Main navigation

ภัททาลิสูตร

ว่าด้วย
คุณแห่งการฉันอาหารหนเดียว
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายถึงประโยชน์ของการฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว และรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวด้วย พระภัททาลิกราบทูลว่าไม่สามารถทำได้ ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นขณะที่พระผู้มีพระภาคกำลังจะทรงบัญญัติสิกขาบท ต่อมาพระภัททาลิได้ทูลขอขมาพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ตรัสเตือนและทรงแสดงผลของผู้ทำให้ไม่บริบูรณ์และบริบูรณ์ในสิกขา

พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่าพระองค์ฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว เมื่อพระองค์ฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว รู้สึกคุณ คือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ และได้ให้ภิกษุทั้งหลายฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวและจักรู้สึกคุณ คือ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระภัททาลิได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าท่านไม่สามารถจะฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวได้ เพราะจะพึงมีความรำคาญ ความเดือดร้อน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เมื่อท่านพระภัททาลิรับนิมนต์ ณ ที่ใดแล้ว พึงฉัน ณ ที่นั้นเสียส่วนหนึ่งแล้วนำส่วนหนึ่งมาฉันอีกก็ได้ เมื่อฉันได้อย่างนี้ ก็จักยังชีวิตให้เป็นไปได้

พระภัททาลิยังทูลว่าไม่สามารถจะฉันด้วยอาการอย่างนั้นได้เพราะถ้าฉันด้วยอาการอย่างนั้น จะพึงมีความรำคาญ ความเดือดร้อน

ท่านพระภัททาลิประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังจะทรงบัญญัติสิกขาบท เมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ท่านพระภัททาลิจึงไม่ได้ให้ตนประสบพระพักตร์พระผู้มีพระภาคตลอดไตรมาสนั้นเหมือนภิกษุผู้ไม่ทำความบริบูรณ์ในสิกขาในพระศาสนาของพระศาสดา

ต่อมา ท่านพระภัททาลิเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายที่ช่วยกันทำจีวรกรรมสำหรับพระผู้มีพระภาค ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวเตือนให้ท่านพระภัททิลามนสิการความผิดและขอขมาพระพุทธเจ้า

พระภัททาลิขอขมาพระผู้มีพระภาค

ท่านพระภัททาลิรับคำของภิกษุเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า โทษได้ครอบงำตนเอง ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังทรงบัญญัติสิกขาบท เมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ขอพระผู้มีพระภาครับโทษของท่านโดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไป

พระผู้มีพระภาคทรงเตือนพระภัททาลิว่า

โทษได้ครอบงำท่านพระภัททาลิผู้เป็นคนพาล ได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นเมื่อพระองค์กำลังจะบัญญัติสิกขาบท เมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา

แม้เหตุที่ท่านพระภัททาลิต้องแทงตลอดว่า พระผู้มีพระภาค ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อบาสิกา สมณพราหมณ์ต่างลัทธิมากด้วยกัน เข้าจำพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้พระผู้มีพระภาค ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สมณพราหมณ์ต่างลัทธิเหล่านั้นจักทรงทราบว่า ภิกษุชื่อภัททาลิไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา ท่านพระภัททาลิก็มิได้แทงตลอด

พระภัททาลิได้กล่าวขอพระผู้มีพระภาคทรงรับโทษของท่านโดยความเป็นโทษเพื่อความสำรวมต่อไป

พระพุทธเจ้าตรัสว่าภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นอริยบุคคล อุภโตภาควิมุติ ปัญญาวิมุติ กายสักขี ทิฏฐิปัตตะ สัทธาวิมุติ ธรรมานุสารี สัทธานุสารี หากพระองค์กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นว่า มาเถิด เราจะก้าวไปในหล่ม ภิกษุอริยะเหล่านั้นพึงก้าวไป พึงน้อมกายไป ไม่พึงกล่าวปฏิเสธใข่หรือไม่

ท่านพระภัททาลิมิได้เป็นพระอริยบุคคลเหล่านั้น ยังเป็นคนว่าง คนเปล่า คนผิด จึงได้ประกาศความไม่อุตสาหะเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังทรงบัญญัติสิกขาบท เมื่อภิกษุสงฆ์กำลังสมาทานสิกขา

พระพุทธเจ้าทรงเตือนท่านพระภัททาลิว่า โทษได้ครอบงำพระภัททาลิ แต่เพราะท่านภัททาลิเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม พระองค์จึงทรงรับโทษ ข้อที่บุคคลเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ
 
ผู้ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาไม่ทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษ

พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปว่า ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา มีความดำริอย่างนี้ว่า ถ้ากระไร เราพึงเสพเสนาสนะอันสงัด บางทีเราพึงทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษ คือ ความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้

