Main navigation

การสังวรในอาสวะทั้งปวง

ว่าด้วย
(สัพพาสวสังวรสูตร)
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงปริยายว่าด้วยการสังวรอาสวะทั้งปวงแก่ภิกษุทั้งหลาย

อาสวะที่จะพึงละได้เพราะการเห็นมีอยู่ ที่จะพึงละได้เพราะการสังวรก็มี ที่จะพึงละได้เพราะเสพเฉพาะก็มี ที่จะพึงละได้เพราะความอดกลั้นก็มี ที่จะพึงละได้เพราะเว้นรอบก็มี ที่จะพึงละได้เพราะบรรเทาก็มี ที่จะพึงละได้เพราะอบรมก็มี

อาสวะที่จะพึงละได้เพราะการเห็น

ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ ย่อมไม่รู้ทั่วถึงธรรมอันตนควรมนสิการ ย่อมไม่รู้ทั่วถึงธรรมอันตนไม่ควรมนสิการ 

เมื่อเขาไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ ไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการย่อมมนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมไม่มนสิการธรรมที่ควรมนสิการ

ธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ที่ปุถุชนมนสิการอยู่เป็นไฉน

เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญขึ้น ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่านี้ ที่เขามนสิการอยู่
             
ก็ธรรมที่ควรมนสิการที่ปุถุชนไม่มนสิการอยู่เป็นไฉน

เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดีที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป ธรรมที่ควรมนสิการเหล่านี้ ที่เขาไม่มนสิการอยู่ 

เพราะมนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และเพราะไม่มนสิการธรรมที่ควรมนสิการ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญแก่ปุถุชนนั้น 

ปุถุชนนั้นมนสิการอยู่โดยไม่แยบคายอย่างนี้ว่า 

เราได้มีแล้วในอดีตกาลหรือเราไม่ได้มีแล้วในอดีตกาล 
เราได้เป็นอะไรหนอ เราได้เป็นอย่างไร
เราได้เป็นอะไรแล้วจึงเป็นอะไร

ในอนาคตกาลเราจักมีหรือเราจักไม่มี
เราจักเป็นอะไร เราจักเป็นอย่างไร
เราจักเป็นอะไรแล้วจึงจักเป็นอะไร

หรือว่า ปรารภกาลปัจจุบันในบัดนี้ มีความสงสัยขึ้นภายในว่า

เรามีอยู่หรือเราไม่มีอยู่ 
เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ 
สัตว์นี้มาแต่ไหนหนอ และมันจักไปที่ไหน
             
เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการอยู่โดยไม่แยบคายอย่างนี้ บรรดาทิฏฐิ ๖ ทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนนั้นว่า 

ตนของเรามีหรือว่าตนของเราไม่มีอยู่ 
หรือว่า เราย่อมรู้ชัดตนด้วยตนเอง 
หรือว่า เราย่อมรู้ชัดสภาพมิใช่ตนด้วยตนเอง 
หรือว่า เราย่อมรู้ตนด้วยสภาพมิใช่ตน 

ทิฏฐิย่อมเกิดมีแก่ปุถุชนนั้นอย่างนี้ว่า ตนของเราเป็นผู้เสวย ย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมทั้งดีทั้งชั่วในอารมณ์นั้น ๆ ก็ตนของเรานี้นั้นเป็นของแน่นอน ยั่งยืน เที่ยงแท้ ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่อย่างนั้นเสมอด้วยสิ่งยั่งยืนแท้

ข้อนี้เรากล่าวว่าทิฏฐิ 

ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับผู้ประกอบด้วยทิฏฐิสังโยชน์ ย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมไม่พ้นจากทุกข์

ส่วนอริยสาวกผู้สดับแล้ว ผู้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับแนะนำด้วยดีในธรรมของพระอริยะ ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ และไม่ควรมนสิการ

เมื่ออริยสาวกนั้นรู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ และไม่ควรมนสิการ ย่อมไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ

ธรรมที่อริยสาวกไม่มนสิการ

เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญขึ้น ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่านี้ ที่อริยสาวกไม่มนสิการ

ธรรมที่อริยสาวกมนสิการ

เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป ธรรมที่ควรมนสิการเหล่านี้ ที่อริยสาวกมนสิการอยู่

เพราะไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และเพราะมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น จะไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว จะเสื่อมสิ้นไปแก่อริยสาวกนั้น

อริยสาวกนั้นย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ 

เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการอยู่โดยแยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมเสื่อมสิ้นไป 

