เนื้อนาบุญเกิดจากการเป็นอยู่ชอบ
พระผู้มีพระภาคทรงตรวจภิกษุสงฆ์ที่นั่งนิ่งเงียบแล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
ภิกษุสงฆ์เงียบ ปราศจากเสียงสนทนา
บริสุทธิ์ ตั้งอยู่ในสาระ
เป็นบุคคลหาได้ยากที่จะเห็นในโลก
เป็นผู้ควรของคำนับ
เป็นผู้ควรของต้อนรับ
เป็นผู้ควรของทำบุญ
เป็นผู้ควรทำอัญชลี
เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า
แม้ของน้อยที่เขาให้ในภิกษุสงฆ์ ย่อมเป็นของมาก ของมากที่เขาให้ ย่อมเป็นของมากยิ่งกว่า
การไปเพื่อจะดูภิกษุสงฆ์ แม้จะนับด้วยโยชน์ ถึงจะต้องเอาเสบียงทางไป ก็ควร
ภิกษุชื่อว่าถึงความเป็นเทพ
ภิกษุสงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่สมาธิอยู่
มีอุเบกขา มีสติมีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
ภิกษุชื่อว่าถึงความเป็นพรหม
ภิกษุมีใจประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ภิกษุชื่อว่าถึงชั้นอเนญชา
ภิกษุเพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะดับสิ้นปฏิฆสัญญา เพราะไม่มนสิการถึงนานัตตสัญญา
บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน ด้วยบริกรรมว่าอากาศไม่มีที่สุด
ภิกษุเพราะล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ด้วยบริกรรมว่าวิญญาณไม่มีที่สุด
ภิกษุเพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ด้วยบริกรรมว่า อะไร ๆ ไม่มี
ภิกษุเพราะล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
ภิกษุชื่อว่าถึงความเป็นอริยะ
ภิกษุย่อมรู้ชัดตามความจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
อ่าน พระไตรปิฎก