Main navigation

ธรรมิกสูตร

ว่าด้วย
ธรรมของสมณะและศาสดาทั้ง ๖
เหตุการณ์
ท่านพระธรรมิกะเจ้าอาวาส ๗ แห่ง ด่า บริภาษภิกษุที่จรมาอาศัย จนหลีกไป เมื่อชาวบ้านทราบจึงขับไล่ท่านธรรมิกะออกไปจากอาวาสต่าง ๆ ที่ท่านย้ายไปถึง ๗ ครั้ง ท่านไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสสอนเรื่องธรรมของสมณะและศาสดาทั้ง ๖

ท่านพระธรรมิกะเป็นเจ้าอาวาสอยู่ในอาวาส ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด ท่านพระธรรมิกะ ด่า บริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีภิกษุทั้งหลายที่จรมาอาศัยด้วยวาจา เมื่อภิกษุผู้จรมาอาศัยเหล่านั้นถูกท่านพระธรรมิกะด่า บริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีด้วยวาจา ย่อมหลีกไป ไม่อยู่ ละอาวาสไป

พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบทคิดกันว่า พวกเขาได้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แต่พวกภิกษุที่จรมาอาศัยก็หลีกไป ไม่อยู่ เป็นเพราะถูกท่านพระธรรมิกะด่า เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีด้วยวาจา พวกเขาพึงขับไล่ท่านพระธรรมิกะให้หนีไป

ท่านพระธรรมิกะแม้ไปอยู่อาวาสอื่น ก็ยังคงด่า บริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีภิกษุทั้งหลายที่จรมาอาศัยด้วยวาจาเช่นเดิม

พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบทพากันไปขับไล่ท่านพระธรรมิกะให้หลีกไปจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด

เมื่อท่านพระธรรมิกะถูกขับไล่ออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง จึงเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงภูเขาคิชฌกูฏ

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าท่านธรรมิกะถูกขับไล่ออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ทรงตรัสว่าควรแล้ว ที่มาที่สำนักของพระองค์ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่ในชาติภูมิชนบทที่ถูกขับไล่ให้ออกจากอาวาสนั้น ๆ

พวกพ่อค้าทางสมุทรจับนกที่ค้นหาฝั่ง แล้วนำเรือออกเดินทางไปในสมุทร เมื่อเดินเรือไปยังไม่เห็นฝั่ง พ่อค้าเหล่านั้นจึงปล่อยนกที่ค้นหาฝั่ง มันบินไปทางทิศต่าง ๆ ถ้ามันเห็นฝั่งอยู่ใกล้ ก็บินเข้าหาฝั่งไปเลย แต่ถ้ามันไม่เห็นฝั่งอยู่ใกล้ ก็กลับมาที่เรือนั้น ฉันใด พราหมณ์ธรรมิกะถูกขับไล่ให้ออกจากอาวาสนั้น ๆ แล้วมาในสำนักของพระองค์ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

เรื่องเคยมีมาแล้ว ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะของพระเจ้าโกรัพยะมี ๕ กิ่ง ร่มเย็น น่ารื่นรมย์ใจ มีปริมณฑลใหญ่สิบสองโยชน์ มีรากแผ่ไป ๕ โยชน์ มีผลใหญ่ มีผลอร่อย พระราชากับพวกสนมย่อมทรงเสวยและบริโภคผลไทรกิ่งหนึ่ง เหล่าทหาร ชาวนิคมชนบท สมณพราหมณ์ทั้งหลาย เนื้อและนกย่อมกินกิ่งหนึ่ง ใคร ๆ ย่อมไม่หวงแหนผลแห่งต้นไทร และไม่มีใคร ๆ ทำอันตรายผลของกันและกัน

ครั้งนั้น บุรุษคนหนึ่งบริโภคผลแห่งต้นไทรใหญ่พอแก่ความต้องการแล้ว หักกิ่งหลีกไป เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรใหญ่คิดว่า มนุษย์ใจบาปคนนี้ บริโภคผลพอแก่ความต้องการแล้ว หักกิ่งหลีกไป ทำอย่างไรจะไม่ให้ต้นไทรได้ออกผลต่อไป