เขาเสพเสนาสนะอันสงัด เมื่อหลีกออกอยู่ด้วยประการนั้น พระศาสดาก็ทรงติเตียนได้ เพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลายใคร่ครวญแล้วก็ติเตียนได้ เทวดาก็ติเตียนได้ แม้ตนเองก็ติเตียนตนได้ เขาอันชนติเตียนแล้ว ไม่ทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา

ผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาย่อมทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษ

ส่วนภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา เขามีความดำริอย่างนี้ว่า ถ้ากระไรเราพึงเสพเสนาสนะอันสงัด บางทีเราพึงทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษ คือความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้

เขาเสพเสนาสนะอันสงัด เมื่อหลีกออกอยู่ด้วยประการนั้น แม้พระศาสดา เพื่อนพรหมจรรย์ ผู้รู้ทั้งหลาย เทวดาก็ไม่ติเตียน แม้ตนเองก็ติเตียนตนไม่ได้ เขาอันชนไม่ติเตียนแล้ว ย่อมทำให้แจ้งชัดซึ่งคุณวิเศษคือความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์

ภิกษุนั้นสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา

ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา

ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา

ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา

ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ เพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม เพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี เพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา

การระงับอธิกรณ์

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเนือง ๆ เป็นผู้มากด้วยอาบัติ ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ก็ยังฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น นำเอาถ้อยคำในภายนอกมากลบเกลื่อน ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อมให้ปรากฏ ไม่ประพฤติโดยชอบ ไม่ประพฤติถอนตนออก ไม่กล่าวว่าตนจะทำตามความพอใจของสงฆ์ เหตุที่ภิกษุเป็นผู้ว่ายากนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงพิจารณาโทษของภิกษุนั้นโดยประการที่อธิกรณ์จะไม่ระงับโดยเร็ว

ส่วนภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเนือง ๆ เป็นผู้มากด้วยอาบัติ ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ไม่ฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น ไม่นำถ้อยคำในภายนอกมากลบเกลื่อน ไม่ทำความโกรธ ความขัดเคือง และทำความอ่อนน้อมให้ปรากฏ ประพฤติชอบ ประพฤติถอนตนออก กล่าวว่า ตนจะทำตามความพอใจของสงฆ์ เหตุที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่ายนั้น ภิกษุทั้งหลายย่อมพิจารณาโทษของภิกษุนั้นโดยประการที่อธิกรณ์จะระงับได้โดยเร็ว
 
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเป็นบางครั้ง ไม่มากด้วยอาบัติ ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ก็ยังฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น นำเอาถ้อยคำในภายนอกมากลบเกลื่อน ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อมให้ปรากฏ ไม่ประพฤติชอบ ไม่ประพฤติถอนตนออก ไม่กล่าวว่า ตนจะทำตามความพอใจของสงฆ์ เหตุที่ภิกษุเป็นผู้ว่ายากนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงพิจารณาโทษของภิกษุนั้นโดยประการที่อธิกรณ์จะไม่ระงับโดยเร็ว

ส่วนภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเป็นบางครั้ง ไม่มากด้วยอาบัติ ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ไม่ฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น ไม่นำถ้อยคำในภายนอกมากลบเกลื่อน ไม่ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ประพฤติชอบ ประพฤติถอนตนออก กล่าวว่าตนจะทำตามความพอใจของสงฆ์ เหตุที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่ายนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงพิจารณาโทษของภิกษุนั้นโดยประการที่อธิกรณ์จะระงับได้โดยเร็ว

 ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ นำชีวิตไปด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณ ภิกษุทั้งหลายจักข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุนี้ แล้วทำเหตุ (เป็นอธิกรณ์) ด้วยความตั้งใจว่า ศรัทธาพอประมาณ ความรักพอประมาณอย่าได้เสื่อมไปจากภิกษุเลย 

นี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัยสำหรับภิกษุทั้งหลายที่จะข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ แล้วทำเหตุ (เป็นอธิกรณ์)

นี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัยสำหรับภิกษุทั้งหลายที่จะไม่ข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ แล้วทำเหตุ (เป็นอธิกรณ์)


พระภัททาลิทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ที่เมื่อก่อนได้มีสิกขาบทน้อย แต่ภิกษุดำรงอยู่ในอรหัตผลเป็นอันมาก และอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ที่เดี๋ยวนี้ได้มีสิกขาบทเป็นอันมาก แต่ภิกษุดำรงอยู่ในอรหัตผลน้อย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จริงอย่างนั้น เมื่อสัตว์ทั้งหลายกำลังเสื่อม พระสัทธรรมกำลังอันตรธาน สิกขาบทมีอยู่มากมาย แต่ภิกษุดำรงอยู่ในอรหัตผลน้อยนัก

พระศาสดายังไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายตราบเท่าที่อาสวัฏฐานิยธรรม (ธรรมที่ทำให้เกิดอาสวะ) บางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้

ต่อเมื่อใดอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าปรากฏขึ้นในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ เมื่อนั้น พระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น

อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัย ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ ยังไม่ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ ยังไม่ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ ยังไม่ถึงความเป็นพหูสูต ยังไม่ถึงความเป็นรัตตัญญู

ต่อเมื่อใด สงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ ถึงความเป็นพหูสูต ถึงความเป็นรัตตัญญู เมื่อนั้นอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าจึงจะปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้

เมื่ออาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นปรากฏ พระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายเพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น

พระองค์ตรัสถามท่านภัททาลิว่าจำได้ถึงธรรมที่พระองค์แสดงปริยายเปรียบด้วยอาชาไนยหนุ่มแก่ท่านภัททาลิได้หรือไม่ ท่านภัททาลิตอบว่าจำไม่ได้ เพราะมิได้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาเป็นเวลานาน

พระพุทธเจ้าตรัสว่าความเป็นผู้ไม่ทำให้บริสุทธิ์ในสิกขาไม่ได้เป็นเหตุเป็นปัจจัย แต่เป็นเพราะเมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ ท่านภัททาลิไม่ต้องการ ไม่ใส่ใจ ไม่รวบรวมด้วยใจทั้งปวง ไม่เงี่ยโสตลงฟังธรรม

แล้วทรงแสดงธรรมปริยายเปรียบด้วยม้าอาชาไนยหนุ่ม ให้ท่านภัททาลิฟังและใส่ใจในธรรมนั้นให้ดี

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมปริยายเปรียบเทียบการฝึกม้าของนายสารถี

เปรียบเหมือนนายสารถีฝึกม้า ได้ม้าตัวงามมาแล้ว ครั้งแรกฝึกให้รู้เหตุในการใส่บังเหียน เมื่อนายสารถีฝึกให้มันรู้เหตุในการใส่บังเหียน ความประพฤติเป็นข้าศึก การพยศ การดิ้นรนยังมีอยู่เหมือนม้ายังไม่เคยฝึก มันสงบการพยศลงได้เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนือง ๆ ฝึกให้รู้โดยลำดับ

นายสารถีฝึกม้าจึงฝึกให้มันรู้เหตุยิ่งขึ้นไปในการเทียมแอก เมื่อนายสารถีฝึกให้มันรู้เหตุในการเทียมแอก ความประพฤติเป็นข้าศึก การพยศ การดิ้นรนยังมีอยู่เหมือนม้าที่ยังไม่เคยฝึก มันสงบการพยศลงได้เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนือง ๆ ฝึกให้รู้โดยลำดับ

นายสารถีผู้ฝึกม้าจึงฝึกให้มันรู้เหตุยิ่งขึ้นไปในการก้าวย่าง ในการวิ่งเป็นวงกลม ในการจรดกีบ ในการวิ่ง ในประโยชน์ต่อเสียงร้อง ในการฝึกไม่ให้ตื่นตกใจ เพราะเสียงกึกก้องต่าง ๆ ในการเป็นม้ามีคุณที่พระราชาพึงรู้ ในวงศ์พญาม้า ในความว่องไวชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าควรแก่คำอ่อนหวานชั้นเยี่ยม

เมื่อนายสารถีฝึกให้มันรู้เหตุ การดิ้นรนยังมีอยู่เหมือนม้าที่ยังไม่เคยฝึก มันสงบการพยศลงได้เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนือง ๆ ฝึกให้รู้โดยลำดับ สารถีผู้ฝึกม้าย่อมเพิ่มเหตุเป็นที่ตั้งแห่งคุณและเหตุเป็นที่ตั้งแห่งพละยิ่งขึ้นไป

ม้าอาชาไนยตัวงามประกอบด้วยองค์ ๑๐ ประการนี้ ย่อมเป็นพาหนะควรแก่พระราชา เป็นพาหนะสำหรับใช้สอยของพระราชา นับได้ว่าเป็นองค์ของพระราชา

ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญยิ่งกว่า

ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุติ อันเป็นของพระอเสขะ

ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้ ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรแก่อัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่าดังนี้

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว ท่านพระภัททาลิชื่นชม ยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

 

 

อ่าน ภัททาลิสูตร

อ้างอิง
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๑๖๐-๑๗๔ หน้า ๑๒๙-๑๔๐
ลำดับที่
17

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรมวินัย

ธรรมวินัย