Main navigation

ติสสสูตร

ว่าด้วย
ปัจจัยให้เกิดและไม่ให้เกิดโสกะ
เหตุการณ์
ภิกษุได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าท่านพระติสสะกล่าวว่าธรรมทั้งหลายไม่แจ่มแจ้งแก่ท่าน ถีนมิทธะครอบงำจิตของท่านอยู่ ท่านไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และมีความสงสัยในธรรมทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมให้ท่านพระติสสะยินดีตามโอวาท ตามความอนุเคราะห์ ตามคำพร่ำสอนของพระผู้มีพระภาค

ท่านพระติสสะซึ่งเป็นโอรสของพระปิตุจฉาของพระผู้มีพระภาค บอกแก่ภิกษุหลายรูปว่า กายของท่านเป็นดุจภาระหนัก ทิศทั้งหลายไม่ปรากฏแก่ท่าน ธรรมทั้งหลายไม่แจ่มแจ้งแก่ท่าน ถีนมิทธะครอบงำจิตของท่านอยู่ ท่านไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และมีความสงสัยในธรรมทั้งหลาย

ภิกษุจึงไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงรับสั่งให้ท่านพระติสสะเข้าไปเฝ้า เมื่อทรงถามและท่านพระติสสะกราบทูลว่าได้พูดเช่นนั้น พระองค์ทรงตรัสว่า

โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมบังเกิดแก่บุคคลผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรักใคร่ ความกระหาย ความเร่าร้อน ความทะเยอทะยานในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะความที่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป

ก็ข้อนี้ย่อมเป็นอย่างนี้ สำหรับบุคคลผู้ไม่ปราศจากความกำหนัดในรูป. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรักใคร่ ความกระหาย ความเร่าร้อน ความทะเยอทะยานในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะความที่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป

ก็ข้อนี้ย่อมเป็นอย่างนี้ สำหรับบุคคลผู้ปราศจากความกำหนัดในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

แล้วตรัสถามต่อไปว่า

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวของตัวเรา

เพราะเหตุนั้น อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ทั้งในเวทนา ทั้งในสัญญา ทั้งในสังขาร ทั้งในวิญญาณ

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก

เปรียบเหมือนมีบุรุษ ๒ คน คนหนึ่งไม่ฉลาดในหนทาง คนหนึ่งฉลาดในหนทาง บุรุษคนที่ไม่ฉลาดในหนทางนั้น จึงถามทางบุรุษผู้ฉลาดในหนทาง บุรุษผู้ฉลาดในหนทางนั้น บอกอย่างนี้ว่า ท่านจงไปตามทางนี้แหละสักครู่หนึ่ง แล้วจักพบทาง ๒ แพร่ง ในทาง ๒ แพร่งนั้น ท่านจงละทางซ้ายเสีย ถือเอาทางขวา ไปตามทางนั้นสักครู่หนึ่ง แล้วจักพบราวป่าอันทึบ ท่านจงไปตามทางนั้นสักพักหนึ่ง แล้วจักพบที่ลุ่มใหญ่ มีเปือกตม จงไปตามทางนั้นสักครู่หนึ่ง แล้วจักพบหนองบึง จงไปตามทางนั้นสักครู่หนึ่ง แล้วจักพบภูมิภาคอันราบรื่น

ทรงกระทำอุปมาเพื่อให้เข้าใจเนื้อความในข้อนี้ อย่างนี้

คำว่า บุรุษผู้ไม่ฉลาดในหนทางนี้ เป็นชื่อแห่งปุถุชน
คำว่า บุรุษผู้ฉลาดในหนทางนี้ เป็นชื่อแห่งตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
คำว่า ทาง ๒ แพร่งนี้ เป็นชื่อแห่งวิจิกิจฉา
คำว่า ทางซ้ายนี้ เป็นชื่อแห่งมรรคผิดอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ.

คำว่า ทางขวานี้ เป็นชื่อแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.

คำว่า ราวป่าอันทึบนี้ เป็นชื่อแห่งอวิชชา

คำว่า ที่ลุ่มใหญ่มีเปือกตม เป็นชื่อแห่งกามทั้งหลาย

คำว่า หนองบึง เป็นชื่อแห่งความโกรธและความคับแค้น

คำว่า ภูมิภาคอันราบรื่น เป็นชื่อแห่งนิพพาน

ท่านพระติสสะจงยินดีตามโอวาท ตามความอนุเคราะห์ ตามคำพร่ำสอนของพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระติสสะปลื้มใจ ชื่นชม พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

 

 

อ่าน ติสสสูตร

 

อ้างอิง
ติสสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๑๙๔-๑๙๗
ลำดับที่
20

สถานที่

ไม่ระบุ

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรมวินัย

ธรรมวินัย