เมื่อต้นไทรไม่ออกผล พระเจ้าโกรัพยะเสด็จเข้าไปเฝ้าท้าวสักกะกราบทูลเรื่องต้นไทรไม่ออกผล ท้าวสักกะจึงบันดาลอิทธาภิสังขารให้มีลมฝนที่แรงกล้าพัดโค่นต้นไทรสุปติฏฐะล้มลง มีรากอยู่ข้างบน

เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรมีทุกข์เสียใจ ยืนร้องไห้อยู่ ท้าวสักกะได้เสด็จเข้าไปหาเทวดาแล้วตรัสถามว่าเหตุไรจึงทุกข์เสียใจ เทวดานั้นทูลว่า เพราะพายุแรงกล้าโค่นที่อยู่ของท่านล้มลง ทำให้มีรากอยู่ข้างบน ดังที่เห็น

รุกขธรรม (ธรรมที่เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้จะต้องประพฤติ)

ท้าวสักกะถามเทวดาว่า เมื่อท่านเทวดาดำรงอยู่ในรุกขธรรมแล้ว ลมฝนพัดโค่นที่อยู่ของท่านล้มลงได้อย่างไร

เทวดาจึงถามว่าเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ย่อมเป็นผู้ดำรงอยู่ในรุกขธรรมอย่างไร

ท้าวสักกะตอบว่าพวกชนที่ต้องการราก ย่อมนำรากต้นไม้ไป พวกชนผู้ต้องการเปลือก ย่อมนำเปลือกไป พวกชนผู้ต้องการใบย่อมนำใบไป พวกชนผู้ต้องการดอกย่อมนำดอกไป พวกชนผู้ต้องการผลย่อมนำผลไป เทวดาไม่พึงกระทำความเสียใจหรือความดีใจเพราะการกระทำนั้น ๆ เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ย่อมเป็นผู้ดำรงอยู่ในรุกขธรรมอย่างนี้

เทวดาจึงบอกว่าท่านไม่ดำรงอยู่ในรุกขธรรมเป็นแน่ ลมฝนที่แรงกล้าจึงได้พัดมาโค่นที่อยู่ให้ล้มลง และได้บอกท้าวสักกะว่าจะพึงดำรงอยู่ในรุกขธรรม ขอให้ที่อยู่มีเหมือนกาลก่อน

ท้าวสักกะได้ทรงบันดาลอิทธาภิสังขารให้มีลมฝนที่แรงกล้าพัดต้นไทรใหญ่สุปติฏฐะให้กลับตั้งขึ้นดังเดิม

ต้นไทรได้มีรากตั้งอยู่ดังเดิมฉันใด อุบาสกชาวชาติภูมิชนบทได้ขับไล่ท่านพระธรรมิกะผู้ดำรงอยู่ในสมณธรรมออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด ฉันนั้นเหมือนกัน

ท่านพระธรรมิกะทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า สมณะย่อมเป็นผู้ดำรงอยู่ในสมณธรรมอย่างไร

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

สมณะในธรรมวินัยนี้ย่อมไม่ด่าตอบบุคคลผู้ด่า ไม่เสียดสีตอบบุคคลผู้เสียดสี ไม่ประหารตอบบุคคลผู้ประหาร สมณะย่อมเป็นผู้ดำรงอยู่ในสมณธรรมอย่างนี้

พระธรรมิกะจึงทูลว่าตนถูกขับไล่ออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด

พระพุทธเจ้าทรงตรัสประทานว่า

เรื่องเคยมีมาแล้ว มีศาสดาจารย์ชื่อสุเนตตะ มูคปักขะ อรเนมิ กุททาลกะ หัตถิปาละ โชติปาละ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย มีสาวกหลายร้อยคน ได้แสดงธรรมแก่สาวกเพื่อความเป็นผู้ไปเกิดในพรหมโลก สาวกเหล่าใดไม่ยังจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้นเมื่อตายไปแล้ว ได้เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสาวกเหล่าใดได้ยังจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้นเมื่อตายไปแล้ว ได้เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์

