ด้วยเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ทรงรับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ทรงสอบถาม แล้วทรงติเตียนว่า การกระทำนั้นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ บุรุษที่มิใช่ญาติ ย่อมไม่รู้การกระทำอันสมควร หรือไม่สมควร ของที่มีอยู่หรือไม่มีของสตรีที่มิใช่ญาติ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอยังรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติได้

การกระทำนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของเธอนั้น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว

แล้วตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียรโดยอเนกปริยาย แล้วทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น

เพราะเหตุนั้น ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลายอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ

เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑
เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑
เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑
เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑
เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑
เพื่อถือตามพระวินัย ๑

แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า

ภิกษุใดรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์

โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ ไม่รับจีวรแลกเปลี่ยนของภิกษุณีทั้งหลาย ถูกเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา ภิกษุจึงกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคทรงกระทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งอนุญาตให้ภิกษุรับจีวรแลกเปลี่ยนกันของสหธรรมิกทั้ง ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี ได้

แล้วทรงแสดงพระอนุบัญญัติว่า

ภิกษุใดรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เว้นไว้แต่ของแลกเปลี่ยน เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์

 

 

อ่าน จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๕

 

อ้างอิง
จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๕ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒ ข้อ ๔๖-๕๒
ลำดับที่
9

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรมวินัย

ธรรมวินัย