นิสสัคคิยปาจิตตีย์_สิกขาบทที่ ๑๐
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน เขตพระนครสาวัตถี
ครั้งนั้น ท่านมหาอำมาตย์ผู้อุปัฏฐากของท่านพระอุปนันทศากยบุตร ได้ส่งทูตไปถวายทรัพย์เป็นค่าจีวรและนิมนต์ให้ครอง ท่านพระอุปนันทศากยบุตรกล่าวว่าท่านรับทรัพย์เป็นค่าจีวรไม่ได้ รับได้เฉพาะจีวรที่สมควรตามกาล และกล่าวว่าอุบาสกหนึ่งผู้มาสู่อารามด้วยธุระอื่นเป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย
ทูตจึงได้ตกลงกับอุบาสกผู้นั้นแล้วกล่าวให้ท่านพระอุปนันทศากยบุตรไปหาอุบาสกในเวลาอันสมควร เขาจักนิมนต์ท่านพระอุปนันทศากยบุตรให้ครองจีวร แต่ท่านพระอุปนันทศากยบุตรก็มิได้กล่าวกับอุบาสก แม้ท่านมหาอัมมาตย์จะส่งทูตไปถึงสามครั้ง
ครั้นถึงสมัยประชุมของชาวนิคม ซึ่งมีกติกาว่า ผู้ใดมาประชุมล่าช้าต้องถูกปรับ ๕๐ กหาปณะ ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้เข้าไปหาอุบาสกและกล่าวว่าต้องการจีวรในวันนั้น และรบเร้าไม่ยอมให้อุบาสกผัดไปอีกวัน เป็นเหตุให้เขาไปประชุมล่าช้า
ชาวบ้านทราบความ พากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่าพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร มักมาก ไม่สันโดษ จะทำการช่วยเหลือคนเหล่านี้บ้าง ก็ทำไม่ได้ง่าย เมื่ออุบาสกขอผัดวันหนึ่ง ก็รอไม่ได้
ภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย ได้ยินคำโพนทะนาแล้ว กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาค
ด้วยเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ทรงรับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ทรงสอบถาม แล้วทรงติเตียนว่า การกระทำนั้นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเมื่ออุบาสกขอผัดว่า กรุณารอสักวันหนึ่ง จึงไม่รอ
การกระทำนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของเธอนั้น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
แล้วตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียรโดยอเนกปริยาย แล้วทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น
ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลายอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑
เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑
เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑
เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑
เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑
เพื่อถือตามพระวินัย ๑
แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า
พระราชาก็ดี ราชอำมาตย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี คหบดีก็ดี ส่งทรัพย์เป็นค่าจีวรไปด้วยทูตเฉพาะภิกษุว่า “เจ้าจงเอาทรัพย์เป็นค่าจีวรนี้ซื้อจีวร แล้วนิมนต์ภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร” ถ้าทูตนั้นเข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ทรัพย์เป็นค่าจีวรนี้นำมาเจาะจงท่าน ขอท่านจงรับทรัพย์เป็นค่าจีวรเถิด” ภิกษุนั้นพึงกล่าวต่อทูตนั้นอย่างนี้ว่า “พวกอาตมารับทรัพย์เป็นค่าจีวรไม่ได้ รับเฉพาะจีวรที่สมควรตามกาล”
ถ้าทูตนั้นกล่าวต่อภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “ก็มีใครผู้เป็นไวยาวัจกรของท่านบ้างไหม” ภิกษุผู้ต้องการจีวรพึงแสดงชนผู้ทำการในอารามหรืออุบาสกให้เป็นไวยาวัจกร “ผู้นี้เป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย”
ถ้าทูตตกลงกับไวยาวัจกรแล้ว เข้าไปหาภิกษุนั้น กล่าวอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าตกลงกับคนที่ท่านแนะนำว่าเป็นไวยาวัจกรแล้ว ท่านจงไปหาในเวลาอันสมควร เขาจะนิมนต์ท่านให้ครองจีวร” ภิกษุผู้ต้องการจีวรพึงเข้าไปหาไวยาวัจกร แล้วทวงหรือเตือน ๒-๓ ครั้งว่า “อาตมาต้องการจีวร” เมื่อทวงหรือเตือน ๒-๓ ครั้ง ให้เขาจัดจีวรสำเร็จได้ นั่นเป็นการดี
ถ้าไม่สำเร็จ พึงไปยืนแสดงตนนิ่ง ๆ ๖ ครั้งเป็นอย่างมาก เมื่อยืนแสดงตนนิ่งๆ ๖ ครั้งเป็นอย่างมากแล้ว ให้เขาจัดจีวรสำเร็จได้ นั่นเป็นการดี ถ้าพยายามเกินกว่านั้นให้เขาจัดจีวรสำเร็จได้ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ถ้าไม่สำเร็จ พึงไปเองหรือส่งทูตไปในสำนักที่เขาส่งทรัพย์เป็นค่าจีวรมา กล่าวว่า “ทรัพย์เป็นค่าจีวรที่ท่านส่งไปเจาะจงภิกษุรูปใด ไม่ได้อำนวยประโยชน์อะไรแก่ภิกษุรูปนั้นเลย ท่านจงทวงทรัพย์ของท่านคืนมา ทรัพย์ของท่านอย่าเสียหายเลย” นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น