Main navigation

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๕

ว่าด้วย
การชักสื่อ
เหตุการณ์
เหตุแรกเกิดให้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทว่าด้วย การชักสื่อ

พระอุทายีเข้าไปสู่สกุลเป็นอันมากที่ตนเห็นว่ามีเด็กชายหนุ่มน้อยยังไม่มีภรรยา หรือเด็กหญิงสาวน้อยยังไม่มีสามี ย่อมพรรณนาคุณสมบัติของเด็กหญิงสาวน้อยในเรือนมารดาบิดาของเด็กชายหนุ่มน้อยว่า เด็กน้อยของสกุลโน้น มีรูปงาม น่าดู น่าชม คมคาย มีแววฉลาด มีไหวพริบดี ขยัน ไม่เกียจคร้าน เด็กน้อยนั้นสมควรแก่เด็กน้อยนี้ 

พวกที่ไม่พอใจแม่ผัว พ่อผัว หรือสามี ต่างก็กล่าวแช่งชักพระอุทายี ส่วนสตรีที่ยินดีด้วยแม่ผัว พ่อผัว หรือสามี ต่างก็อำนวยพร ทำให้เกิดการเพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาว่า ไฉนท่านพระอุทายีจึงได้ชักสื่อ

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่อง จึงทรงติเตียนว่าการกระทำนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว 

พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ว่าดังนี้

ภิกษุใดทำหน้าที่ชักสื่อ คือ บอกความประสงค์ของบุรุษแก่สตรีก็ดี บอกความประสงค์ของสตรีแก่บุรุษก็ดี เพื่อให้เป็นภรรยาหรือเป็นชู้รัก เป็นสังฆาทิเสส

ต่อมา เมื่อพระอุทายีได้เป็นผู้ชักสื่อแก่หญิงแพศยาเพื่ออยู่ร่วมชั่วขณะหนึ่ง พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติอนุบัญญัติ ว่าดังนี้

ภิกษุใดทำหน้าที่ชักสื่อ คือ บอกความประสงค์ของชายแก่หญิงก็ดี บอกความประสงค์ของหญิงแก่ชายก็ดี เพื่อให้เป็นภรรยาหรือเป็นชู้รักโดยที่สุดแม้เพื่อให้อยู่ร่วมกันชั่วคราว เป็นสังฆาทิเสส



อ่าน สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๕
 

อ้างอิง
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๕ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑​ ข้อที่ ๔๒๑-๔๒๖ หน้า ๕๖๐-๕๖๖
ลำดับที่
11

สถานที่

วิหารเชตวัน

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรมวินัย

ธรรมวินัย