Main navigation

นิสสัคคิยปาจิตตีย์_สิกขาบทที่ ๖

ว่าด้วย
การขอจีวรต่อเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ
เหตุการณ์
พระอุปนันทศากยบุตรขอจีวรต่อเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุทั้งหลายกล่าวเพ่งโทษ พระผู้มีพระภาคทรงประชุมสงฆ์และบัญญติสิกขาบท และทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้ถูกชิงเอาจีวรไปก็ดี มีจีวรฉิบหายก็ดี ขอจีวรต่อเจ้าเรือนผู้ไม่ใช่ญาติได้ ไม่พึงเปลือยกายเดิน

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตร เป็นผู้เชี่ยวชาญธรรมีกถา ได้ชี้แจงธรรมีกถาให้เศรษฐีบุตรผู้หนึ่งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริงแล้ว เศรษฐีบุตรได้ปวารณากับท่านพระอุปนันทศากยบุตรให้พึงบอกสิ่งที่ต้องประสงค์อันเป็นปัจจัยของภิกษุ ท่านพระอุปนันทศากยบุตรจึงได้ขอให้เศรษฐีบุตรถวายผ้าสาฎกผืนหนึ่งจากผ้าที่มี

เศรษฐีบุตรได้กล่าวผัดว่าตนเป็นกุลบุตรจะเดินไปโดยมีผ้าผืนเดียว ดูกระไรอยู่ ขอท่านพระอุปนันทศากยบุตรรอ เมื่อไปถึงบ้านจักจัดส่งผ้าผืนหนึ่งหรือผ้าที่ดีกว่านี้มาถวาย แม้ครั้งที่สองและครั้งที่สาม พระอุปนันทศากยบุตรยังกล่าวตามประสงค์เดิม และกล่าวพ้อว่า ถ้าไม่ประสงค์จะถวาย ปวารณาจะมีประโยชน์อะไร เศรษฐีบุตรจึงได้ถวายผ้าสาฎกผืนหนึ่งแล้วกลับไป ชาวบ้านและภิกษุเมื่อทราบความต่างเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา และกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาค

ด้วยเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ทรงรับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ทรงสอบถาม แล้วทรงติเตียนว่า การกระทำนั้นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ บุรุษที่มิใช่ญาติ ย่อมไม่รู้การกระทำอันสมควร หรือไม่สมควร ของที่มีอยู่หรือไม่มีของคนที่มิใช่ญาติ เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรยังขอจีวรต่อเศรษฐีบุตรผู้มิใช่ญาติ

การกระทำนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของเธอนั้น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว

แล้วตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียรโดยอเนกปริยาย แล้วทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น

เพราะเหตุนั้น ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลายอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ

เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑
เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑
เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑
เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑
เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑
เพื่อถือตามพระวินัย ๑

แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า

ภิกษุใดขอต่อพ่อเรือนก็ดี ต่อแม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์

โดยสมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเดินทางจากเมืองสาเกตุสู่พระนครสาวัตถี ระหว่างทางถูกพวกโจรแย่งชิงจีวรไป ภิกษุเหล่านั้นรังเกียจอยู่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงห้ามขอจีวรต่อพ่อเจ้าเรือนหรือแม่เจ้าเรือน ผู้มิใช่ญาติ จึงพากันเปลือยกายเดินไปถึงพระนครสาวัตถี

ภิกษุทั้งหลายพากันเข้าใจว่าภิกษุเหล่านั้นเป็นอาชีวก เมื่อพระอุบาลีสอบสวนจึงทราบว่าภิกษุผู้เปลือยกายเป็นภิกษุ ภิกษุทั้งหลายต่างพากันติเตียนว่าควรปกปิดด้วยหญ้าหรือใบไม้เดินมา แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคทรงกระทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งอนุญาตให้ภิกษุผู้ถูกโจรแย่งชิงจีวรไป หรือมีจีวรหาย ขอจีวรต่อพ่อเจ้าเรือน หรือแม่เจ้าเรือน ผู้มิใช่ญาติได้ เมื่อเดินไปถึงวัดใดก่อน อจีวรสำหรับวิหารก็ดี ผ้าลาดเตียงก็ดี ผ้าลาดพื้นก็ดี ผ้าปูที่นอนก็ดี ของสงฆ์ในวัดนั้นมีอยู่ จะถือเอาผ้าของสงฆ์นั้นไปห่มด้วยคิดว่า ได้จีวรมาแล้ว จักคืน ดังนี้ก็ควร ถ้าจีวรสำหรับวิหารก็ดี ผ้าลาดเตียงก็ดี ผ้าลาดพื้นก็ดี ผ้าปูที่นอนก็ดี ของสงฆ์ไม่มี ต้องปกปิดด้วยหญ้าหรือใบไม้เดินมา ไม่พึงเปลือยกายเดินมา ภิกษุใดเปลือยกายเดินมา ต้องอาบัติทุกกฏ

แล้วทรงแสดงพระอนุบัญญัติว่า

ภิกษุใดขอจีวรต่อพ่อเจ้าเรือนก็ดี ต่อแม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ นอกจากว่าภิกษุเป็นผู้มีจีวรถูกชิงเอาจีวรไป มีจีวรฉิบหาย

 

 

อ่าน จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๖

 

อ้างอิง
จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๖ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒ ข้อ ๕๓-๕๗
ลำดับที่
10

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรมวินัย

ธรรมวินัย