อาสวะเหล่านี้พึงละได้เพราะการเห็น

อาสวะที่พึงละได้เพราะการสำรวม

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วเป็นผู้สำรวมแล้วด้วยความสำรวมในจักขุนทรีย์ ​ในโสตินทรีย์ ในฆานินทรีย์ ในชิวหินทรีย์ ในกายินทรีย์ ในมนินทรีย์ อยู่

ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่สำรวมจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์  อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ผู้สำรวมจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์ อยู่อย่างนี้

อาสวะเหล่านี้พึงละได้เพราะการสังวร

อาสวะที่จะพึงละได้เพราะการพิจารณาเสพ

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพจีวรเพียงเพื่อกำจัด หนาว ร้อน สัมผัส แห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อจะปกปิด อวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบ

พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบิณฑบาตมิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อประดับ มิใช่เพื่อตบแต่ง เพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ เพื่อให้เป็นไป เพื่อกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า จะกำจัดเวทนาเก่าเสียด้วย จะไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไป ความไม่มีโทษ และความอยู่สบายด้วย จักมีแก่เรา ฉะนี้

พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพเสนาสนะ เพียงเพื่อกำจัดหนาวร้อน สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายแต่ฤดู เพื่อรื่นรมย์ในการหลีก ออกเร้นอยู่

พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบริขาร คือ ยาอันเป็นปัจจัยบำบัดไข้ เพียงเพื่อกำจัดเวทนาที่เกิดแต่อาพาธต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความเป็นผู้ไม่มีอาพาธเบียดเบียน

อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใดพึงบังเกิดขึ้นแก่ผู้ไม่พิจารณาเสพปัจจัยอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ผู้พิจารณาเสพอยู่อย่างนี้

อาสวะเหล่านี้พึงละได้เพราะการพิจารณาเสพ

อาสวะที่จะพึงละได้เพราะความอดกลั้น

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วเป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว ระหาย สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เป็นผู้มีชาติของผู้อดกลั้นต่อถ้อยคำที่ผู้อื่นกล่าวชั่ว ร้ายแรงต่อเวทนาที่มีอยู่ในตัวซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว เป็นทุกข์กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่ชอบใจ อาจพล่าชีวิตเสียได้

อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ผู้ไม่อดกลั้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ผู้อดกลั้นอยู่อย่างนี้

อาสวะเหล่านี้พึงละได้เพราะความอดกลั้น

อาสวะที่จะพึงละได้เพราะความเว้นรอบ

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เว้นสัตว์ที่ดุร้าย งู หลักตอ สถานที่มีหนาม บ่อ เหว แอ่งน้ำครำ บ่อน้ำครำ เพื่อนผู้นั่ง ณ ที่มิใช่อาสนะเห็นปานใด ผู้เที่ยวไป ณ ที่มิใช่โคจรเห็นปานใด ผู้คบมิตรที่ลามกเห็นปานใด ในสถานทั้งหลายอันลามก ภิกษุนั้นพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เว้นที่มิใช่อาสนะนั้น ที่มิใช่โคจรนั้น และมิตรผู้ลามกเหล่านั้น

อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ผู้ไม่เว้นสถานหรือบุคคลอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้นผู้เว้นรอบอยู่อย่างนี้

อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่าจะพึงละได้เพราะการเว้นรอบ

อาสวะที่จะพึงละได้เพราะความบรรเทา

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ธรรมที่เป็น บาปอกุศล ที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี

ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่บรรเทาธรรมอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้บรรเทาอยู่อย่างนี้

อาสวะเหล่านี้พึงละได้เพราะความบรรเทา

อาสวะที่จะพึงละได้เพราะอบรม

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญสติสัมโพชฌงค์ เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์... เจริญวิริยสัมโพชฌงค์... เจริญปิติสัมโพชฌงค์... เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์... เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์... เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัย วิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละลง

ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงเกิดขึ้นแก่ผู้ไม่อบรมธรรมอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ผู้อบรมอยู่อย่างนี้

อาสวะเหล่านี้พึงละได้เพราะอบรม





อ่าน สัพพาสวสังวรสูตร


 

อ้างอิง
สัพพาสวสังวรสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๑๐-๑๘ หน้า ๑๑-๑๖
ลำดับที่
40

สถานที่

วิหารเชตวัน

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรมวินัย

ธรรมวินัย