Main navigation

ทุติยอัปปมาทสูตร

ว่าด้วย
ความไม่ประมาท สูตรที่ ๒
เหตุการณ์
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว สำหรับผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี ไม่ใช่สำหรับผู้มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีจิตน้อมไปในคนที่ชั่ว

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดีนี้ เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว

ภิกษุผู้มีมิตรดีพึงปรารถนา ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี จักเจริญอริยมรรคมีองค์แปด จักกระทำซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดให้มากได้อย่างนี้คือ 

ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสละคืน ย่อมเจริญสัมมาสังกัปปะ... ย่อมเจริญสัมมาวาจา... ย่อมเจริญสัมมากัมมันตะ... ย่อมเจริญสัมมาอาชีวะ... ย่อมเจริญสัมมาวายามะ... ย่อมเจริญสัมมาสติ... ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสละคืน

ด้วยว่าอาศัยพระผู้มีพระภาคเป็นมิตรดี สัตว์ทั้งหลายย่อมหลุดพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บป่วย ความตาย ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความเสียใจ และความคับแค้นใจได้

ธรรมอย่างหนึ่ง คือความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย ผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี พึงทรงอาศัยอยู่  

เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ประมาท หมู่นางสนมย่อมเป็นผู้ประมาท กษัตริย์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้ไม่ประมาท แม้กองทัพก็ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาท แม้ชาวนิคมก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท

เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท ก็จักเป็นผู้ได้รับคุ้มครองแล้ว ได้รับรักษาแล้ว แม้หมู่นางสนมก็จักเป็นผู้ได้รับคุ้มครองแล้ว ได้รับรักษาแล้ว แม้เรือนคลังก็จักเป็นอันได้รับคุ้มครองแล้ว ได้รับรักษาแล้ว

แล้วทรงประพันธ์คาถาต่อไปว่า

บุคคลผู้ปรารถนาโภคะอันโอฬาร
พึงบำเพ็ญความไม่ประมาท
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท
ในบุญกิริยาทั้งหลาย
บัณฑิตผู้ไม่ประมาทย่อมยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒
คือ ประโยชน์ในภพนี้ และประโยชน์ในภพหน้า
เพราะยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ ผู้มีปัญญาจึงได้นามว่า บัณฑิต



อ่าน ทุติยอัปปมาทสูตร
 

อ้างอิง
ทุติยอัปปมาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๓๘๑-๓๘๕ หน้า ๑๐๙-๑๑๑
ลำดับที่
20

สถานที่

วิหารเชตวัน

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