อนุสสติ ๖
อนุสสติ ๖ ประการ
พุทธานุสติ
อริยสาวก ย่อมเจริญพุทธานุสสติ ระลึกถึงพระตถาคตว่าแม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
ธรรมานุสติ
อริยสาวกย่อมเจริญธรรมานุสสติ ระลึกถึงพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะ
สังฆานุสติ
อริยสาวกย่อมเจริญสังฆานุสสติ ระลึกถึงพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ผู้ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบ นี้คือคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
สีลานุสติ
อริยสาวกย่อมเจริญสีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตน อันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาทิฐิไม่ยึดถือ เป็นไปเพื่อสมาธิ
จาคานุสติ
อริยสาวกย่อมเจริญจาคานุสสติ ระลึกถึงจาคะของตนว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่เรามีจิตปราศจากมลทิน คือความตระหนี่ มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีแล้วในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน
เทวดานุสติ
อริยสาวกย่อมเจริญเทวตานุสสติ ระลึกถึงเทวดาว่า เทวดาเหล่าจาตุมหาราช ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดีปรนิมมิตวสวัดดี พรหม และที่สูงกว่านั้นมีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นต่างๆนั้น ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญาเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่
สมัยใด พระอริยสาวกเจริญอนุสติอยู่ สมัยนั้น จิตนั้นเป็นจิตไม่ถูกราคะโทสะโมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก อันเป็นชื่อของเบญจกามคุณ
สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ แม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยประการฉะนี้
อ่าน อนุสสติฏฐานสูตร