ธรรมทัสสีพุทธวงศ์ที่ ๑๕
ในมัณฑกัปนั้น มีพระพุทธเจ้าผู้มียศมากพระนามว่า ธรรมทัสสี ทรงกำจัดความมืดตื้อ ทรงรุ่งเรืองอย่างยิ่งในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
พระชาติ
ทรงเป็นกษัตริย์โดยพระชาติของนครชื่อว่า สรณะ
พระชนกพระนามว่า สรณะ
พระชนนีพระนามว่า พระนางสุนันทา
พระมเหสีพระนามว่า วิจิโกลี
พระราชโอรสพระนามว่า ปุญญวัฑฒนะ
มีพระสนมนารีกำนัลใน ๔๐,๐๐๐ นาง
มีปราสาทอันประเสริฐ ๓ ปราสาท ชื่อ อรชะ วิรชะ และสุทัสนะ
ทรงครองเรือนอยู่ ๘,๐๐๐ ปี
ออกบวช บำเพ็ญเพียร ตรัสรู้ และประกาศธรรมจักร
พระองค์ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการแล้ว เสด็จออกผนวชด้วยปราสาท ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๗ วัน ก็ได้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณ
พรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศธรรมจักร ณ มฤคทายวัน
ธรรมาภิสมัย ๓ วาระ
ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๑ ทรงประกาศพระธรรมจักร ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๒ ทรงแสดงธรรมแนะนำสญชัยฤาษี ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๙๐ โกฏิ
ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๓ ทรงแสดงพระธรรมแก่ท้าวสักกะพร้อมด้วยบริษัทในคราวเสด็จเข้าเฝ้าพระองค์ ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๘๐ โกฏิ
ประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ทรงจำพรรษา ณ สมณนคร พระภิกษุขีณาสพมาประชุมกัน ๑,๐๐๐ โกฏิ
ครั้งที่ ๒ ทรงเสด็จจากเทวโลกมายังมนุษยโลก พระภิกษุขีณาสพมาประชุมกัน ๑๐๐โกฏิ
ครั้งที่ ๓ ทรงประกาศธุดงคคุณ พระภิกษุขีณาสพมาประชุมกัน ๘๐ โกฏิ
บุคคลสำคัญ
พระอัครสาวก : พระปทุมเถระและพระปุสสเทวเถระ
พระอุปัฏฐาก : พระสุทัตตะเถระ
พระอัครสาวิกา : พระเขมาเถรีและพระสัจจนามาเถรี
อัครอุปัฏฐาก : ภัททอุบาสกและกฏิสสหอุบาสก
อุปัฏฐายิกา : สาฬิสาอุบาสิกาและกฬิสสาอุบาสิกา
ไม้โพธิพฤกษ์
ติมพชาละ (มะพลับ)
พระชนมายุ พระวรกาย และพระรัศมี
ทรงมีพระชนมายุ ๑๐๐,๐๐๐ ปี
สูง ๘๐ ศอก
ทรงมีพระเดชรุ่งเรืองอย่างยิ่ง แผ่ไปในหมื่นธาตุ งามสง่าดังพญารังมีดอกบาน เหมือนสายฟ้าในอากาศ ดุจพระอาทิตย์ในเวลาเที่ยง
เสด็จนิพพาน
พระธรรมทัสสีพุทธเจ้าเสด็จนิพพาน ณ เกสาราม
พระสถูปของพระองค์ สูง ๓ โยชน์
พระพุทธพยากรณ์พระโคตมพุทธเจ้า
สมัยนั้น พระพุทธเจ้าโคดมเป็นท้าวปุรินททสักกเทวราช
ได้บูชาพระธรรมทัสสีพุทธเจ้าด้วยของหอม มาลา และดนตรีทิพย์
พระธรรมทัสสีพุทธเจ้าทรงประทานพยากรณ์แก่ท้าวปุรินททสักกเทวราชว่า ใน ๑,๘๐๐ กัป ผู้นี้จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลก
เมื่อได้ฟังพระพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว ก็ยังจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้อธิษฐานวัตรในการบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการยิ่งขึ้นไป