สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๘
พระทัพพมัลลบุตรกราบเรียนพระผู้มีพระภาคว่า ตนได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นว่า ตนมีอายุ ๗ ปี ได้ทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตแล้ว คุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งสาวกจะพึงบรรลุ ได้บรรลุแล้วโดยลำดับทุกอย่าง ไม่มีกรณียกิจอะไรที่ยิ่งขึ้นไป หรือกรณียกิจที่ทำเสร็จแล้วก็ไม่ต้องกลับสั่งสมอีก ควรทำการช่วยเหลืออะไรแก่สงฆ์ จึงคิดตกลงใจว่า ควรแต่งตั้งเสนาสนะและแจกอาหารแก่สงฆ์
พระผู้มีพระภาคทรงกระทำธรรมีกถา แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายให้สงฆ์สมมติทัพพมัลลบุตรเป็นผู้แต่งตั้งเสนาสนะและแจกอาหาร
ท่านพระทัพพมัลลบุตร อันสงฆ์สมมติแล้ว แต่งตั้งเสนาสนะรวมไว้เป็นพวก ๆ สำหรับหมู่ภิกษุผู้สม่ำเสมอกัน คือ
ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ทรงพระสูตร ท่านก็แต่งตั้งเสนาสนะรวมภิกษุเหล่านั้นไว้แห่งหนึ่ง ด้วยประสงค์ว่า พวกภิกษุจักซักซ้อมพระสูตรกัน
ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ทรงวินัย ท่านก็แต่งตั้งเสนาสนะรวมภิกษุเหล่านั้นไว้แห่งหนึ่ง ด้วยประสงค์ว่า พวกภิกษุจักวินิจฉัยพระวินัยกัน
ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ทรงพระอภิธรรม ท่านก็แต่งตั้งเสนาสนะรวมภิกษุเหล่านั้นไว้แห่งหนึ่ง ด้วยประสงค์ว่า พวกภิกษุจักสนทนาพระอภิธรรมกัน
ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ได้ฌาน ท่านก็แต่งตั้งเสนาสนะรวมภิกษุเหล่านั้นไว้แห่งหนึ่ง ด้วยประสงค์ว่า พวกภิกษุจักไม่รบกวนกัน
ภิกษุเหล่าใดชอบดิรัจฉานกถา ยังมีการบำรุงร่างกายอยู่มาก ท่านก็แต่งตั้งเสนาสนะรวมภิกษุเหล่านั้นไว้แห่งหนึ่ง ด้วยประสงค์ว่า ท่านเหล่านี้จักอยู่ด้วยความยินดีนี้
ภิกษุเหล่าใดมาในเวลาค่ำคืน ท่านก็เข้าจตุตถฌานมีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ แล้วแต่งตั้งเสนาสนะสำหรับภิกษุเหล่านั้นโดยแสงสว่างนั้น
ภิกษุบางพวกแกล้งมาแม้ในเวลาค่ำคืน ด้วยประสงค์จักได้ชมอิทธิปาฏิหาริย์ของท่านพระทัพพมัลลบุตรก็มี ท่านพระทัพพมัลลบุตรก็ถามภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ปรารถนาจะอยู่ที่ไหน จะให้แต่งตั้งเสนาสนะ ณ ที่ไหน
ภิกษุเหล่านั้นแกล้งอ้างที่ไกลๆ ว่า พระคุณเจ้าทัพพะ ที่ภูเขาคิชฌกูฏบ้าง ที่เหวสำหรับทิ้งโจรบ้าง ที่กาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิบ้าง ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหาข้างภูเขาเวภาระบ้าง ที่เงื้อมเขาสัปปโสณฑิกะใกล้สีตวันบ้าง ที่ซอกเขาโคมฏะบ้าง ที่ซอกเขาตินทุกะบ้าง ที่ซอกเขากโปตะบ้าง ที่ตโปทารามบ้าง ที่ชีวกัมพวันบ้าง ที่มัททกุจฉิมฤคทายวันบ้าง
ท่านพระทัพพมัลลบุตรจึงเข้าจตุตถฌานมีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ มีองคุลีส่องแสงสว่างเดินนำหน้าภิกษุเหล่านั้นไป แม้ภิกษุเหล่านั้นก็เดินตามหลังท่านพระทัพพมัลลบุตรไปโดยแสงสว่างนั้น ท่านพระทัพพมัลลบุตรแต่งตั้งเสนาสนะสำหรับภิกษุเหล่านั้น โดยชี้แจงอย่างนี้ว่า นี่เตียง
