Main navigation

สุมนพุทธวงศ์ที่ ๔

ว่าด้วย
พระประวัติพระสุมนพุทธเจ้า

ในสมัยต่อมาจากพระพุทธมงคล มีพระพุทธเจ้าพระนามว่าสุมนะ ไม่มีใครเสมอเหมือนโดยธรรมทั้งปวง

พระชาติ

ทรงเป็นกษัตริย์โดยพระชาติของนครชื่อว่า เมขลนคร
พระชนกพระนามว่า สุทัตตะ
พระชนนีพระนามว่า สิริมา
พระมเหสีพระนามว่า วฏังสกี
พระราชโอรสพระนามว่า อนูปโม
มีพระสนมนารีกำนัลใน ๖,๓๐๐,๐๐๐ นาง
มีปราสาทอันประเสริฐ ๓ ปราสาท ชื่อว่า จันทะ สุจันทะ และวฏังสะ
ทรงครองเรือนอยู่ ๙,๐๐๐ ปี

ออกบวช บำเพ็ญเพียร ตรัสรู้ และประกาศธรรมจักร

พระองค์ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการแล้ว เสด็จออกผนวชด้วยพระยาคชสารยานพระที่นั่งต้น ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐ เดือนเต็ม ก็ได้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณ

เมื่อพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ เมขลนคร

ธรรมาภิสมัย ๓ วาระ

ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๑ ทรงยังเทวดาและมนุษย์ให้ตรัสรู้ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ

ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๒ ทรงแสดงธรรมตรัสสอนหมู่เดียรถีย์ เทวดาและมนุษย์ได้ตรัสรู้ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ

ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๓ เหล่าเทวดาและมนุษย์ร่วมใจกันทูลถามปัญหานิโรธ ทรงแสดงธรรมเครื่องแสดงนิโรธ ครั้งนั้น ธรรมาภิสมัยได้มีแก่เทวดาและมนุษย์ ๙๐,๐๐๐ โกฏิ

ประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง

ครั้งที่ ๑ ในวันสังฆปวารณา พระพุทธเจ้าทรงปวารณาพร้อมด้วยพระสาวก ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ

ครั้งที่ ๒ พระสาวกมาประชุมกัน ๙๐,๐๐๐ โกฏิ

ครั้งที่ ๓ ท้าวสักกเทวราชเสด็จเข้าเฝ้าเพื่อทรงเยี่ยมพระพุทธเจ้า พระสาวกมาประชุมกัน ๘๐,๐๐๐ โกฏิ

บุคคลสำคัญ

พระอัครสาวก : พระสรณเถระ และพระภาวิตัตตเถระ
พระอุปัฏฐาก : พระอุเทนเถระ
พระอัครสาวิกา : พระโสณาเถรีและพระอุปโสณาเถรี
อัครอุปัฏฐาก : วรุณอุบาสกและสรณอุบาสก
อุปัฏฐายิกา : จาลาอุบาสิกาและอุปจาลาอุบาสิกา

ไม้โพธิพฤกษ์

ต้นกากะทิง

พระชนมายุ พระวรกาย และพระรัศมี

ทรงมีพระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี
สูง ๙๐ ศอก
มีพระรัศมีเปล่งปลั่งดังทองคำ ส่องสว่างจ้าไปในหมื่นโลกธาตุ

เสด็จนิพพาน

พระสุมนพุทธเจ้าเสด็จนิพพาน ณ อังคาราม

พระสถูปของพระองค์สูง ๔ โยชน์ ประดิษฐานอยู่ ณ อังคารามนั้น

พระพุทธพยากรณ์พระโคตมพุทธเจ้า

สมัยนั้น พระพุทธเจ้าโคดมเป็นพญานาคราชมีฤทธิ์มาก ชื่อว่า อตุละ

พระองค์พร้อมด้วยหมู่ญาติออกจากนาคพิภพ เอาดนตรีทิพย์ไปบรรเลงบูชาพระสุมนพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์ ถวายข้าวน้ำให้พระสงฆ์สาวกแสนโกฏิ ถวายผ้าเฉพาะรูปละคู่ ได้เข้าถึงพระสุมนพุทธเจ้าและพระสงฆ์เป็นสรณะ

พระสุมนพุทธเจ้าทรงประทานพยากรณ์ว่า ผู้นี้จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลก

พญานาคอตุละยังจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง อธิษฐานวัตรในการบำเพ็ญบารมีให้ยิ่งขึ้นไป

 

 


อ่าน สุมนพุทธวงศ์ที่ ๔
 

 

อ้างอิง
สุมนพุทธวงศ์ที่ ๔ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๓ ข้อที่ ๕ หน้า ๓๑๖-๓๑๘
ชุดที่
ลำดับที่
7

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