Main navigation

นิสสัคคิยปาจิตตีย์_สิกขาบทที่ ๘

ว่าด้วย
คนตระเตรียมทรัพย์เป็นค่าจีวร
เหตุการณ์
พระอุปนันทศากยบุตรกำหนดชนิดจีวร กับผู้ไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน ผู้ที่ได้ตระเตรียมทรัพย์เป็นค่าจีวรไว้แล้ว เพื่อนิมนต์ให้ครอง ภิกษุทั้งหลายกล่าวเพ่งโทษ พระผู้มีพระภาคทรงประชุมสงฆ์และบัญญติสิกขาบท เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เพราะอาศัยความเป็นผู้ใคร่ในจีวรดี

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น บุรุษผู้หนึ่งกล่าวกะภรรยาว่าจักนิมนต์ท่านพระอุปนันทศากยบุตรให้ครองจีวร ภิกษุรูปหนึ่งถือบิณฑบาตนำความไปกล่าวแก่ท่านพระอุปนันทศากยบุตร

เมื่อพระอุปนันทศากยบุตรทราบความ จึงกล่าวว่าบุรุษนั้นเป็นอุปัฏฐากตน แล้วไปหาบุรุษนั้นสอบถาม เมื่อทราบว่าบุรุษนั้นต้องการนิมนต์ตนให้ครองจีวรจึงระบุชนิดจีวรที่ใช้ เพราะจีวรที่ไม่ใช้ แม้นิมนต์ให้ครอง ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

บุรุษนั้นจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร มักมาก ไม่สันโดษ จะให้จีวรก็ทำได้ไม่ง่าย ไฉนจึงได้เข้ามากำหนดชนิดจีวรกับเราผู้ไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน ภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย ได้ยินคำโพนทะนา แล้วกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาค

ด้วยเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ทรงรับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ทรงสอบถาม เมื่อทราบว่าบุรุษนั้นไม่ใช่ญาติ ทรงติเตียนว่า การกระทำนั้นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ คนที่มิใช่ญาติย่อมไม่รู้การกระทำอันสมควรหรือไม่สมควร ของที่มีอยู่หรือไม่มี ของคนที่มิใช่ญาติ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธออันเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน ยังเข้าไปหาพ่อเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ แล้วกำหนดชนิดจีวร

การกระทำนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำนั้น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว

แล้วตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียรโดยอเนกปริยาย แล้วทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น

เพราะเหตุนั้น ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลายอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ

เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑
เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑
เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑
เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑
เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑
เพื่อถือตามพระวินัย ๑

แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า

มีพ่อเจ้าเรือนก็ดี แม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ ตระเตรียมทรัพย์เป็นค่าจีวร เจาะจงภิกษุว่า “เราจักซื้อจีวรด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรนี้แล้ว นิมนต์ภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร” ถ้าภิกษุนั้นซึ่งเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหา แล้วกำหนดชนิดจีวรในสำนักของเขาว่า “ดีละ ท่านจงซื้อจีวรเช่นนั้น หรือเช่นนี้ ด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรนี้ แล้วให้อาตมาครองเถิด” เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เพราะอาศัยความเป็นผู้ใคร่ในจีวรดี

 

อ้างอิง
จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๘ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒ ข้อ ๖๒-๖
ลำดับที่
12

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรมวินัย

ธรรมวินัย