วิปัสสีพุทธวงศ์ที่ ๑๙
ในกัปต่อมาจากพระปุสสพุทธเจ้า มีพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี เสด็จอุบัติขึ้นในโลก
พระชาติ
ทรงเป็นกษัตริย์โดยพระชาติของนครชื่อว่า พันธุมดี
พระชนกพระนามว่า พันธุมะ
พระชนนีพระนามว่า พระนางพันธุมดี
พระมเหสีพระนามว่า สุทัสนา
พระราชโอรสพระนามว่า สมวัตตขันธ์
มีพระสนมนารีกำนัลใน ๔๓,๐๐๐ นาง
มีปราสาทอันประเสริฐ ๓ ปราสาท ชื่อ นันทะ สุนันทะ และสิริมา
ทรงครองเรือนอยู่ ๘,๐๐๐ ปี
ออกบวช บำเพ็ญเพียร ตรัสรู้ และประกาศธรรมจักร
พระองค์ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการแล้ว เสด็จออกผนวชด้วยราชรถพระที่นั่ง ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๘ เดือนเต็ม ก็ได้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณ
พรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศธรรมจักร ณ มฤคทายวัน
ธรรมาภิสมัย ๓ วาระ
ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๑ ทรงเสด็จไปยังพระนครพันธุมดี เพื่อทรงประกาศพระธรรมจักรให้เทวดาและมนุษย์ได้ตรัสรู้ ธรรมาภิสมัยครั้งนี้จะพึงกล่าวด้วยการนับมิได้
ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๒ ทรงประกาศจตุราริยสัจในพระนครพันธุมดี ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๘๔,๐๐๐
ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๓ ทรงแสดงธรรมตามอุปนิสัยแก่ผู้ออกบวชตามพระองค์ ธรรมาภิสมัยได้มีแก่มนุษย์ ๘๔,๐๐๐ นั้น
ประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ พระภิกษุขีณาสพมาประชุมกัน ๖ โกฏิ ๘๐๐,๐๐๐
ครั้งที่ ๒ พระภิกษุขีณาสพมาประชุมกัน ๑๐๐,๐๐๐
ครั้งที่ ๓ พระภิกษุขีณาสพมาประชุมกัน ๘๐,๐๐๐
บุคคลสำคัญ
พระอัครสาวก : พระขันธเถระและพระติสสนามเถระ
พระอุปัฏฐาก : พระอโสกเถระ
พระอัครสาวิกา : พระจันทาเถรีและพระจันทมิตตาเถรี
อัครอุปัฏฐาก : ปุนัพพสุมิตตอุบาสกและนาคอุบาสก
อุปัฏฐายิกา : สิริมาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกา
ไม้โพธิพฤกษ์
ไม้แคฝอย
พระชนมายุ พระวรกาย และพระรัศมี
ทรงมีพระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี
สูง ๘๐ ศอก
พระรัศมีเปล่งปลั่ง แผ่ไป ๗ โยชน์โดยรอบ
เสด็จนิพพาน
พระวิปัสสีพุทธเจ้าเสด็จนิพพาน ณ สุมิตตาราม
พระสถูปของพระองค์สูง ๗ โยชน์ ประดิษฐานอยู่ ณ สุมิตตาราม
พระพุทธพยากรณ์พระโคตมพุทธเจ้า
สมัยนั้น พระพุทธเจ้าโคดมเป็นพระยานาคราช มีฤทธิ์มาก มีบุญ ทรงความรุ่งเรือง ชื่อว่า อตุละ
พระยานาคอตุละแวดล้อมด้วยนาคหลายโกฏิ เข้าไปเฝ้าพระวิปัสสีพุทธเจ้า ประโคมดนตรีทิพย์ถวาย และทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า ได้ถวายตั่งทองอันวิจิตรด้วยแก้วมณีและแก้วมุกดา ประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวงแก่พระพุทธเจ้า
พระวิปัสสีพุทธเจ้า ทรงประทานพยากรณ์แก่พระยานาคนั้นว่า ในกัปที่ ๙๑ แต่กัปนี้ ผู้นี้จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลก
เมื่อได้ฟังพระพุทธพยากรณ์แม้นั้นแล้ว ยังจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้อธิษฐานวัตรในการบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการให้ยิ่งขึ้นไป