ปิยทัสสีพุทธวงศ์ที่ ๑๓
สมัยต่อมาจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าสุชาต พระสยัมภูพระนามว่า ปิยทัสสี มียศมาก
พระชาติ
ทรงเป็นกษัตริย์โดยพระชาติของนครชื่อว่า สุธัญญะ
พระชนกพระนามว่า สุทัตตะ
พระชนนีพระนามว่า พระนางสุจันทา
พระมเหสีพระนามว่า วิมลา
พระราชโอรสพระนามว่า กัญจนาเวฬะ
มีพระสนมนารีกำนัลใน ๓๓,๐๐๐ นาง
มีปราสาทอันประเสริฐ ๓ ปราสาท ชื่อ สุนิมมิละ วิมละ และคิริคุหา
ทรงครองเรือนอยู่ ๙,๐๐๐ ปี
ออกบวช บำเพ็ญเพียร ตรัสรู้ และประกาศธรรมจักร
พระองค์ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการแล้ว เสด็จออกผนวชด้วยราชรถ ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๖ เดือนเต็ม ก็ได้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณ
พรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศธรรมจักร ณ อุสภอุทยาน
ธรรมาภิสมัย ๓ วาระ
ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๑ ทรงประกาศพระธรรมจักร ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๒ ทรงแสดงธรรมบรรเทามิจฉาทิฏฐิของท้าวสุทัสนเทวราช มหาชนมาประชุมสันนิบาตกันมากมาย ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๙,๐๐๐ โกฏิ
ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๓ ทรงแสดงธรรมปราบช้างโทนมุข ธรรมาภิสมัยได้มีแก่ สัตว์ ๘๐,๐๐๐ โกฏิ
ประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ พระภิกษุขีณาสพมาประชุมกัน ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
ครั้งที่ ๒ พระภิกษุขีณาสพมาประชุมกัน ๙๐ โกฏิ
ครั้งที่ ๓ พระภิกษุขีณาสพมาประชุมกัน ๘๐ โกฏิ
บุคคลสำคัญ
พระอัครสาวก : พระปาลิตเถระและพระสรรพทัสสีเถระ
พระอุปัฏฐาก : พระโสภิตะเถระ
พระอัครสาวิกา : พระสุชาตาเถรีและพระธรรมทินนาเถรี
อัครอุปัฏฐาก : สันทกอุบาสกและธรรมิกอุบาสก
อุปัฏฐายิกา : วิสาขาอุบาสิกาและธรรมทินนาอุบาสิกา
ไม้โพธิพฤกษ์
ต้นกุ่ม
พระชนมายุ พระวรกาย และพระรัศมี
ทรงมีพระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี
สูง ๘๐ ศอก
ปรากฏดังพญารัง
รัศมีของพระองค์นั้นแสงไฟ รัศมีพระจันทร์ และพระอาทิตย์ ไม่เปรียบปานเลย
เสด็จนิพพาน
พระปิยทัสสีพุทธเจ้าเสด็จนิพพาน ณ อัสสัตถาราม
พระสถูปของพระองค์สูง ๓ โยชน์ ประดิษฐาน ณ อัสสัตถาราม
พระพุทธพยากรณ์พระโคตมพุทธเจ้า
สมัยนั้น พระพุทธเจ้าโคดมเป็นมาณพชื่อว่า กัสสปะ เป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท
ได้ฟังธรรมของพระปิยทัสสีพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใส ได้บริจาคทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ สร้างสังฆารามถวาย ครั้นถวายอารามแล้ว มีใจยินดีโสมนัส ได้สมาทานสรณะและเบญจศีล
พระปิยทัสสีพุทธเจ้าทรงประทานพยากรณ์แก่มาณพนั้นว่า ในพันแปดร้อยกัป ผู้นี้จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลก
เมื่อได้ฟังพระพุทธพยากรณ์แม้นั้นแล้ว ก็ยังจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้อธิษฐานวัตรในการบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการให้ยิ่งขึ้นไป