Main navigation

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๐

ว่าด้วย
การทำสงฆ์ให้แตกกัน
เหตุการณ์
เหตุแรกเกิดให้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทว่าด้วยการเพียรพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน

พระเทวทัตต์พร้อมด้วยบริษัทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลขอวัตถุ ๕ ประการ อันเป็นไปเพื่อความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย

๑. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่ป่า ตลอดชีวิต ภิกษุใดอาศัยบ้านอยู่ โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น
๒. ภิกษุทั้งหลายควรเที่ยวบิณฑบาต ตลอดชีวิต ภิกษุใดยินดีการนิมนต์ โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น
 ๓. ภิกษุทั้งหลายควรถือผ้าบังสุกุล ตลอดชีวิต ภิกษุใดยินดีผ้าคหบดี โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น
๔. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่โคนไม้ ตลอดชีวิต ภิกษุใดเข้าอาศัยที่มุงบัง โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น
๕. ภิกษุทั้งหลายไม่ควรฉันปลา และเนื้อตลอดชีวิต ภิกษุใดฉันปลาและเนื้อ โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า ภิกษุใดปรารถนา ก็จงอยู่ป่า ภิกษุใดปรารถนา ก็จงอยู่บ้าน ภิกษุใดปรารถนา ก็จงเที่ยวบิณฑบาต ภิกษุใดปรารถนา ก็จงยินดีการนิมนต์ ภิกษุใดปรารถนา ก็จงถือผ้าบังสุกุล ภิกษุใดปรารถนา ก็จงยินดีผ้าคหบดี ทรงอนุญาตรุกขมูลเสนาสนะตลอด ๘ เดือนเท่านั้น และทรงอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์ด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ ๑. ไม่ได้เห็น ๒. ไม่ได้ยิน ๓. ไม่ได้รังเกียจ

พระเทวทัตต์ร่าเริงยินดีเป็นอย่างยิ่งว่าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต วัตถุ ๕ แล้วไปสู่กรุงรราชคฤห์ โฆษณาให้ประชาชนเชื่อถือ ด้วยวัตถุ ๕ ประการ ประชาชนจำพวกที่มีศรัทธาเลื่อมใสเป็นบัณฑิต มีความรู้สูง ต่างพากันเพ่งโทษ
ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระเทวทัตต์จึงได้เพียรพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายข้อห้ามในพุทธจักรของพระผู้มีพระภาค

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่อง จึงติเตียนพระเทวทัตว่าการกระทำนั้นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ การกระทำนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเสื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว 

แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า 

ภิกษุใดเพียรพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง หรือถือเอาอธิกรณ์อันเป็นเหตุแตกกัน ยกย่องยันอยู่ ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้เพียรพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง หรืออย่าได้ถือเอาอธิกรณ์อันเป็นเหตุแตกกันยกย่องยันอยู่ ขอท่านจงพร้อมเพรียงด้วยสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศเดียวกัน ย่อมอยู่ผาสุก แลภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลาย พึงสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสีย สละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย เป็นสังฆาทิเสส

เมื่อสงฆ์สวดสมนุภาสน์แล้ว

จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ
จบกรรมวาจาสองครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
            
เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสส อาบัติทุกกฏเพราะญัตติ อาบัติถุลลัจจัยเพราะกรรมวาจาสองครั้ง ย่อมระงับ



อ่าน สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๐
 

อ้างอิง
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๐ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑​ ข้อที่ ๕๙๐-๕๙๓ หน้า ๗๑๐-๗๑๓
ลำดับที่
16

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรมวินัย

ธรรมวินัย