นี่ตั่ง นั่นฟูก นี่หมอน นี่ที่ถ่ายอุจจาระ นี่ที่ถ่ายปัสสาวะ นี่น้ำฉัน นี่น้ำใช้ นี่ไม้เท้า นี่ระเบียบกติกาสงฆ์ ควรเข้าเวลานี้ ควรออกเวลานี้
สมัยนั้น พระเมตติยะและพระภุมมชกะ เป็นพระบวชใหม่ และมีบุญน้อย เสนาสนะของสงฆ์ชนิดเลว และอาหารอย่างเลว ตกถึงแก่เธอทั้งสอง ครั้งนั้น ชาวบ้านในพระนครราชคฤห์ชอบถวาย เนยใสบ้าง น้ำมันบ้าง แกงที่มีรสดี ๆ บ้าง ซึ่งจัดปรุงเฉพาะพระเถระทั้งหลาย ส่วนพระเมตติยะและพระภุมมชกะ เขาถวายอาหารอย่างธรรมดาตามแต่จะหาได้ เป็นชนิดปลายข้าว มีน้ำส้มเป็นกับ
วันหนึ่ง ภัตตุเทสก์ได้ถวายภัตตาหารของคหบดีผู้ชอบถวายอาหารที่ดีแก่พระเมตติยะและพระภุมมชกะเพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น เมื่อท่านคหบดีทราบจากพระทัพพมัลลบุตรว่า อาหารจะจัดถวายแก่พระเมตติยะและพระภุมมชกะ คหบดีเกิดความน้อยใจว่า เหตุใดภิกษุผู้ลามกจักฉันภัตตาหารในเรือน จึงสั่งหญิงคนใช้ให้จัดอาสนะไว้ที่ซุ้มประตู แล้วอังคาสภิกษุผู้จะมาฉันภัตตาหารด้วยปลายข้าว มีน้ำส้มเป็นกับ
พระเมตติยะและพระภุมมชกะกล่าวแก่กันว่า ท่านภัตตุเทสก์จัดภัตตาหารในเรือนท่านกัลยาณถัตติกคหบดีให้พวกตน พรุ่งนี้ท่านคหบดีจักอังคาสตนด้วยข้าวสุก กับข้าว น้ำมัน แกงที่มีรสอร่อย ๆ ด้วยความดีใจนั้น ตกกลางคืนเธอทั้งสองนั้นจำวัดหลับไม่เต็มตื่น
รุ่งขึ้น หญิงคนใช้นำอาหารปลายข้าวซึ่งมีน้ำผักดองเป็นกับเข้าไปถวายที่ซุ้มประตู พระเมตติยะและพระภุมมชกะก็คิดว่าท่านคหบดีคงถูกพระทัพพมัลลบุตรยุยงเป็นแน่นอน เกิดความเสียใจที่ไม่ได้ฉันดังใจนึก
พระเมตติยะและพระภุมมชกะให้ภิกษุณีเมตติยากล่าวหาพระทัพพมัลลบุตรว่าถูกพระทัพพมัลลบุตรประทุษร้าย เมื่อถูกไต่สวน พระทัพพมัลลบุตรกล่าวว่า ตั้งแต่เกิดมา แม้โดยความฝันก็ยังไม่รู้จักเสพเมถุนธรรม จะกล่าวไยถึงเมื่อตอนตื่นอยู่
พระผู้มีพระภาคจึงให้ภิกษุณีเมตติยาสึกเสีย และสอบสวนภิกษุ พระเมตติยะและพระภุมมชกะจึงได้แถลงเรื่องนี้กะภิกษุทั้งหลายว่า นางไม่ผิดอะไร พวกตนแค้นเคือง ไม่พอใจ มีความประสงค์จะให้ท่านพระทัพพมัลลบุตรสึก จึงได้ให้นางใส่ไคล้
ภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่สิกขา ต่างพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระเมตติยะและพระภุมมชกะจึงได้โจทท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิกอันหามูลมิได้
ด้วยเหตุแรกเกิดนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ว่าดังนี้
ภิกษุใด ขัดใจ มีโทสะ ไม่แช่มชื่น ตามกำจัดซึ่งภิกษุด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิกอันหามูลมิได้ ด้วยหมายว่า แม้ไฉนเราจะยังเธอให้เคลื่อนจากพรหมจรรย์นี้ได้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่ง ถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม แต่อธิกรณ์นั้น เป็นเรื่องหามูลมิได้ และภิกษุยอมรับผิด เป็นสังฆาทิเสส
อ่าน สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๘