ทุติยาปุตตกสูตร
เศรษฐีผู้หนึ่งในกรุงสาวัตถี ไม่มีบุตร เศรษฐีนั้นบริโภคอาหารเห็นปานนี้ คือ บริโภคปลายข้าวกับน้ำส้มพอูม ได้ใช้ผ้าเครื่องนุ่งห่มเห็นปานนี้ คือ นุ่งห่มผ้าเนื้อหยาบที่ตัดเป็นสามชิ้นเย็บติดกัน ได้ใช้ยานพาหนะเห็นปานนี้ คือ ใช้รถเก่า ๆ กั้นร่มทำด้วยใบไม้ เมื่อตายไป ทรัพย์สมบัติถูกขนเข้าพระราชวัง
บุรพกรรมของเศรษฐี
สมัยหนึ่ง เศรษฐีนั้นได้สั่งให้จัดบิณฑบาตถวายพระปัจเจกสัมพุทธะ นามว่า ตครสิขี แต่ครั้นถวายแล้ว ภายหลังได้มีวิปฏิสารว่า บิณฑบาตนี้ ทาสหรือกรรมกรพึงบริโภคยังดีกว่า และเขายังปลงชีวิตบุตรน้อยคนเดียวของพี่ชาย เพราะเหตุทรัพย์สมบัติอีก
การที่คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น สั่งให้จัดบิณฑบาตถวายพระตครสิขีปัจเจกสัมพุทธะ ด้วยวิบากของกรรมนั้น เศรษฐีจึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๗ ครั้ง ด้วยวิบากอันเป็นส่วนเหลือของกรรมนั้นเหมือนกัน ได้ครองความเป็นเศรษฐีในพระนครสาวัตถีนี้แหละถึง ๗ ครั้ง
การที่คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นถวายแล้วภายหลังได้มีวิปฏิสารว่า ทาสหรือกรรมกรพึงบริโภคบิณฑบาตนี้ยังดีกว่า ด้วยวิบากของกรรมนั้น จิตของเขาจึงไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอันโอฬาร เพื่อใช้ผ้าเครื่องนุ่งห่มอันโอฬาร เพื่อใช้ยานพาหนะอันโอฬาร เพื่อบริโภคเบญจกามคุณอันโอฬาร
การที่คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น ปลงชีวิตบุตรน้อยคนเดียวของพี่ชายเพราะเหตุทรัพย์สมบัติ ด้วยวิบากของกรรมนั้น เขาจึงถูกไฟเผาอยู่ในนรกหลายปี หลายพันปี หลายแสนปี ด้วยวิบากอันเป็นส่วนเหลือของกรรมนั้นเหมือนกัน ทรัพย์สมบัติอันไม่มีบุตรรับมรดกของเขานี้ จึงถูกขนเข้าพระคลังหลวงเป็นครั้งที่ ๗
ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณ์ภาษิตแล้ว จึงทรงประพันธ์คาถาว่า
บุคคลทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ กรรมนั้นแหละ เป็นของ ๆ เขา และเขาย่อมพาเอากรรมนั้นไป
อนึ่ง กรรมนั้นย่อมติดตามเขาไป เหมือนเงาติดตามตน ฉะนั้น
เพราะฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี สั่งสมไว้สำหรับภพหน้า บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า
อ่าน ทุติยาปุตตกสูตร