สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑
เมื่อพระเสยยสกะบังเกิดความกระสัน ราคะรบกวนจิต ก็พยายามจงใจใช้มือปล่อยอสุจิ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง จึงติเตียนว่า การใช้มือพยายามปล่อยอสุจิ ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ
ธรรมที่ทรงแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อมีความถือมั่น เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อเป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่บรรเทาความกระหาย เพื่อเพิกถอนอาลัย เพื่อเข้าไปตัดวัฏฏะ เพื่อสิ้นแห่งตัณหา เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับทุกข์ เพื่อความไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด
การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความกระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม ทรงบอกไว้แล้วโดยอเนกปริยาย การกระทำนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว
แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า
ปล่อยสุกกะเป็นไปด้วยความจงใจ เป็นสังฆาทิเสส
ต่อมา ภิกษุบางรูป จำวัดปล่อยสติ ไม่มีสัมปชัญญะ อสุจิเคลื่อนโดยฝัน ภิกษุเหล่านั้นมีความรังเกียจที่อสุจิเคลื่อนโดยฝัน ทั้งเจตนาในฝันจะว่ามีก็ได้ คิดว่าตนต้องอาบัติสังฆาทิเสส จึงกราบเรียนพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติพระอนุบัญญัติว่า
ปล่อยสุกกะเป็นไปด้วยความจงใจ เป็นสังฆาทิเสส เว้นไว้แต่ฝัน
อ่าน สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