Main navigation

นครวินเทยยสูตร

ว่าด้วย
สมณพราหมณ์ที่ควรเคารพและที่ไม่ควรเคารพ
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องสมณพราหมณ์ที่ควรเคารพและที่ไม่ควรเคารพแก่ชาวบ้านนครวินทะ เมื่อทรงแสดงธรรมจบชาวบ้านนครวินทะประกาศตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ทรงแวะยังบ้านพราหมณ์แห่งโกศลชนบทชื่อว่านครวินทะ พระผู้มีพระภาคมีกิตติศัพท์งามฟุ้งไปอย่างนี้ว่า

แม้เพราะเหตุดังนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่างหาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้ เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้แจกธรรม

พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนโลกนี้ ทั้งเทวดา มาร พรหม ทุกหมู่สัตว์ ทั้งสมณะและพราหมณ์ ทั้งเทวดาและมนุษย์ ให้รู้ทั่ว ทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ในท่ามกลาง ในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ ทรงประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น ย่อมเป็นการดี

พราหมณ์ คฤหบดี ชาวบ้านนครวินทะ จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ถ้าปริพาชกเจ้าลัทธิอื่นถามว่า สมณพราหมณ์เช่นไร ไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ท่านพึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า

สมณพราหมณ์เหล่าใดยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน ยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่ม ๆ ดอน ๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ สมณพราหมณ์เช่นนี้ ไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา

ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะว่าพวกเราก็ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลงในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน ยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่ม ๆ ดอน ๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ ก็เมื่อเราทั้งหลายไม่เห็นแม้ความประพฤติสงบของสมณพราหมณ์พวกนั้นที่ยิ่งขึ้นไป เพราะฉะนั้นท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จึงไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา

ถ้าปริพาชกเจ้าลัทธิอื่นถามว่า สมณพราหมณ์เช่นไร ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ท่านพึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า

สมณพราหมณ์เหล่าใด ปราศจากความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย  ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโนแล้ว มีจิตสงบแล้วภายใน ประพฤติสงบทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ สมณพราหมณ์เช่นนี้ ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา

ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะว่าแม้พวกเรายังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ในรูป ที่รู้ได้ด้วยจักษุ ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน ยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่ม ๆ ดอน ๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ ก็เมื่อเราทั้งหลายเห็นความประพฤติสงบของสมณพราหมณ์พวกนั้นที่ยิ่งขึ้นไป เพราะฉะนั้น ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จึงควรสักการะเคารพ นับถือ บูชา  

ถ้าปริพาชกเจ้าลัทธิอื่นถามว่า ก็อาการและความเป็นไปเช่นไร จึงเป็นเหตุให้กล่าวว่า ท่านผู้นั้นเป็นผู้ปราศจากราคะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะแน่ เป็นผู้ปราศจากโทสะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะแน่ เป็นผู้ปราศจากโมหะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะแน่

ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า

ท่านเหล่านั้นย่อมเสพเฉพาะเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าดง เป็นที่ ๆ ไม่มีรูปอันรู้ได้ด้วยจักษุ ไม่มีเสียงอันรู้ได้ด้วยโสต ไม่มีกลิ่นอันรู้ได้ด้วยฆานะ ไม่มีรสอันรู้ได้ด้วยชิวหา ไม่มีโผฏฐัพพะอันรู้ได้ด้วยกาย ซึ่งคนทั้งหลายเห็นแล้ว ฟังแล้ว ดมแล้ว ลิ้มแล้ว สัมผัสแล้ว จะพึงยินดีเลย

อาการและความเป็นไปนี้เป็นเหตุให้พวกข้าพเจ้ากล่าวได้อย่างนี้ว่า ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ปราศจากราคะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะแน่ เป็นผู้ปราศจากโทสะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะแน่ เป็นผู้ปราศจากโมหะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะแน่

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ คฤหบดี ชาวบ้านนครวินทะ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า แจ่มแจ้งแล้ว พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยปริยายมิใช่น้อย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ หรือเปิดของที่ปิด หรือบอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีตาดีจักเห็นรูปทั้งหลายได้ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป  

 

 

 

อ่าน นครวินเทยยสูตร

 

อ้างอิง
นครวินเทยยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๘๓๒-๘๓๖
ลำดับที่
22

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรมวินัย

ธรรมวินัย