Main navigation

วิชชา ๘

ว่าด้วย
(สามัญญผลสูตร)
เหตุการณ์
พระเจ้าอชาติศัตรูสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้าเรื่องผลที่ประจักษ์ได้ในปัจจุบันของการเป็นสมณะ - ปัญญา

ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสนะ (วิปัสสนาญาณ)

เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล มีรูปประกอบด้วยมหาภูต ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสดไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็น
ธรรมดาและวิญญาณของเรานี้ ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้

นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ (มโนมยิทธิญาณ)

คือ นิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง

นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี (อิทธิวิธีญาณ)

เธอบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลง แม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้

นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ (ทิพยโสตญาณ)

เธอย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสตธาตุ อันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์

นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ

เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรรคต หรือจิตไม่เป็นมหรรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น

นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ

เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมากว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมากพร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้

นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์กว่าข้อก่อนๆ.

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย (จุตูปปาตญาณ)

เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วง จักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต  วจีสุจริต มโนสุจริตไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ 

นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ

ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา  เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว. รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ ก็สามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้ออื่น ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อนี้ ย่อมไม่มี.

เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมจบ พระเจ้าอชาตศัตรูแสดงพระองค์เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต 

 

 

อ่าน สามัญญผลสูตร

อ้างอิง
สามัญญผลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๑๓๑-๑๔๐ หน้า ๗๒-๗๙
ลำดับที่
33

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรมวินัย

ธรรมวินัย