ผู้ใดมีจิตประทุษร้าย พึงด่า บริภาษ ท่านศาสดาจารย์ทั้ง ๖ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ พร้อมทั้งหมู่สาวก ผู้นั้นพึงประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญมาก ผู้ใดมีจิตประทุษร้าย ด่า บริภาษบุคคลผู้มีทิฐิสมบูรณ์คนเดียว ผู้นี้ย่อมประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญมากกว่าผู้ด่าว่าบริภาษท่านศาสดาจารย์ทั้ง ๖ นั้น เพราะการกล่าวหาการขุดโค่นคุณความดีของคนภายนอกศาสนานี้ ไม่เหมือนการด่าว่าบริภาษในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันนี้

เพราะเหตุนั้น ท่านพระธรรมภิกขุพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของตนจักไม่ประทุษร้ายในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน

ได้มีท่านศาสดาจารย์ชื่อสุเนตตะ ชื่อมูคปักขะ ชื่ออรเนมิ ชื่อกุททาลกะ ชื่อหัตถิปาละ และได้มีพราหมณ์ปุโรหิตของพระราชาถึง ๗ พระองค์ เป็นเจ้าแห่งโค เป็นศาสดาจารย์ชื่อโชติปาละ ท่านศาสดาจารย์ผู้มียศเป็นผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นเจ้าลัทธิในอดีต ท่านเหล่านั้นได้เป็นผู้หมดกลิ่นสาป คือ ความโกรธ มุ่งมั่นในกรุณา ผ่านพ้นกามสังโยชน์ คลายกามราคะเสียได้ เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก สาวกของท่านเหล่านั้นหลายร้อย ได้เป็นผู้หมดความโกรธ มุ่งมั่นในกรุณา ผ่านพ้นกามสังโยชน์ คลายกามราคะเสียได้ ก็เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก

นรชนใดมีความดำริทางใจประทุษร้าย ด่า บริภาษท่านเหล่านั้น ผู้เป็นฤาษี ผู้เป็นนักบวชนอกศาสนา ปราศจากความกำหนัด มีจิตตั้งมั่น นรชนเช่นนั้นย่อมประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญมาก

ส่วนนรชนใดมีความดำริทางใจ ประทุษร้าย ด่า บริภาษภิกษุผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้มีทิฐิสมบูรณ์รูปเดียว นรชนผู้นี้ย่อมประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญมากกว่าผู้ด่าว่าบริภาษท่านศาสดาจารย์เหล่านั้น

นรชนไม่พึงเสียดสีท่านผู้มีความดี ผู้ละทิฐิได้แล้ว

บุคคลใดเป็นผู้มีอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา สติ วิริยะ สมถะ และวิปัสสนาอ่อน บุคคลผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในกาม เรียกว่าเป็นบุคคลที่เจ็ดแห่งพระอริยสงฆ์

นรชนใดเบียดเบียน ทำร้ายบุคคลเช่นนั้นผู้เป็นภิกษุในกาลก่อน นรชนนั้นชื่อว่าทำร้ายตนเอง ย่อมบั่นรอนอรหัตผลในภายหลัง

ส่วนนรชนใดรักษาตน นรชนนั้นชื่อว่าเป็นผู้รักษาตนที่เป็นส่วนภายนอก เพราะเหตุนั้น บัณฑิตไม่ขุดโค่นคุณความดีของตน ชื่อว่าพึงรักษาตนทุกเมื่อ

 

 

อ่าน ธรรมิกสูตร

 

อ้างอิง
ธรรมิกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๒๕ หน้า ๓๓๓-๓๓๘
ลำดับที่
30

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรมวินัย

ธรรมวินัย